×

Fed และ ECB จ่อคงดอกเบี้ยสูงไว้นานกว่าตลาดคาด OECD ประเมินเศรษฐกิจโลกปีหน้าชะลอตัว แต่ไม่ถึงขั้น Hard Landing

30.11.2023
  • LOADING...

Clare Lombardelli หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg Television ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูงนานกว่าที่นักลงทุนคาดหวัง เพื่อให้แน่ใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะถูกกำราบและอยู่ภายใต้การควบคุม

 

โดย OECD ระบุรายงานคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจโลกในปี 2024 ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed น่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 เท่านั้น ส่วนการหั่นอัตราดอกเบี้ยของ ECB น่าจะไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะถึงฤดูใบไม้ผลิของปี 2025

 

คาดการณ์ดังกล่าวนับว่าแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความคาดหวังของตลาด ซึ่งปัจจุบันเดิมพันว่า Fed และ ECB จะผ่อนคลายนโยบายโดยเร็วที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า

 

Clare Lombardelli กล่าวอีกว่า “การบริโภคของชาวอเมริกันยังมีความเข้มแข็งมาก โดยเรายังคาดหวังว่าต้องใช้เวลาอีกสักหน่อยเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาอยู่ในแนวโน้มขาลงอย่างต่อเนื่องและกลับมาสู่เป้าหมาย ดังนั้นนโยบายการเงินน่าจะยังต้องคงความเข้มงวดไว้สักระยะหนึ่ง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซน OECD คาดการณ์ว่าจะลดลงอย่างช้าๆ

 

OECD คาดเศรษฐกิจโลกปีหน้าชะลอตัว แต่ไม่ถึงขั้น Hard Landing

 

โดยในรายงานคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจโลกในปี 2024 ประเมินอีกว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวเล็กน้อยในปีหน้า แต่ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Hard Landing ลดลง แม้ระดับหนี้จะอยู่ในระดับสูงและยังคงมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยก็ตาม

 

รายงานของ OECD ประเมินว่าการเติบโตทั่วโลกปีหน้าจะลดลงแตะ 2.7% ในปีหน้า เมื่อเทียบกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ที่อยู่ในระดับปานกลางที่ 2.9%

 

นอกจากนี้รายงานยังชี้ว่าการเติบโตของ 38 ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นสมาชิกของ OECD จะมุ่งหน้าสู่การลงจอดอย่างนุ่มนวล หรือ Soft Landing โดยที่สหรัฐฯ ยังคงรักษาระดับไว้ได้ดีกว่าที่คาดไว้จนถึงตอนนี้

 

ขณะเดียวกัน OECD คาดการณ์ว่าการเติบโตของสหรัฐฯ จะชะลอตัวจาก 2.4% ในปีนี้ เหลือ 1.5% ในปีหน้า ซึ่งตัวเลขดังกล่าวมีการปรับลงจากการคาดการณ์ของ OECD ในครั้งก่อนหน้าในเดือนกันยายน

 

นอกจากนี้ OECD ยังคาดการณ์เศรษฐกิจในภาพรวมของสหรัฐฯ โดยตลอดทั้งปี 2023 ว่าจะสามารถจะเติบโต 2.2% ในปีนี้ และ 1.3% ในปี 2024

 

แม้ว่าความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ และที่อื่นๆ ได้ผ่อนคลายลงแล้ว แต่ OECD ระบุว่าความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Risk of Recession) ยังคงอยู่ในกรอบที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากตลาดที่อยู่อาศัยที่อ่อนแอ ราคาน้ำมันที่สูง และการปล่อยสินเชื่อที่ซบเซา

 

ด้านเศรษฐกิจจีนก็คาดว่าจะชะลอตัวเช่นกัน เนื่องจากจีนต้องต่อสู้กับฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ที่กำลังลดต่ำลง และผู้บริโภคก็ออมเงินมากขึ้นเมื่อเผชิญกับความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น

 

ทั้งนี้ OECD คาดการณ์ว่าการเติบโตของจีนจะลดลงจาก 5.2% ในปีนี้ เหลือ 4.7% ในปี 2024 และชะลอตัวลงแตะ 4.2% ในปี 2026 ซึ่งตัวเลขการเติบโตดังกล่าวสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อยในเดือนกันยายน ก่อนที่จะชะลอตัวลงอีกในปี 2025 ที่เศรษฐกิจโลกจะสามารถเติบโตได้เฉลี่ยที่ 4.2%

 

ในส่วนของภูมิภาคยุโรปพบว่าการเติบโตของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 0.6% ในปีนี้ เป็น 0.9% ในปี 2024 และ 1.1% ในปี 2025 เนื่องจากเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาค สามารถฟื้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงเวลาดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม OECD เตือนว่าเนื่องจากระดับการจัดหาเงินทุนของธนาคารในยูโรโซนอยู่ในระดับสูง ผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งหมดจึงยังไม่แน่นอนและอาจส่งผลต่อการเติบโตมากกว่าที่คาดไว้

 

ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้าที่สำคัญเพียงแห่งเดียวที่ยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบปัจจุบัน โดย OECD คาดว่าจะเห็นการเติบโตช้าลงจาก 1.7% ในปีนี้ เหลือ 1.0% ในปีหน้า ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.2% ในปีถัดไป

 

นอกจากนี้ OECD ยังเตือนว่า ในขณะที่แนวโน้มการเติบโตของประเทศต่างๆ แตกต่างกันออกไป ประเทศเหล่านี้ก็มีแรงกดดันทางการคลังเช่นเดียวกันกับภาระหนี้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 7 ประเทศ หรือกลุ่ม G7

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X