ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยชิ้นใหม่ที่พบว่า รายงานปริมาณการนำเข้าและส่งออกสินค้าของผู้ประกอบการจีนและสหรัฐฯ ในปี 2020 ไม่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน คือ ในขณะที่บริษัทส่งออกของจีนรายงานว่าสามารถขายสินค้าให้กับสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น แต่จำนวนสินค้าที่เพิ่มขึ้นกลับไม่ตรงกับจำนวนที่บริษัทนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ รายงานว่าซื้อจากจีน แสดงให้เห็นว่าบริษัทส่งออกจีนและบริษัทนำเข้าในสหรัฐฯ ต่างจงใจบิดเบือนข้อมูลเพื่อหลีกเลี่ยงนโยบายกำแพงภาษีของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์
โดยนักเศรษฐศาสต์ของ Fed ชี้แจงว่า ตามนโยบายกำแพงภาษี บริษัทสัญชาติอเมริกันสามารถจ่ายภาษีได้น้อยกว่า หากว่ารายงานมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีนให้ต่ำกว่าความเป็นจริง ขณะที่บริษัทส่งออกจีนสามารถได้รับเงินภาษีคืนเพิ่มมากขึ้น หากรายงานว่าปริมาณส่งออกสินค้ามายังสหรัฐฯ มากกว่าที่ส่งออกไปจริงๆ ได้
ทั้งนี้ ตามปกติแล้วมูลค่าของสินค้านำเข้าตัวหนึ่งเมื่อเข้ามาถึงประเทศปลายทางควรจะมีราคาสูงกว่ามูลค่าของสินค้าที่อยู่ในประเทศต้นทาง เนื่องจากราคาสินค้านำเข้าต้องบวกค่าขนส่งและค่าประกัน ในขณะที่สินค้าส่งออกไม่ต้อง
ดังนั้น การนำเข้าส่งออกระหว่างสหรัฐฯ กับจีนตามปกติจึงควรเป็นรูปการณ์ที่การนำเข้าสินค้าจากจีนของสหรัฐฯ มีมูลค่ามากกว่าการส่งออกของจีนมายังสหรัฐฯ เสมอ อย่างไรก็ตาม รูปแบบปกตินี้เกิดขึ้นกับการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จนถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2020 เท่านั้น เพราะหลังจากเดือนมีนาคมเป็นต้นไป รูปแบบดังกล่าวกลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม คือ สินค้าส่งออกของจีนมายังสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงกว่าสินค้านำเข้าจากจีนของบริษัทสหรัฐฯ เกือบทุกเดือนที่เหลือของปี 2020
รายงานของ Fed ระบุชัดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการสะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากในการมุ่งมั่นเอาชนะสงครามทางการค้าด้วยนโยบายกีดกันทางเศรษฐกิจ เช่น กำแพงภาษี ซึ่งต่างจากคำยืนยันของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ที่มักจะย้ำว่าชัยชนะสงครามการค้าเป็นเรื่องง่าย
นอกจากนี้ ตัวเลขข้อมูลนำเข้าส่งออกที่บิดเบือนดังกล่าวยังโต้แย้งกับข้ออ้างของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดที่แล้วที่กล่าวว่า นโยบายกำแพงภาษีเป็นการปรับสมดุลของพื้นฐานความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลก หลังจากที่สหรัฐฯ ต้องทนกับการขาดดุลอย่างมากมาเป็นเวลานาน
ขณะเดียวกัน การจงใจบิดเบือนรายงานข้อมูลของบริษัทสหรัฐฯ กับจีน ยังสามารถอธิบายถึงสาเหตุที่การขาดดุลการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจึงหดตัวลงอย่างมาก นับตั้งแต่ที่ทั้งสองฝ่ายเริ่มบังคับใช้นโยบายกำแพงภาษีต่อกันในปี 2018
ฮันเตอร์ คลาร์ก และ แอนนา หว่อง สองนักเศรษฐศาสตร์ของ Fed คำนวณว่าดุลการค้าในปี 2020 ของสหรัฐฯ มีขนาดเล็กลงราว 8.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐจากปี 2017 โดยมูลค่าที่หายไปดังกล่าวราว 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลจากการที่บริษัทหาทางหลีกเลี่ยงนโยบายกำแพงภาษีของรัฐบาล ขณะที่อีกราว 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ มาจากการจงใจบิดเบือนข้อมูลรายงานเพื่อให้ได้เงินภาษีคืนของบริษัทจีน และส่วนที่เหลืออีกราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นส่วนที่ไม่มีการอธิบายใดๆ
รายงานของ Fed ระบุว่า สงครามการค้ามีผลกระทบต่อดุลการค้าระดับทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เมื่อดูข้อมูลจากฝั่งสหรัฐฯ และการรายงานการนำเข้าของสหรัฐฯ ที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ยังหมายถึงการที่รัฐบาลสูญเสียเงินภาษีราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายงานของ Fed ในครั้งนี้ยังมีขึ้นวันเดียวกันกับที่ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ขึ้นชี้แจงต่อสภาคองเกรส กรณีการเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยมีใจความสำคัญอยู่ที่การขอขยับปรับขึ้นเพดานหนี้ของรัฐบาล
ทั้งนี้ เยลเลนกล่าวชัดเจนว่า การที่สหรัฐฯ ไม่อาจขึ้นเพดานหนี้ได้ทันเวลา จะก่อให้เกิดผลลัพธ์เสียหายเข้าขั้นหายนะถึงขั้นเกิดวิกฤตทางการเงินอีกครั้ง และเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทางสภาคองเกรสต้องพิจารณาตัดสินใจได้แล้ว หลังจากที่ผัดผ่อนมาตลอดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการระงับเพดานหนี้ปัจจุบันของสหรัฐฯ จะหมดอายุลงในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ ที่วงเงินจะกลับมามีผลบังคับใช้ในระดับหนี้ ณ ขณะนั้น
ปัจจุบันเพดานหนี้ของสหรัฐฯ คงอยู่ที่ 28.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมูลค่าดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาคองเกรสต้องอนุมัติเงินหลายล้านล้านดอลลาร์เพื่อต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจถดถอย อันเป็นผลมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: