สถานีโทรทัศน์ CNN เปิดเผยรายงานที่รวบรวมความคิดเห็นจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์หลายสำนักที่ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการจัดการเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) โดยแม้จะไม่มีใครคาดหวังว่า แนวทางของ Fed จะสามารถยับยั้งเงินเฟ้อได้อย่างรวดเร็ว แต่หลังจาก 7 เดือนที่ Fed เดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วและแรง สถานการณ์โดยรวมในขณะนี้ก็ไม่ได้สร้างความได้เปรียบใดๆ ให้กับ Fed
ตรงกันข้าม สถานการณ์โดยรวมกลับชี้ไปว่า Fed มีแนวโน้มที่จะพ่ายแพ้ในสงครามต่อต้านเงินเฟ้อในครั้งนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ซีอีโอ JPMorgan เตือน เศรษฐกิจสหรัฐฯ และโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายใน 6-9 เดือน
- หุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาปิดบวกถึง 800 จุด จากที่ร่วงหนักกว่า 500 จุด หลังการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ก.ย.
- สถาบันคุ้มครองเงินฝากสหรัฐฯ อ่วม! แบกรับต้นทุนแบงก์ล้ม 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ เตรียมดึงแบงก์ใหญ่ช่วยรับภาระ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคล่าสุดในเดือนกันยายน จะเห็นว่า สถานการณ์เงินเฟ้อไม่ได้ดีขึ้นไปกว่าช่วงเดือนมีนาคมที่ Fed เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยพร้อมยกระดับนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น โดยดัชนีราคาผู้บริโภคในช่วงมีนาคมในอัตรารายปีอยู่ที่ 8.5% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนกันยายนอยู่ที่ 8.2%
ขณะที่ราคาสินค้าหลัก (Core Prices) ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงานที่มีความผันผวนสูง และถูกมองว่าเป็นมาตรวัดบารอมิเตอร์ที่น่าเชื่อถือของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ขยับปรับขึ้นแตะระดับ 6.6% ต่อปีในเดือนกันยายน ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1982
Christopher S. Rupkey หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทวิจัยตลาดการเงิน Fwdbonds ระบุว่า รายงานอัตราเงินเฟ้อล่าสุดชี้ว่า เงินเฟ้อครั้งนี้เป็นหายนะที่บรรเทาไม่ลง และสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่ Fed กำลังทำอยู่ ไม่ได้ผลใดๆ
ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้เร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มครั้งใหญ่คือระดับ 0.75% ต่อเนื่องกัน 3 ครั้งเพื่อลดความต้องการสินค้าและบริการอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่กลับมีสัญญาณว่าราคาค่อยๆ ลดลงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่ง Fed ก็ไม่มีทีท่าถอดใจ แถมยังมุ่งมั่นที่จะอยู่บนเส้นทางของตน โดยเดิมพันว่าตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ จะสามารถทนต่อแรงกดดันจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นได้
Jan Szilagyi ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทวิจัยการลงทุน Toggle AI กล่าวว่า การที่ตลาดงานของสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง กลายเป็นใบอนุญาตให้ Fed มองว่าตนเองจะสามารถใชันโยบายการเงินที่แข็งกร้าวต่อไปได้
โดยรายงานอัตราเงินเฟ้อล่าสุดที่มีการเปิดเผยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นภาพรวมทางเศรษฐกิจที่สำคัญล่าสุดที่ผู้กำหนดนโยบายของ Fed จะดำเนินการก่อนการประชุมครั้งต่อไปในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน และตัวเลขทั้งหมดนี้เป็นการรับประกันว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75%
