ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศมาตรการเสริมสภาพคล่องในระบบธนาคาร ผ่านการทำธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร (Repo Operations) มูลค่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อรับมือกับผลกระทบจากโควิด-19 ที่สร้างความผันผวนให้กับตลาด นอกจากนี้ Fed จะเริ่มรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวร่วงลงต่ำกว่าพันธบัตรระยะสั้น หรือที่เรียกว่า ปรากฏการณ์ Inverted Yield Curve ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย
การอัดฉีดเงินเข้าระบบของ Fed จะดำเนินการผ่านการซื้อคืนพันธบัตร รวมถึงเครื่องมือทางการเงินประเภทอื่นๆ เช่น ตั๋วเงินคลัง และหลักทรัพย์คุ้มครองเงินเฟ้อ เริ่มตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (12 มีนาคม) ไปจนถึงวันที่ 13 เมษายน
มงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (KTBST SEC) อธิบายว่า ตามปกติแล้ว เมื่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ เกิดภาวะสภาพคล่องตึงตัว Fed จะใช้วิธีการลดดอกเบี้ย หรืออัดฉีดเงินเข้าระบบ เพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งสามารถทำได้ผ่านการรับซื้อพันธบัตร
โดย Fed ตั้งวงเงินสำหรับ Repo Operations ไว้ที่ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนการรับซื้อคืนพันธบัตรอาจจะมีเพิ่มเติมในวงเงินราว 3.5 ล้านล้านดอลลาร์
มงคลมองว่า การอัดฉีดเงินเข้าระบบครั้งนี้จะช่วยบรรเทาความตระหนก (Panic) ในตลาดได้ในระดับหนึ่ง แต่ถือเป็นมาตรการระยะสั้นซึ่ง Fed ทำเป็นประจำอยู่แล้ว หากเกิดภาวะตึงตัวในระบบ หลังจากนี้คาดว่า Fed อาจลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในระหว่างการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินรอบถัดไป จากระดับ 1.00-1.25% ในปัจจุบัน ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่ Fed อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยรวดเดียว 0.5% หลังจากเพิ่งปรับลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.5% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (3 มีนาคม) เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดการเงิน
นักวิเคราะห์จาก KTBST ระบุว่า การลดดอกเบี้ยรอบนี้ Fed จะระมัดระวังมากขึ้น เพราะรอบที่แล้วทำให้นักลงทุนตีความว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังไม่สู้ดี ดังนั้น ครั้งนี้ต้องจับตาการแถลงของ Fed อย่างใกล้ชิด หากมีการลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ตลาดคาด (ลดน้อยกว่า 0.75-1%) ก็อาจเป็นปัจจัยลบต่อตลาด ทำให้หุ้นสหรัฐฯ ร่วงอีกครั้ง แต่ถ้าถ้อยแถลงระบุว่า การตัดสินใจลดดอกเบี้ยจะมาพร้อมกับมาตรการกระตุ้นเชิงปริมาณอื่นๆ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจ ก็อาจทำให้ตลาดขานรับและปรับตัวเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้มงคลมองว่า มีโอกาสที่ Fed จะใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน หรือ QE เหมือนกับปี 2008 ที่เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลก หาก Fed ลดดอกเบี้ยจนเข้าใกล้ 0% ซึ่งจะทำให้ Fed มีช่องว่างในการใช้เครื่องมือการเงิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยลงเรื่อยๆ ขณะเดียวกันมีความเป็นไปได้ที่ Fed จะเลือกใช้การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนถึง 0% แล้วจึงออกมาตรการ QE เข้ามาช่วยสนับสนุนภาคเศรษฐกิจ
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- https://www.politico.com/news/2020/03/12/fed-announces-massive-cash-injection-to-relieve-us-debt-market-127284
- https://www.theguardian.com/business/2020/mar/12/us-and-european-markets-plunge-further-after-trump-travel-ban