คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด เผยผลการประชุมระหว่างวันที่ 16-17 มีนาคมที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมมีมติ ‘เอกฉันท์’ ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2021 และ 2022 จากการคาดการณ์ครั้งก่อนในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยปีนี้เพิ่มขึ้น 6.5% และปีหน้า 3.3% ตามลำดับ ขณะที่ปรับลดการขยายตัวของปี 2023 สู่ระดับ 2.2% และคงการคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่ระดับ 1.8%
ขณะเดียวกัน เฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระดับ 0.00-0.25% ตามที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า พร้อมส่งสัญญาณว่า เฟดจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนถึงปี 2023 แม้ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม และเฟดจะยังคงเชิงปริมาณ (คิวอี) ด้วยการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลอย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน โดยเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน และเป็นตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ในวงเงิน 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน
แถลงการณ์ของเฟดย้ำชัดว่า เฟดจะยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน จนกว่าจะมีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายของเฟดในการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และการมีเสถียรภาพด้านราคา
สำหรับอัตราเงินเฟ้อ เฟดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ไว้ที่ 2.4% ส่วนปี 2022-2023 อยู่ที่ 2.0% และ 2.1% ตามลำดับ และคงตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะยาวอยู่ที่ระดับ 2.0% ขณะที่อัตราการว่างงานในปีนี้ เฟดคาดการณ์ว่าจะลดลงสู่ระดับ 4.5% และ 3.9% กับ 3.5% ในปี 2022 และ 2023 ตามลำดับ ส่วนอัตราว่างงานในระยะยาวลดลงมาอยู่ที่ 4.0%
ผลการประชุมของเฟดครั้งนี้ ยังส่งผลให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทสหรัฐฯ ปิดบวกอย่างแข็งแกร่งในวันพุธที่ 17 มีนาคม โดยดัชนี S&P 500 และดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์พุ่งทะยานทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (All Time High) โดยเฟดได้คาดการณ์แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จากวิกฤตการระบาดของโควิด-19 จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว และเฟดจะยังเดินหน้าคงอันตราดอกเบี้ยในระดับใกล้ศูนย์ต่อไป
ทั้งนี้ หุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ธนาคาร และบริษัทที่พึ่งพารายได้จากการบริโภคของผู้บริโภคเป็นหลักต่างขยับปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ช่วยชดเชยการลงทุนที่ลดลงในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยเมื่อคืนนี้ ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 0.6% มาอยู่ที่ 33,042 นับเป็นการปิดเหนือ 33,000 จุดเป็นครั้งแรก ส่วนดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 0.29% ปิดที่ 3,974.12 จุด และดัชนีแนสแด็กเพิ่มขึ้น 0.40% ที่ 13,525.20 จุด
โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ต่างคาดการณ์ว่า ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นฟูคลี่คลายในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่กำลังจะมาถึง รวมถึงการที่พลเรือนอเมริกันจะได้รับการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นกลับมาอีกครั้ง
ขณะเดียวกัน นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดต่างเฝ้าติดตามท่าทีของเฟดต่ออัตราเงินเฟ้ออย่างใกลชิด โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.65% แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2020
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: