เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจต้องใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ หลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ออกมาสูงเกินคาดหลายต่อหลายครั้ง นับเป็นการเปลี่ยนแปลงท่าทีที่ชัดเจนหลังการประชุม FOMC ครั้งก่อน
โดยพาวเวลล์ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อยัง ‘ขาดความคืบหน้าเพิ่มเติม’ (Lack of Additional Progress) หลังจากการลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยตั้งข้อสังเกตว่าอาจต้องใช้เวลามากขึ้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่เชื่อมั่นว่าอัตราเงินเฟ้อจะมุ่งไปสู่เป้าหมาย 2% ของ Fed ก่อนที่จะตัดสินใจลดดอกเบี้ย
“หากแรงกดดันด้านราคายังคงมีอยู่ Fed สามารถคงอัตราดอกเบี้ยไว้ได้นานเท่าที่จำเป็น
“ข้อมูลล่าสุดไม่ได้ทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้นอย่างชัดเจน แต่กลับบ่งชี้ว่า มีแนวโน้มว่าจะใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้ในการบรรลุความเชื่อมั่นนั้น” พาวเวลล์กล่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐฯ) ในการอภิปรายร่วมกับ ทิฟ แม็กเลม ผู้ว่าการธนาคารแห่งแคนาดา ที่ศูนย์วิลสัน ในวอชิงตัน
“ด้วยความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานและความก้าวหน้าของอัตราเงินเฟ้อจนถึงขณะนี้ จึงมีความเหมาะสมที่จะให้เวลานโยบายที่เข้มงวดในการทำงานต่อไป และปล่อยให้ข้อมูลและแนวโน้มการพัฒนาเป็นแนวทางให้เรา” พาวเวลล์กล่าว
คำพูดของพาวเวลล์แสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ Fed มีความเห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมีความเร่งด่วนเพียงเล็กน้อย นับเป็นการเปลี่ยนแปลงท่าทีหลังจากในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) และ Dot Plot ที่เผยแพร่เมื่อเดือนที่แล้ว ยังคาดว่าจะเกิดการลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้
“ความเชื่อมั่นของพวกเขาสั่นคลอน” เคธี โบสต์ยานซิค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Nationwide Mutual Insurance Co. กล่าว “เขายืนยันและเน้นย้ำถึงสิ่งที่ตลาดคาดไว้อยู่แล้วจากการพิจารณาจากข้อมูลทางเศรษฐกิจ”
โดยหลังจากที่พาวเวลล์ส่งสัญญาณว่า Fed ไม่รีบร้อนที่จะลดอัตราดอกเบี้ย อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Treasury Yields) แตะระดับสูงสุดของปีนี้ โดยรุ่นอายุ 2 ปีทะลุ 5% ในช่วงสั้นๆ และแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสร้างความประหลาดใจให้กับเจ้าหน้าที่ของ Fed ด้วยความสามารถในการฟื้นตัว สะท้อนว่าอาจเกิดภาวะ No Landing หลังจำนวนการจ้างงานเพิ่มมากกว่า 3 แสนตำแหน่งในเดือนมีนาคม ซึ่งมากที่สุดในรอบเกือบ 1 ปี และยอดค้าปลีกก็เกินความคาดหมาย ความแข็งแกร่งดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกับแรงกดดันด้านราคาที่เพิ่มขึ้นในปีนี้
อ้างอิง: