หลังจากเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 Fed ได้ปรับลดดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ระดับ 0-0.25% และได้ปั๊มมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE เข้าสู่ระบบจนทำให้งบดุลของ Fed ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น พอถึงจุดหนึ่งก็เริ่มที่จะต้องมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดย Fed ได้เริ่มปรับดอกเบี้ยขึ้นครั้งแรกในช่วงปลายปี 2015 ครั้งถัดมาในช่วงปลายปี 2016 นอกจากนี้ยังมีการปรับดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2017 และปรับเพิ่มอีก 4 ครั้งในปี 2018 ส่งผลให้ดอกเบี้ยขึ้นมาอยู่ในระดับ 2.25-2.5% ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว นับเป็นการขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด 9 ครั้ง
หลังจากนั้นมา เศรษฐกิจก็เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว โดยมีปัจจัยเร่งคือความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้ Fed ต้องมีการปรับลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในปี 2019 ครั้งแรกเมื่อครั้งประชุม FOMC ในเดือนกรกฎาคม และครั้งที่ 2 ในเดือนกันยายน ดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ระดับ 1.75-2.00%
สำหรับช่วงที่เหลือของปี 2019 คาดว่าน่าจะไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยอีกแล้ว แต่ทางประธาน Fed เจอโรม พาวเวลล์ ก็ยังไม่ปิดโอกาสในการปรับลดดอกเบี้ยไปทั้งหมด แต่เน้นไปที่สถานการณ์ในแต่ละช่วงว่ามีความจำเป็นมากน้อยขนาดไหนมากกว่า
ล่าสุด การประชุม FOMC ประจำเดือนกันยายน ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ตามคาด มาอยู่ที่ระดับ 1.75-2.00% เป็นการปรับดอกเบี้ยลงติดต่อกันจากการประชุมเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ทางด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็มีการตอบสนองออกมาในเชิงผิดหวังอีกครั้ง เพราะคงจะมองว่าการปรับลดดอกเบี้ย 0.25% นั้นน้อยเกินไป โดยบอกว่า เจอโรม พาวเวลล์ และสมาชิกท่านอื่นๆ ไม่มีความกล้าที่เพียงพอ พร้อมระบุว่าการตัดสินใจแบบนี้เป็นความเสี่ยงต่อความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐฯ เพราะดอกเบี้ยของสหรัฐฯ นั้นสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วในโลกนี้เกือบทั้งหมด
คณะกรรมการที่ออกเสียงได้ มีการลงมติลดดอกเบี้ยลง 0.25% โดยคณะกรรมการจำนวนทั้งสิ้น 10 คน ลงคะแนนให้ลดดอกเบี้ย 0.25% ทั้งหมด 7 เสียง ด้านกรรมการที่ไม่เห็นด้วยในการลดดอกเบี้ย 0.25% มีทั้งหมด 3 เสียง แต่ 1 ใน 3 เสียงที่ไม่เห็นด้วยเพราะมีความเห็นว่าควรลด 0.50% ไปเลย ไม่ใช่แค่ปรับลด 0.25% คือ เจมส์ บูลลาร์ด จาก St.Louis
ทางด้าน Dot Plot ที่มาจากการสำรวจความเห็นของผู้แทน Fed จำนวน 17 คน ผลปรากฏว่ามีสมาชิก 5 คนเห็นว่าดอกเบี้ยควรจะอยู่ที่ 2.00-2.25% ส่วนสมาชิกอีก 5 คนเห็นว่าระดับ 1.75-2.00% นั้นมีความเหมาะสมและควรรักษาอัตราดอกเบี้ยในระดับนี้ไปจนสิ้นปี ขณะที่สมาชิก 7 คนคิดว่าควรจะลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปีนี้
แม้ Dot Plot จะแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ลดลงของดอกเบี้ยในปีต่อๆ ไป แต่คณะกรรมการยังมองว่า ในระยะยาวดอกเบี้ยจะอยู่ที่ระดับ 2.5%
เมื่อโฟกัสไปที่ถ้อยแถลงของ Fed จะเห็นว่าแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อเป็นประเด็นหลักในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทางด้านการประเมินเศรษฐกิจอเมริกา ยังมองว่าการใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังแข็งแกร่งดี ในขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนและการส่งออกมีการปรับตัวลดลง
ด้านตลาดมองว่า การปรับลดดอกเบี้ยในช่วงนี้ถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนก็ยังไม่คลี่คลาย ถึงแม้ว่าสถานการณ์จะดูดีขึ้นมากแล้วก็ตาม
คณะกรรมการมีมุมมองที่เป็นบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้นจากการประชุมในเดือนมิถุนายน โดยมองว่า GDP ในปีนี้จะเติบโตได้ 2.2% จากที่คาดไว้ในเดือนมิถุนายนที่ 2.1% สำหรับการเติบโตในระยะยาว มองว่าจะสามารถเติบโตได้ 1.9% ไม่เปลี่ยนแปลง
ทางด้านเงินเฟ้อยังคงตัวเลขไว้ที่ 1.8% สำหรับปีนี้ และ 2.5% สำหรับเป้าหมายในระยะยาว
ก็ถือว่าไม่มีอะไรที่ผิดคาดสำหรับผลที่ออกมาจากการประชุม FOMC ในวันที่ 17-18 ที่ผ่านมา และตลาดก็ไม่ได้ตอบรับในเชิงลบหรือบวกอะไรมากนัก ที่ต้องลุ้นจากนี้คือการประชุมในเดือนธันวาคมว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงมาอีกครั้งหรือไม่
สิ่งที่ต้องจับตาดูหลังจากนี้และจะส่งผลถึงการปรับดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมก็คือพัฒนาการของความขัดแย้งทางการค้า ซึ่งกำลังจะมีการเจรจาอย่างเป็นทางการในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่กำลังจะถึงนี้ ถ้าการเจรจาออกมาดีและเกิดข้อตกลงขึ้นได้ ก็น่าจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจทั่วโลก และความกังวลของเศรษฐกิจถดถอยก็คงจะเบาบางลงไปมาก
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
- การประชุม BOJ ในเช้าวันที่ 19 กันยายน 2019 มีมติไม่เปลี่ยนแปลงคือ คงดอกเบี้ยไว้ที่ -0.1% สำหรับประเทศไทย กนง. หรือคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีการประชุมในวันพุธที่ 25 กันยายน 2019 คาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางด้านดอกเบี้ย