รายงานระบุว่า ขณะนี้นักลงทุนส่วนใหญ่ คือราว 97% เชื่อว่า Fed จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นที่ 0.75% อีกครั้งในการประชุมเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราดังกล่าวเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกันในปีนี้ ซึ่งแน่นอนว่าการดำเนินการดังกล่าวจะทำเศรษฐกิจสหรัฐฯ เผิชญกับภาวะถดถอยมากขึ้น
ด้าน เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed เองก็ออกมายอมรับแล้วว่า การพึ่งพาอัตราดอกเบี้ยในฐานะอาวุธที่ทรงพลังที่สุดในคลังแสงของตนเพื่อดึงให้เสถียรภาพด้านราคากลับสู่เป้าหมายดั้งเดิมอีกครั้ง จะส่งผลกระทบในวงกว้าง ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นซึ่งจะสร้างความเจ็บปวดบางอย่างแก่ครัวเรือนและธุรกิจอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะจะส่งผลให้การว่างงานเพิ่มขึ้นและโอกาสในการเกิดภาวะถดถอยมากขึ้น
เจ้าหน้าที่ของ Fed เน้นย้ำว่า การสร้างความเจ็บปวดในขณะนี้แทนที่จะปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อซึมเข้าไปในจิตใจของผู้บริโภค ได้กลายเป็นสาระสำคัญของ Fed แล้ว ก่อนย้ำว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการน้อยเกินไปเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อน่าจะมีมูลค่ามากกว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่มากเกินไป
กล่าวได้ว่า Fed ยินยอมให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย (และอาจลากเศรษฐกิจโลกส่วนใหญ่ลงด้วย) มากกว่าที่จะจบลงด้วยอัตราเงินเฟ้อ แต่ในขณะเดียวกัน นั่นหมายถึงผู้บริโภคต้องแบกรับความเจ็บปวดจากราคาที่สูงพร้อมๆ กันและต้นทุนการกู้ยืมที่สูง และในไม่ช้า ความเจ็บปวดนั้นอาจทำให้เกิดการสูญเสียงาน หรือที่ในสำนวนของ Fed กล่าวว่า เป็นภาวะ ‘ตลาดแรงงานที่อ่อนตัวลง’
ทั้งนี้ Fed เชื่อว่าตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งมีส่วนทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ พร้อมด้วยปัจจัยหลายประการที่อยู่นอกขอบเขตการควบคุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ เช่น การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน สงครามในยูเครน และบริษัททั้งหลายที่พยายามมุ่งรักษาราคาให้สูงขึ้นแม้ว่าต้นทุนจะลดลงก็ตาม
ขณะที่ในส่วนของเป้าหมาย Soft Landing ที่จะส่งผลให้เกิดการว่างงานที่น้อยที่สุดและเงินเฟ้อก็ลดต่ำลง ก็เป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์มองว่า เป็นผลลัพธ์ในอุดมคติที่โอกาสในการเกิดสถานการณ์ดังกล่าวแทบไม่มีอยู่จริง
Kurt Rankin นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ PNC กล่าวว่า “แทนที่จะเดินไต่เชือกระหว่าง ‘Soft Landing’ และภาวะถดถอย ตอนนี้ Fed กำลังเผชิญกับศักยภาพในการกำจัดแรงกระตุ้นการสร้างงานของเศรษฐกิจ นอกเหนือจากการปรับสมดุลของตลาดแรงงานโดยใช้การลดอัตราเงินเฟ้อเป็นข้ออ้าง
ทั้งนี้ หากถามว่า Fed แพ้สงครามเงินเฟ้อครั้งนี้แล้วหรือไม่ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า แม้ยังไม่แพ้ แต่ก็ยังไม่เห็นวี่แววที่จะชนะ แถมผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะรู้สึกได้ในระบบเศรษฐกิจที่แท้จริง หรือตามที่ Lael Brainard รองประธาน Fed กล่าวไว้ว่า ความต้องการที่พอเหมาะเนื่องจากการเข้มงวดนโยบายการเงินนั้นรับรู้ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
Brainard ยังตั้งข้อสังเกตว่า การใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดยิ่งขึ้นจะทำให้เกิดความเจ็บปวด ซึ่งที่ชัดเจนที่สุดคือในตลาดที่อยู่อาศัย โดยอัตราสินเชื่อที่อยู่อาศัยซึ่งได้รับอิทธิพลอย่างมากจากอัตราสำคัญของ Fed ได้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวแล้วในปีนี้
โดยอัตราดอกเบี้ยจำนองคงที่ 30 ปี เฉลี่ยอยู่ที่ 6.9% ในสัปดาห์นี้ – สูงที่สุดในรอบ 20 ปี ซึ่งปีที่แล้วอัตราดังกล่าวอยู่ในระดับกว่า 3%
Sam Khater หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Freddie Mac กล่าวว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่จะมองเห็นได้ต่อจากนี้คือ ตลาดงานที่แข็งแกร่งและการเติบโตของค่าจ้างทำให้งบดุลของผู้บริโภคเป็นไปในเชิงบวก ในขณะที่ภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ ความกลัวภาวะเศรษฐกิจถดถอย และความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยที่ลดลงทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยดิ่งลงอย่างแรง
ขณะเดียวกัน ดัชนี CPI ล่าสุดในเดือนกันยายน ยังทำให้นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนได้เห็นความจริงที่ชาวอเมริกันหลายล้านคนรู้สึกอย่างสุดซึ้งในการที่ต้องใช้รายได้ที่มากขึ้นไปกับสิ่งจำเป็นพื้นฐานเช่นอาหารและที่พักพิงมากขึ้น โดยผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่กำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจากคนเหล่านี้พึ่งพาบัตรเครดิตในการใช้จ่าย ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะกลายเป็นเรื่องยากที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันต้องหาเงินมาให้หนี้บัตรเครดิต
ดัชนีที่เรียกว่า ดัชนีอาหารที่บ้านซึ่งเป็นตัวแทนราคาสินค้าในร้านขายของชำเพิ่มขึ้น 13% เมื่อเดือนกันยายนเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนราคาที่พักซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 6.6% แตะระดับสูงที่สุดในรอบกว่า 30 ปี
Joe Brusuelas หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ RSM กล่าวว่า แม้อัตราดอกเบี้ยจำนองจะเพิ่มขึ้น แต่ค่าที่อยู่อาศัยก็ยังคงโหดร้ายมาก โดยที่ไม่ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะบรรเทาลงอย่างไร ก็ยังส่งไปไม่ถึงการผ่อนปรนค่าเช่าได้ในเร็ววัน เพราะต้นทุนค่าครองชีพอย่างอื่นยังสูงอยู่
ขณะที่นักวิเคราะห์อีกรายประเมินว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed อาจชนะการต่อสู้กับราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักที่อ่อนตัวลง แต่ Fed กำลังแพ้สงคราม เมื่อพูดถึงการปรับขึ้นราคาในภาคบริการ โดยดัชนี CPI ล่าสุด เป็นการยืนยันว่า เศรษฐกิจในปีหน้าเข้าใกล้ภาวะถดถอยมากกว่าที่เคย
ด้านผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งมองว่า ปัญหาเงินเฟ้อที่สั่งสมจากวิกฤตโควิดระบาดนั้นซับซ้อนเกินกว่าที่จะแก้ไขด้วยเครื่องมือทื่อๆ ที่ Fed ถืออยู่ในมือได้ ซึ่ง Rakeen Mabud หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกลุ่มนโยบายความร่วมมือ Groundwork ชี้ว่า ปัญหาคอขวดของห่วงโซ่อุปทาน ตลาดพลังงานโลกที่ผันผวน และการแสวงหาผลกำไรขององค์กร ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed เพียงอย่างเดียว และถึงเวลาแล้วที่ Fed ต้องก้าวออกไปเพื่อหลีกทางให้สภาคองเกรสก้าวเข้ามาจัดการแทน
อ้างอิง: