×

Fed ดับฝันยุคดอกเบี้ยต่ำ? ทุบสกุลเงินเอเชียอ่อนค่า เงินบาทก็ไม่รอด

19.12.2024
  • LOADING...

สกุลเงินเอเชียกอดคอกันอ่อนค่า โดยรูปีอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่หยวนและเยนก็อ่อนค่าสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายเดือน เช่นเดียวกับบาทที่อ่อนค่าอย่างรวดเร็ว หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลง 0.25% สู่ระดับ 4.25-4.50% พร้อมส่งสัญญาณว่า Fed อาจลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าน้อยลงกว่าที่คาด เนื่องจากตลาดแรงงานและอัตราเงินเฟ้อมีเสถียรภาพ

 

ทำให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในวันพุธที่ผ่านมา (18 ธันวาคม) ตามเวลาท้องถิ่น โดยดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) แตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี หรือตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022 

 

รูปีอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

 

รูปีอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ใหม่ที่ระดับ 85 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ หลังจาก Fed ส่งสัญญาณว่าในปีหน้าอาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ก่อนหน้านี้

 

นอกจากนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอินเดียอายุ 10 ปีก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3 Basis Point สู่ระดับ 6.78% ขณะที่ดัชนี Nifty 50 ลดลง 0.6% โดยกระแสเงินไหลออกจากตลาดพันธบัตรและหุ้นก็ยังกดดันเงินรูปีด้วย

 

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเงินรูปีร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์หลายครั้ง ท่ามกลางการขาดดุลการค้าของอินเดียที่ขยายตัวมากกว่าที่คาดไว้ในเดือนพฤศจิกายน โดยแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.78 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจอินเดียชะลอตัวลง และกดดันให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศขาดดุล

 

โดยในเดือนนี้ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ก็ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจประเทศสำหรับปีงบประมาณปัจจุบันลงเหลือ 6.6% จาก 7.2% เมื่อก่อนหน้านี้ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ธนาคารกลางอินเดียเริ่มรอบการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

 

หยวนอ่อนค่าสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน แม้ PBOC เข้าแทรกแซง

 

ขณะที่เงินหยวนอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือนที่ราว 7.28 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐในวันพฤหัสบดี (19 ธันวาคม) แม้ธนาคารกลางจีน (PBOC) จะเพิ่มการสนับสนุนสกุลเงินหยวนผ่านการกำหนดอัตราอ้างอิงประจำวัน (Daily Reference Rate) ให้กว้างขึ้น หรือยอมปล่อยให้เงินหยวนแข็งได้เกินคาด

 

เคน เฉิง หัวหน้ากลยุทธ์แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเอเชียของธนาคารมิซูโฮะ กล่าวว่า “ช่องว่างในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่กว้างขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันจากการอ่อนค่าของเงินตราต่างประเทศอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์และความพยายามที่เพิ่มมากขึ้นของธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีนในการปกป้องสกุลเงิน”

 

BOJ สนับสนุนค่าเงินหยวนด้วยการกำหนดค่าเงินที่แข็งค่าเกินคาดมาตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งในสหรัฐฯ โดยกำหนดขอบไว้ที่ 7.2 อัตราแลกเปลี่ยนรายวัน ซึ่งจำกัดการเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวนในประเทศได้ 2% ทั้งสองด้าน นับเป็นเครื่องมือที่ BOJ ใช้บ่อยที่สุดในการจัดการสกุลเงิน

 

ก่อนหน้านี้ โจวหลาน หัวหน้าฝ่ายการเงินของธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (PBOC) กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (13 ธันวาคม) ว่า นโยบายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจะมุ่งเป้าไปที่การตอบโต้ผลกระทบจากภายนอกอย่างจริงจัง

 

การเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นสัญญาณว่าทางการกำลังเพิ่มการสนับสนุนเงินหยวนเมื่อเผชิญกับการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ รวมไปถึงความคาดหวังที่ว่าจีนจะยอมให้สกุลเงินอ่อนค่าลง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ด้วย

 

เงินเยนอ่อนค่าที่สุดในรอบ 5 เดือน

 

ในวันนี้ (19 ธันวาคม) ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ราว 155 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นจุดที่อ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.25% หลังจบการประชุมนโยบาย ซึ่งใช้เวลา 2 วัน

 

การตัดสินใจดังกล่าวยังเกิดขึ้นหลังจากธนาคาร Fed ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ไปสู่ระดับ 4.25-4.5% นอกจากนี้ยังส่งสัญญาณ Hawkish มากขึ้น สะท้อนว่าส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ จะยังคงมีช่องว่างกว้างต่อไป

 

โดยในระหว่างการแถลงข่าวช่วงบ่าย ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงอีก แตะระดับมากกว่า 156 เยน ซึ่งเป็นอัตราที่อ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม

 

ด้าน คาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวว่า เขาต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาว่าบริษัทต่างๆ จะปรับขึ้นค่าจ้างในการเจรจาประจำปีในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่เรียกว่า Shunto ได้อย่างไร ทำให้ตลาดเกิดการคาดเดาว่า BOJ อาจตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมอีกครั้งในการประชุมเดือนมกราคม

 

บาทอ่อนค่าในรอบเกือบ 1 เดือน

 

วันนี้เงินบาทอ่อนค่าไปถึง 34.68 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่ามากที่สุดในรอบเกือบหนึ่งเดือน หลังจากเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.58 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นับว่าอ่อนค่าลงหนักจากระดับปิดวันที่ผ่านมาที่ระดับ 34.21 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

 

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้านี้ถูกกดดันโดยการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์สหรัฐและบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ หลัง Fed เดินหน้าลดดอกเบี้ย 25 BPS สู่ระดับ 4.25-4.50% ตามคาด

 

ทว่า Fed ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น พร้อมทั้งปรับลดคาดการณ์แนวโน้มการลดดอกเบี้ยในปี 2025 ลง จากเดิมที่ Fed เคยประเมินไว้ว่าอาจเดินหน้าลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง (-100 BPS) เหลือเพียง 2 ครั้ง (-50 BPS) ใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดหวังก่อนรับรู้ผลการประชุม Fed

 

อย่างไรก็ดี ถ้อยแถลงของประธาน Fed ในช่วง Press Conference ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า Fed อาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ หากคำนึงถึงผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลงหนักกว่า -2.3% ของราคาทองคำ (XAUUSD) ซึ่งถูกกดดันจากทั้งการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐและบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising