×

ตลาดจับตา ‘Fed’ ขยับดอกเบี้ย หวั่นใช้ยาแรงสกัดเงินเฟ้อทำเศรษฐกิจถดถอย

03.05.2022
  • LOADING...
Fed

นักลงทุนทั่วโลกต่างตั้งตารอผลการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่จะมีขึ้นในรอบสัปดาห์นี้ โดยส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า Fed น่าจะลงมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.5% พร้อมคุมเข้มนโยบายการเงินให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น เพื่อดึงรั้งให้อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปี ปรับตัวลดลง หรืออย่างน้อยที่สุดก็ชะลออัตราการเติบโตของเงินเฟ้อให้ช้าลง

 

ความเป็นไปได้ท่ามกลางโจทย์ท้าทายที่ Fed ต้องจัดการสกัดเงินเฟ้อ ควบคู่ไปกับการประคับประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้สามารถฟื้นตัวเติบโตต่อไปได้ กลายเป็นประเด็นที่นักลงทุนในตลาดแทบทั้งหมดให้ความสำคัญอยู่ในเวลานี้ โดยมีกลุ่มนักลงทุนส่วนหนึ่งที่แสดงความวิตกกังวลว่า ท่าทีที่แข็งกร้าวของ Fed ในการจัดการกับเงินเฟ้อด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จนกระทั่งก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอย

 

โรเจอร์ เฟอร์กูสัน อดีตรองประธาน Fed แสดงความเห็นระหว่างการให้สัมภาษณ์กับทางสถานีโทรทัศน์ CNBC ว่า สถานการณ์ในปัจจุบันที่บีบให้ Fed จำเป็นต้องใช้มาตรการที่ค่อนข้างรุนแรงจัดการกับเงินเฟ้อ ทำให้สหรัฐฯ ยากที่จะหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้พ้น ซึ่งเจ้าตัวคาดการณ์ว่าสหรัฐฯ จะเผชิญกับภาวะถดถอยในปี 2023 และหวังว่าภาวะถดถอยที่เกิดขึ้นจะไม่อยู่ในระดับที่รุนแรงจนเกินไปนัก

 

ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของ Fed ในวันพุธที่ 3 มีนาคม ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐฯ นักวิเคราะห์หลายสำนักเชื่อมั่นว่า Fed จะเดินหน้าประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเป็นทางการที่ 0.5% ตามที่ได้มีการคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2000

 

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญยังคาดการณ์แนวโน้มท่าทีของ Fed ที่น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.5% ในการประชุม Fed ครั้งต่อไปในเดือนมิถุนายน และปรับขึ้นอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม โดยบรรดานักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า Fed จะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ ในช่วงที่เหลือของปีนี้

 

ยิ่งไปกว่านั้น เป็นที่คาดการณ์ว่า Fed น่าจะประกาศเริ่มลดปริมาณการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลจำนวนมหาศาลตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ซึ่งจะยิ่งทำให้สถาบันการเงินและธนาคารทั้งหลายเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ

 

ทั้งนี้ แนวโน้มที่ Fed จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเรื่อยๆ บวกกับการหันมาใช้นโยบายการเงินที่รัดกุมเข้มงวด ทำให้นักวิเคราะห์และนักลงทุนในตลาดหวั่นเกรงว่าการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากเกินไปจะขัดขวางการขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังคงเปราะบางอยู่มากในเวลานี้

 

ล่าสุด รายงานตัวเลขเกี่ยวกับกิจกรรมโรงงานในสหรัฐฯ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่ามีการขยายตัวช้าที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี ท่ามกลางจำนวนคนงานที่ลาออกจากงานมากขึ้นเรื่อยๆ และผู้ผลิตต่างกังวลเกี่ยวกับอุปทานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการล็อกดาวน์ในประเทศจีน

 

โดยการสำรวจของ Institute for Supply Management (ISM) อธิบายว่า ภาคการผลิตยังคงอยู่ ‘ในสภาพแวดล้อมที่มีข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทาน’

 

ทั้งนี้ ดัชนี ISM ซึ่งบอกภาพรวมกิจกรรมโรงงานสหรัฐฯ เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาลดลงเหลือ 55.4 ทำสถิติแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2020 และลดลงจาก 57.1 ในเดือนมีนาคม โดยค่าที่สูงกว่า 50 บ่งชี้ถึงการขยายตัวในภาคการผลิต ซึ่งคิดเป็น 12% ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X