×

Fed เริ่มลดดอกเบี้ย แล้วตราสารหนี้ปี 2025 ยังน่าลงทุนหรือไม่

13.11.2024
  • LOADING...
Fed ดอกเบี้ย

ภายหลังจากการแพร่ระบาดของโควิดที่ก่อให้วิกฤตทางเศรษฐกิจ อันนำมาซึ่งการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนกระทั่งในปีปัจจุบันที่สถานการณ์ดังกล่าวเริ่มคลี่คลาย อัตราดอกเบี้ยในระดับที่สูงเริ่มส่งผลกระทบกับต้นทุนทางเศรษฐกิจ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อได้ปรับลงมาค่อนข้างมากแล้ว ทำให้หลายๆ ประเทศเริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างเช่น ธนาคารกลางประเทศแคนาดา สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงถึง 0.75% ธนาคารกลางของประเทศจีนหรือแม้แต่ธนาคารกลางของกลุ่มสหภาพยุโรปก็ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% และล่าสุดธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาก็ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือ Fed Funds Rate (FFR) ลง 0.50% จากระดับสูงสุด 5.25-5.50% ต่อปีเป็น 4.75-5.00% ต่อปี รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยที่ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเช่นกัน โดยปรับลด 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยไทยจาก 2.50% มาอยู่ที่ระดับ 2.25% เช่นกัน ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า ภายใต้สถานการณ์ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเช่นนี้ ตราสารหนี้ในปี 2025 จะเป็นอย่างไรต่อไป และยังคงน่าลงทุนอยู่หรือไม่ 

 

หากพิจารณาภาพรวมทางเศรษฐกิจ โดยอ้างอิงจากการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจโลกของ IMF ล่าสุด ที่ได้คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2024F ไว้ที่ 3.2%YoY และปรับคาดการณ์ปี 2025F ลงเป็น 3.2% จะเห็นว่าชะลอตัวลงจากประมาณการไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2024 ที่ 3.3% โดย IMF มองว่าเศรษฐกิจโลกยังไม่แข็งแรง และการเติบโตยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 3.8% (ค่าเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2000-2019) 

 

ส่วนอัตราเงินเฟ้อนั้น คาดว่าเงินเฟ้อโลกจะปรับลดลงจาก 6.7% ในปี 2023 เป็น 5.8% ในปี 2024F และลดลงไปที่ระดับ 4.3% ในปี 2025F ซึ่งจะเห็นว่าสภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังดูเติบโตแบบเปราะบางแต่ไม่ถึงขั้นถดถอย อัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงนี้เองที่เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธนาคารกลางแต่ละประเทศยังคงปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยที่คาดว่ายังมีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อได้เช่นกัน ซึ่งสำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยนั้น หากอ้างอิงจากคาดการณ์อัตราการเติบโตของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว GDP ของไทยจะอยู่ที่ 2.7% ในปี 2024 และ 2.9% สำหรับปี 2025 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มอยู่ระดับต่ำไม่ถึง 1% (0.5% ในปี 2024 และ 0.9% ในปี 2025) ถึงแม้เศรษฐกิจยังคงเติบโต แต่ภาพของหนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น การเติบโตของสินเชื่อ หรือ Loan Growth ที่ชะลอตัวลง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบการประชุมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา และคาดว่าอาจเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอนาคตด้วย นอกจากนี้การที่เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าระดับศักยภาพ (3%) หลายปีติดต่อกัน อีกทั้งเติบโตต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน น่าจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปีหน้าได้ 

 

สำหรับ ‘การลงทุนตราสารหนี้’ แม้ว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะเริ่มปรับลด การลงทุนในระยะสั้นที่เป็นการลงทุนใหม่หรือการ Reinvest อาจทำให้ได้ผลตอบแทนที่ต่ำลง แต่สำหรับกองทุนตราสารหนี้ระยะยาวยังมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่ดีได้ เนื่องจากผู้จัดการกองทุนสามารถยืดอายุเฉลี่ยตราสารที่ลงทุน (Duration) ให้ยาวขึ้น เพื่อสร้างโอกาสการรับผลตอบแทนที่ดี ทั้งในส่วนของผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่สูงผ่านการลงทุนในตราสารที่อายุยาว และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนส่วนที่เพิ่มขึ้นจากการบันทึกราคาตลาดที่เพิ่มขึ้น ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวลดลง รวมถึงการแบ่งสัดส่วนเงินลงทุนบางส่วนลงทุนในตราสารหนี้เอกชนคุณภาพดีที่ได้รับการจัดอันดับ Credit Rating ที่สูงยังก็สามารถเพิ่มโอกาสของผลตอบแทนจากการลงทุนได้

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดตราสารหนี้ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลักที่นักลงทุนยังต้องระวังคือ 

 

  1. การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ภายใต้ผู้นำคนใหม่ เช่น การขึ้นภาษีทางการค้าระหว่างประเทศ หรือการกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจอีกรอบ อาจนำพาให้อัตราเงินเฟ้อกลับขึ้นไปได้ ซึ่งจะส่งผลให้การลดอัตราดอกเบี้ยนั้นช้าลง 
  2. ภาวะความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ยังคงยืดเยื้อก็เป็นปัจจัยที่อาจนำพาให้อัตราเงินเฟ้อกลับขึ้นไป และจะส่งผลให้ตลาดมีความผันผวนได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผลกระทบต่อราคาน้ำมันยังค่อนข้างจำกัดจากกำลังการผลิตส่วนเกิน (Spare Capacity) ของ OPEC ที่มีอยู่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบีย ทำให้ผลกระทบต่อการผลิตที่อาจเกิดขึ้นยังสามารถชดเชยได้ 
  3. การนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้บริษัทเอกชนที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield Bond) ก็ดูจะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น จากภาวะการเงินที่เริ่มตึงตัว

 

สุดท้ายแล้วแม้ว่าการลงทุนในตราสารหนี้ปี 2025 มีแนวโน้มที่จะได้ผลตอบแทนที่ลดลงและมีความเสี่ยงอยู่บ้าง แต่การลงทุนในตราสารหนี้ก็ยังเป็นทางเลือกของการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่นในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวหรือมีความผันผวนสูง ตราสารหนี้ก็ยังคงเป็นสินทรัพย์ที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีและลดความเสี่ยงให้กับนักลงทุนได้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X