×

ตามคาด! ‘Fed’ ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย มี.ค. นี้ ยืนยันเดินหน้ายุติมาตรการ QE ก่อนลดขนาดงบดุล

27.01.2022
  • LOADING...
Fed

มติที่ประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้ โดยที่ประชุมระบุว่า Fed พร้อมที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตามที่ได้ลั่นวาจาไว้ ซึ่งแม้จะไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน แต่เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่ Fed เคยเปิดเผยออกมา ทำให้มั่นใจว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะมีขึ้นในเดือนมีนาคมปีนี้อย่างแน่นอน

 

ขณะเดียวกัน Fed ยังใช้โอกาสนี้ยืนยืนว่า Fed ยังพร้อมเดินหน้าลดปริมาณการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลรายเดือน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (QE) ซึ่งน่าจะยุติได้อย่างเบ็ดเสร็จภายในเดือนมีนาคมเช่นเดียวกัน

 

ทั้งนี้ การประชุมประจำเดือนที่กินระยะเวลา 2 วัน ซึ่งนอกจากจะส่งสัญญาณทิศทางการทำงานของ Fed แล้ว ยังสะท้อนถึงจุดยืนการดำเนินงานของ Fed ที่มุ่งผ่อนคลายนโนบายการเงินในระหว่างที่ประเทศกำลังฟื้นฟูจากวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด ควบคู่ไปกับการพยายามเร่งจัดการภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างเร่งด่วน

 

แถลงการณ์ระบุว่า เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเหนือระดับ 2% และตลาดแรงงานอยู่ในภาวะที่แข็งแกร่ง ดังนั้น Fed จึงคาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศคือสิ่งที่สมควรกระทำอย่างยิ่ง โดยเป้าหมายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นในไม่ช้า

 

อย่างไรก็ตาม ในเดือนมกราคมที่ประชุม FOMC มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระดับ 0.00-0.25%

 

ขณะเดียวกันสมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงินของ Fed ยังเห็นพ้องต้องกันต่อการเดินหน้าลด ‘การถือครองสินทรัพย์ครั้งใหญ่’ ด้วยการจำกัดตัวเลขเงินต้นของพันธบัตรที่กำลังจะหมดอายุและจะต่ออายุใหม่ในแต่ละเดือน

 

โดยแถลงการณ์ระบุชัดว่าทาง Fed จะยังคงปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จำนวน 30,000 ล้านดอลลาร์ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะส่งผลให้การทำ QE ของ Fed สิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม พร้อมกับการเริ่มต้นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนดังกล่าวเช่นกัน

 

ทั้งนี้ Fed เชื่อมั่นว่า การเพิ่มขึ้นของตัวเลขการว่าจ้างงาน แม้ยังอยู่ในช่วงที่การระบาดของโอมิครอนจะทำให้ตัวเลขผู้ป่วยรายวันเพิ่มสูงแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่องก็ตาม รวมทั้งความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทานโลก น่าจะช่วยผ่อนคลายแรงกดดันเงินเฟ้อได้

 

อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ของ Fed ครั้งนี้ไม่ได้ระบุว่า Fed จะเริ่มปรับลดขนาดงบดุลที่ปัจจุบันขยับพุ่งขึ้นเกือบ 9 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อใด โดยระบุเพียงแค่ว่ากระบวนการปรับลดขนาดงบดุลจะเริ่มขึ้นหลังจากที่มีการเริ่มกระบวนการปรับขึ้นเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นแล้ว

 

ทั้งนี้การะชุมครั้งนี้ถือเป็นการประชุมครั้งแรกของปี 2022 Fed จะประชุมกำหนดนโยบายการเงินอีกครั้งในวันที่ 15-16 มีนาคม โดยไม่มีการประชุมในเดือนกุมภาพันธ์แต่อย่างใด

 

สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานอ้างอิงข้อมูลจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักมากกว่า 95% ที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนมีนาคม พร้อมกับคาดว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งภายในปีนี้

 

ขณะเดียวกัน ทางด้านเจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ที่กำลังจะเริ่มงานวาระที่สองในตำแหน่งประธาน Fed เหมือนเคย ได้กล่าวระหว่างการแถลงข่าวภายหลังการประชุมว่า Fed เปิดกว้างและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน เพื่อไม่ให้ภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงนี้กลายมาเป็นสถานการณ์ยืดยาวที่คงอยู่ตลอดไป แต่ย้ำว่าในเวลานี้ยังไม่มีการตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินโนบายดังกล่าว

 

ด้านสำนักข่าว AP ยังได้รายงานความเคลื่อนไหวของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่เปิดทำเนียบขาวต้อนรับเหล่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น General Motors, Ford, Microsoft, Etsy, Salesforce และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ ใช้โอกาสนี้ยืนยันทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของตนว่าจะมุ่งเน้นความยั่งยืนเป็นหลัก ดังนั้นจึงต้องให้เอกชนช่วยแบกรับภาระร่วมกับรัฐในเรื่องของการจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อลดปัญหาโลกร้อน การสร้างโรงงานผลิตต่างๆ เพื่อเพิ่มการจ้างงาน และการดูแลเด็กเพื่อยกระดับระบบรัฐสวัสดิการ ซึ่งแนวทางทั้งหมดอยู่ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ Build Back Better ของประธานาธิบดีไบเดนแล้ว

 

รายงานระบุว่า บรรดาซีอีโอของบริษัทชั้นนำแสดงจุดยืนสนับสนุนทิศทางและแผนการฟื้นฟูสหรัฐฯ ของผู้นำประเทศ พร้อมให้คำมั่นที่จะเดินหน้าออกมาตรการสอดคล้องกับแนวทางของไบเดน รวมถึงแสดงความพร้อมที่จะจ่ายภาษี เพื่อให้รัฐมีรายได้ในการดำเนินการตามแผนการ

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X