×

ตามคาด! Fed คงดอกเบี้ย 5.25-5.50% ส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้

21.03.2024
  • LOADING...

การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในช่วงระหว่างวันที่ 19-20 มีนาคมที่ผ่านมา ได้ผลลัพธ์ตามคาดที่เป็นไปตามความคาดหมายของเหล่านักวิเคราะห์ โดยคณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ถือเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดในรอบกว่า 23 ปี

 

ขณะเดียวกันความเคลื่อนไหวล่าสุดยังถือเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 5 หลังจากที่ Fed มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาแล้วทั้งหมด 11 ครั้งนับตั้งแต่ที่เริ่มวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นในเดือนมีนาคม ปี 2022 

 

ในส่วนของการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) รายงานระบุว่า ทางเจ้าหน้าที่ Fed ยังคงส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2024 โดยจะปรับลดครั้งละ 0.25% รวม 0.75% ถือเป็นแนวทางที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ส่งสัญญาณว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในการประชุมเดือนธันวาคม 2023 

 

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ Fed ยังส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปี 2025 รวม 0.75% โดยลดลงจากเดิมที่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีหน้า และปี 2026 ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งหลังจากนั้น จนกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะลดลงมาอยู่ที่ราว 2.6% ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับเงินเฟ้อเป้าหมาย 2% ที่ทาง Fed มองว่าจะเป็นระดับที่ไม่ผ่อนคลายหรือเข้มงวดทางการเงิน

 

ในส่วนของการคาดการณ์ทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทางธนาคารกลางได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปีหน้าที่ 2.1% ส่วนปี 2025-2026 จะอยู่ที่  2.0% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์เดิมในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2023 ที่ระดับ 1.4% ในปีนี้ 1.8% ในปีหน้า และ 1.9% ในปี 2026 ขณะที่อัตราการขยายตัวในระยะยาวของสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับ 1.8%

 

นอกจากนี้ Fed ยังคาดการณ์อัตราว่างงานปีนี้ไว้ที่ระดับ 4.0% ลดลงจาก 4.1% ในการคาดการณ์ครั้งก่อน ก่อนจะขยับขึ้นที่ 4.1% ในปีนี้ และลดลงแตะ 4.0% ในปี 2026 ส่วนอัตราการว่างงานระยะยาวอยู่ที่ 4.1%

 

สำหรับทิศทางเงินเฟ้อของสหรัฐฯ Fed ประเมินว่า เงินเฟ้อในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 2.6% เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 2.4% ขณะนี้เงินเฟ้อในปีหน้าและปีถัดไปยังคงไว้เท่าเดิมที่ 2.2% และ 2.0% ตามลำดับ

 

เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed กล่าวภายหลังเปิดเผยมติที่ประชุมว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเวลานี้ยังคงอยู่ในระดับที่สูงเกินไป และหนทางข้างหน้าในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนมากมาย แต่โดยรวมในระยะยาวที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในขาลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้วางใจได้ระดับหนึ่งว่าเงินเฟ้อเป้าหมาย 2% ยังเป็นสิ่งที่สามารถบรรลุผลได้ 

 

พาวเวลล์ย้ำว่า แม้ข้อมูลเงินเฟ้อเมื่อไม่นานมานี้จะออกมาร้อนแรงกว่าที่คาดกันไว้ แต่เมื่อพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ก็พบว่า ภาพรวมเงินเฟ้อกำลังอยู่ในช่วงขาลง แต่เป็นอยู่บนถนนที่ค่อนข้างขรุขระอยู่บ้าง

 

ผลการประชุมของ Fed ล่าสุดส่งผลให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทของสหรัฐฯ กลับมาปิดตลาดในแดนบวก เนื่องจากผลลัพธ์ดังกล่าวเป็นไปตามคาดการณ์ ทำให้บรรดานักลงทุนคลายความกังวลได้ระดับหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการยืนยันว่า Fed จะยังคงมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ โดยก่อนหน้านี้นักลงทุนส่วนหนึ่งกังวลว่า อัตราเงินเฟ้อที่ขยับเพิ่มขึ้นอาจทำให้ Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่า 3 ครั้งที่คาดการณ์ไว้

 

โดยดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones ปรับตัวเพิ่มขึ้น 401.37 จุด หรือ 1.03% ปิดที่ 39,512.13 จุด ส่วนดัชนี S&P 500 ขยับเพิ่มขึ้น 46.11 จุด หรือ 0.89% ปิดที่ 5,224.62 จุด และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 202.62 จุด หรือ 1.25% ปิดที่ 16,369.41 จุด

 

ส่วนราคาทองคำมีรายงานว่า มีการขยับปรับตัวขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากความเคลื่อนไหวของ Fed เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดยราคาทองคำในตลาดโคเม็กซ์ งวดส่งมอบเดือนเมษายน ปรับตัวบวกเพิ่มขึ้น 1.30 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 2,161.00 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

ECB พร้อมหั่นดอกเบี้ยเดือนมิถุนายน 

 

คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวแสดงจุดยืนเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (20 มีนาคม) โดยย้ำว่า ทาง ECB พร้อมพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่ ECB จะมีการออกรายงานข้อมูลเศรษฐกิจชุดใหม่ ที่จะช่วยยืนยันตัวเลขแนวโน้มเงินเฟ้อที่คาดการณ์ไว้เดือนมีนาคม เปิดทางให้ ECB สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันยังคงเต็มไปด้วยปัจจัยความไม่แน่นอนมากมาย ทำให้ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อขาลงยังไม่นิ่งพอและมีสิทธิ์ปรับขึ้นได้ ดังนั้นทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจึงยังคงไม่แน่นอน 

 

ความเห็นดังกล่าวมีขึ้นระหว่างที่ลาการ์ดขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ท่ามกลางความคาดหวังจากหลายฝ่ายว่า การประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของ ECB ในช่วงเดือนมิถุนายน จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหภาพยุโรป (EU) 

 

ทั้งนี้ นอกจากเรื่องปัจจัยด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจมีผลต่อเงินเฟ้อแล้ว รายงานระบุว่า ข้อมูลเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายนยังจะมีการอัปเดตข้อมูลจากการเจรจาปรับขึ้นเงินเดือน ซึ่ง ECB มองว่าน่าจะมีผลกระทบต่อตัวเลขเงินเฟ้อ EU ขณะที่ลาการ์ดเสริมว่า รายงานอัปเดตเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายนยังจะให้ข้อมูลเชิงลึกมากขึ้นเกี่ยวกับเส้นทางของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและทิศทางของตลาดแรงงาน

 

ลาการ์ดระบุว่า มีเหตุผลหลายประการที่ทำให้เชื่อได้ว่าภาวะเงินเฟ้อลดลงจะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตามที่คาดไว้ ซึ่งต่างจากการคาดการณ์วงจรนโยบายของ ECB ในช่วงก่อนๆ ก่อนย้ำความเชื่อมั่นในการประมาณการเศรษฐกิจมหภาคของ ECB ล่าสุดที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2024 จะอยู่ที่ 2.3% แล้วค่อยๆ ขยับลดลงมาอยู่ที่ 2% ในปี 2025 และ 1.9% ในปี 2026

 

“หากข้อมูลเหล่านี้เผยให้เห็นความสอดคล้องที่เพียงพอระหว่างเส้นทางของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและการคาดการณ์ของเรา และสมมติว่าการส่งผ่านยังคงแข็งแกร่ง เราจะสามารถเข้าสู่ระยะย้อนกลับของวงจรนโยบายของเรา และทำให้นโยบายมีข้อจำกัดน้อยลง แต่หลังจากนั้นแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในประเทศจะยังคงมองเห็นได้ เราคาดว่าอัตราเงินเฟ้อด้านบริการจะยังคงสูงขึ้นเกือบทั้งปีนี้ ดังนั้นจะมีช่วงเวลาข้างหน้าที่เราต้องยืนยันอย่างต่อเนื่องว่า ข้อมูลที่เข้ามาจะสนับสนุนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของเรา” ลาการ์ดกล่าว 

 

รายงานระบุว่า ความคิดเห็นของลาการ์ดในฐานะประธาน ECB นับเป็นการส่งสัญญาณบวกต่อแนวโน้มทิศทางอัตราเงินเฟ้อ EU แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงผันผวนอย่างความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และแรงกดดันจากราคาสินค้าและบริการในกลุ่มยูโรโซน โดยล่าสุดตัวเลขเงินเฟ้อของ EU ในเดือนกุมภาพันธ์ ลดลงมาอยู่ที่ 2.6% กระนั้นตัวเลขเงินเฟ้อในภาคบริการยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 3.9%

 

ขณะเดียวกันลาการ์ดยังเปิดเผย 3 ปัจจัยสำคัญที่ ECB จะนำมาใช้ในการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยคือ แนวโน้มเงินเฟ้อ แรงกดดันจากเงินเฟ้อพื้นฐาน และปัจจัยพื้นฐานในการเปลี่ยนผ่านนโยบายการเงินได้อย่างเข้มแข็งและราบรื่น เพื่อช่วยให้ ECB มีความมั่นใจมากพอที่จะหั่นดอกเบี้ยหรือเริ่มแนวทางผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน

 

จนถึงขณะนี้ ECB ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของ ECB ในช่วงเดือนมีนาคม ทางธนาคารกลางยุโรปมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม พร้อมส่งสัญญาณว่า ปัจจุบันยังคงเร็วเกินไปที่จะหารือเรื่องแนวทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 

 

ทั้งนี้ การประชุมครั้งต่อไปของ ECB จะมีขึ้นในเดือนเมษายน และต่อเดือนมิถุนายน ตามลำดับ ท่ามกลางการจับตามองของตลาดที่หันมาให้น้ำหนักกับการลดอัตราดอกเบี้ยที่ ECB จะดำเนินการตลอดทั้งปีนี้ โดยนักวิเคราะห์ในตลาดการเงินคาดว่า ECB จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3-4 ครั้งภายในเดือนธันวาคม  

 

ภาพ: Chip Somodevilla / Getty Images 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X