×

หรือต้องซื้อดอกไม้ขายหุ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2023?

13.02.2023
  • LOADING...
ขายหุ้น

สวัสดีครับนักลงทุนทุกท่าน หลังจากจบเดือนมกราคม สินทรัพย์หลักต่างๆ เริ่มถูกขายทำกำไร และธีมการลงทุนของตลาดมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

 

แม้ในมุมของอันดับผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี คริปโตจะยังคงรั้งอันดับ 1 ที่บวก 26-31% แต่ก็ลดลงจากปลายเดือนมกราคมราว 5-7% บนความกังวลว่านโยบายการเงินจะเข้มงวดต่อเนื่องทั้งปี


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


กลุ่มเทคโนโลยี (MSCI ACWI Information Technology) และกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย (MSCI ACWI Consumer Discretionary) ที่ปรับตัวขึ้นตั้งแต่ต้นปี 10-12% เริ่มปรับฐานหลังหมดช่วงประกาศผลประกอบการ 

 

ตลาดการเงินที่เข้าสู่โหมด Policy Tightening และเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ กดดันให้นักลงทุนขายทำกำไรหุ้นจีนที่ปรับตัวขึ้นแรงในช่วงต้นปีมากที่สุด แต่ยังคงรอดูสถานการณ์ในกลุ่ม Developed Markets เช่นยุโรปและญี่ปุ่น  

 

ผมมองธีมการลงทุนหลักมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ 3 เรื่อง

 

กลุ่มแรก หุ้นเทคโนโลยีที่อาจต้องกลับสู่โลกความเป็นจริง

ช่วงต้นปีเราจะเห็นธีม Next-Gen Tech ที่ Taking-Off หรือปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว จนนักลงทุนหลายท่านตั้งคำถามว่า ธีมเทคโนโลยีแห่งอนาคตเหล่านี้จะกลับมานำตลาดเหมือนปี 2021 อีกหรือไม่

 

มุมมองของผม แรงสนับสนุนหลักของการลงทุนแห่งอนาคตเหล่านี้คือ ‘สภาพคล่อง’ แต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีทั้งดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ยีลด์ที่กลับตัว และดอลลาร์ที่แข็งค่า แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะส่งสัญญาณว่าเงินเฟ้อกำลังกลับเป็นแนวโน้มขาลง (Disinflation) แต่การที่ Fed ยังไม่มีทีท่าที่จะ ‘ลด’ ดอกเบี้ย โอกาสที่ธีมนี้จะกลับเป็นขาขึ้นรอบใหม่อาจไม่ใช่เรื่องจริงในปี 2023 

 

กลุ่มต่อมาคือ การลงทุนนอกสหรัฐฯ แม้แนวโน้มแข็งแกร่ง แต่ต้องระวังการเคลื่อนไหวระยะสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในจีน

ธีมลงทุน Rest of World (ROW) หรือการลงทุนนอกสหรัฐฯ ในกลุ่ม DM ทำผลงานได้ดี และเป็นกลุ่มที่มีผลตอบแทนเหนือตลาด (Alpha) มากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่เงินเฟ้อพลิกกลับเป็นขาลงและดอลลาร์อ่อนค่าในระยะยาว 

 

เดือนนี้เราจะเห็น GDP 4Q22 ทั้งในญี่ปุ่นและยุโรปที่ไม่หดตัว โดยตลาดคาดว่า GDP ญี่ปุ่นจะกลับมาขยายตัวได้ถึง 2.0% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 (ปรับเป็นรายปี) ส่วนยุโรปจะบวกอ่อนๆ ที่ 0.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

 

กลุ่มที่ต้องระวังเป็นพิเศษมีแค่การลงทุนในจีน 

ปัญหาหลักไม่ใช่เรื่องนโยบายหรือเศรษฐกิจ เห็นได้ชัดจากปริมาณเงินในจีน (M2) ล่าสุดเดือนมกราคมขยายตัวถึง 12.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้จะเปิดการเดินทางแล้ว แต่เป็นประเด็นการเมืองระหว่างประเทศและความผันผวนของตลาดที่สูง

 

ผมเชื่อว่าไม่มีใครสามารถเดาจังหวะของความเสี่ยงด้านการเมืองได้ อย่างไรก็ดี การปรับฐานจากประเด็นเหล่านี้ แทบทุกครั้งมักเป็นโอกาสของการลงทุนระยะยาว นักลงทุนควรเตรียมพร้อมรอลงทุนในช่วงที่ระดับราคาเหมาะสม   

 

สุดท้ายคือนโยบายการเงินที่มีความซับซ้อนมากขึ้น

 

มาถึงตรงนี้ไม่มีใครบอกได้ชัดเจนว่าธีมนโยบายการเงินปีนี้จะเป็นเช่นไร

 

เราเห็นมาตั้งแต่ต้นปีที่ตลาดเปิดมาด้วยธีม Fed Cut ผ่านเดือนแรกลดลงเป็น Fed Pause และหลังจากที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก ตลาดก็ขยับความคาดหวังบนดอกเบี้ยเป้าหมาย (Terminal Rate) ไปที่ 5.25-5.50% แล้ว

 

เมื่อ Fed ใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ เดือนนี้สิ่งที่ต้องจับตาจึงเป็นทิศทางของเงินเฟ้อสหรัฐฯ และมุมมองของ Fed ตลาดคาดว่าจะเห็น US CPI กลับมาปรับตัวขึ้น 0.5% จากเดือนธันวาคม 2022 ถึงเดือนมกราคม 2023 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับของปีก่อนทั้ง CPI และ Core CPI จะลดลงเหลือเพียง 6.2% และ 5.5% ตามลำดับ

 

ระยะสั้น เงินเฟ้อจึงจะไม่ใช่สัญญาณที่ Fed จะสามารถบอกได้ว่า ‘ชนะสงครามกับเงินเฟ้อ’ แต่ระยะยาวเริ่มชัดเจนมากขึ้นว่าความจำเป็นที่จะต้องขยับ Terminal Rate ขึ้นไปสูงกว่า 5.5% จะลดลงเรื่อยๆ ในปีนี้

 

มุมมองของผม การเปลี่ยนแปลงของตลาดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์จะเป็นความจริงที่ตลาดต้องเตรียมรับมือทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นภาพเศรษฐกิจที่ดีกว่าคาด เงินเฟ้อลดลงแต่อยู่ในระดับสูง และธนาคารกลางที่มีมุมมองเข้มงวดกว่าที่ตลาดคาดหวัง ทั้งหมดอาจทำให้เดือนกุมภาพันธ์กลายเป็นเดือนที่ทิศทางเศรษฐกิจหรือนโยบายการเงินไม่สำคัญเท่ากับอารมณ์ของตลาดก็เป็นได้ครับ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising