×

5 กุมภาพันธ์ ทำไมจึงเป็นวันสำคัญของแคชเมียร์

05.02.2023
  • LOADING...

หลายคนรู้จักแคชเมียร์เป็นอย่างดีว่าเป็นดินแดนที่สวยงามไม่แพ้ที่ใดในโลก หลายคนรู้ว่าในความสวยงามนี้มีความขัดแย้งและข้อพิพาทมายาวนานระหว่างอินเดียกับปากีสถาน แต่หลายคนยังไม่ค่อยรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของชาวแคชเมียร์มากนัก ไม่ว่าจะเป็นสถานะของแคชเมียร์ก่อนการแยกประเทศอินเดียและปากีสถาน สถานะที่แท้จริงกับสถานะที่ควรเป็นและสถานะที่เป็นอยู่ เรื่องราวของการต่อสู้และความทุกข์ยากของผู้ลี้ภัยพลัดถิ่นฐาน เป็นต้น

 

ด้วยเหตุนี้เอง ปากีสถานจึงกำหนดให้มีวันแคชเมียร์ขึ้นมาในทุกๆ วันที่ 5 ของเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อรำลึกและย้ำเตือนถึงเรื่องราวของชาวแคชเมียร์ 

 

ย้อนกลับช่วงปี 1947 ที่มีการแบ่งแยกประเทศออกเป็นอินเดียและปากีสถานได้เกิดสงครามระหว่างกันขึ้น โดยมีชนวนเหตุสำคัญมาจากเรื่องการอ้างสิทธิเหนือดินแดนแคชเมียร์ จนกระทั่งปัญหานี้ถูกนำเข้าพิจารณาโดยสหประชาชาติ ซึ่งมีมติให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิง (Ceasefire Line) และให้ถอยกำลังของตนออกจากเส้นดังกล่าว โดยสหประชาชาติเป็นผู้เข้ามาควบคุม 

 

ต่อมาแนวเส้นนี้กลายเป็นแนวเส้นที่เรียกว่าแนวเส้นควบคุม (Line of Control) ซึ่งกลายเป็นพรมแดนโดยพฤตินัยของทั้งสองประเทศ อีกมติที่สำคัญคือ ให้มีการจัดประชามติให้คนแคชเมียร์ได้เลือกว่าจะอยู่กับอินเดียหรือปากีสถาน เพื่อให้สิทธิในการกำหนดใจตนเองของชาวแคชเมียร์ (Self-Determination) 

 

ทั้งอินเดียและปากีสถานในตอนนั้นต่างยอมรับมติดังกล่าว แต่จนถึงขณะนี้การทำประชามติก็ยังไม่เคยเกิดขึ้นเลย เราจึงเห็นแคชเมียร์ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ แคชเมียร์ที่อยู่ในฝั่งอินเดีย หรือแคว้นจัมมูและกัศมีร์ ซึ่งปากีสถานจะมองว่าอินเดียยึดครองดินแดนนี้โดยไม่ชอบธรรม โดยปากีสถานมักจะเรียกแคชเมียร์ในส่วนนี้ว่าเป็น ‘Indian Illegally Occupied Jammu amd Kashmir’ หรือจัมมูและแคชเมียร์ที่อินเดียยึดครองอย่างผิดกฎหมาย อินเดียก็จะเรียกแคชเมียร์ฝั่งปากีถานในลักษณะเดียวกัน แคชเมียร์ในฝั่งปากีสถานเรียกว่าอาซาดแคชเมียร์ หรือ ‘แคชเมียร์อิสระ’  

 

หนึ่งในประเด็นที่มีการถกเถียง โต้แย้ง และต่อสู้กันมาโดยตลอด คือสถานะของแคชเมียร์ ซึ่งตามมติสหประชาติแล้วจะต้องจัดให้มีการทำประชามติให้คนแคชเมียร์ได้ตัดสินใจกำหนดเลือกว่าจะอยู่กับอินเดียหรือปากีสถาน แต่เมื่อการทำประชามติไม่เคยเกิดขึ้น จึงนำไปสู้การต่อสู้เรียกร้องสิทธิในการกำหนดใจตนเองของชาวแคชเมียร์ โดยในแคชเมียร์ฝั่งอินเดียนั้นอินเดียยืนยันว่าด้วยกระบวนการภายในและการจัดให้มีการเลือกตั้งตัวแทนของชาวแคชเมียร์ในพื้นที่ ตลอดจนสิทธิในการปกครองตนเองที่พิเศษกว่ารัฐอื่นๆ จึงไม่จำเป็นต้องมีการทำประชามติอีกต่อไป แต่ปากีสถานยืนยันว่ากระบวนการดังกล่าวไม่มีความชอบธรรมทั้งในแง่กฎหมายระหว่างประเทศและขัดกับมติสหประชาชาติ รวมทั้งสิทธิในการกำหนดใจตนเอง เราจึงเห็นการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิดังกล่าวของคนในแคชเมียร์ ไม่ว่าจะในวิถีทางการเมือง หรือในขณะเดียวกันก็มีบางกลุ่มติดอาวุธใช้กำลังต่อสู้ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่หลังการเลือกตั้งทั่วไปในแคชเมียร์ปี 1987 ที่อินเดียส่งทหารเข้าไปในพื้นที่จำนวนมาก จนเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนมากมาย 

 

เมื่อปี 2019 อินเดียได้ยกเลิกมาตรา 370 และ 35a ในรัฐธรรมนูญอินเดีย ซึ่งเป็นมาตราที่ให้สิทธิในการปกครองตนเองกับชาวแคชเมียร์หรือมีรัฐบาลท้องถิ่นของตัวเอง โดยอินเดียปรับสถานะของแคชเมียร์ใหม่เป็นดินแดนสหภาพ หรือ Union Territory ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลกลางอินเดียโดยสมบูรณ์ โดยอ้างเหตุผลเรื่องการก่อการร้ายและเหตุผลเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การปรับสถานะดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับชาวแคชเมียร์และปากีสถานเป็นอย่างมาก 

 

ที่ผ่านมานโยบายของอินเดียคือพยายามทำให้ประเด็นข้อพิพาทแคชเมียร์เป็นเรื่องภายใน หรือไม่ก็เป็นประเด็นปัญหาทวิภาคีกับปากีสถานเท่านั้น ไม่ต้องการให้เป็นปัญหาสากล หรือไม่ต้องการให้ฝ่ายที่ 3 หรือแม้แต่มหาอำนาจและสหประชาชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ปากีสถานยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสากลที่จะต้องปฏิบัติตามมติสหประชาชาติและจัดให้มีการทำประชามติ อีกทั้งมองว่าอินเดียได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวแคชเมียร์อย่างร้ายแรงมาต่อเนื่อง ดังนั้นเราจึงเห็นว่าในความขัดแย้งที่ยาวนานนี้ อินเดียไม่ต้องการให้เป็นเรื่องสากล แต่ปากีสถานพยายามยกเรื่องนี้สู่เวทีการพูดคุยระดับสากลในสหประชาชาติ และเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ สนับสนุนชาวแคชเมียร์ 

 

ด้วยเหตุนี้เองปากีสถานจึงกำหนดให้วันที่ 5 กุมภาพันธ์ เป็นวันแห่งการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับชาวแคชเมียร์ หรือ Kashmir Solidarity Day โดยให้เป็นวันหยุดราชการด้วย เพื่อรำลึกและให้กำลังใจชาวแคชเมียร์ ตลอดจนเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อแคชเมียร์ทั่วทุกมุมโลก โดยสถานทูตปากีสถานทั่วโลกจะจัดให้มีกิจกรรมการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในโอกาสวันสำคัญนี้ของทุกปี เพื่อแสดงให้เห็นว่าปากีสถานสนับสนุนชาวแคชเมียร์และเป็นหนึ่งเดียวกับชาวแคชเมียร์ในฝั่งอินเดีย สนับสนุนการเคลื่อนไหวในการต่อสู้แยกดินแดน อีกทั้งยังมีวัตถุประสงค์สำคัญคือการแสดงความเคารพต่อชาวแคชเมียร์ที่เสียชีวิตจากความขัดแย้งนี้ 

 

ผู้ที่เสนอแนวคิดให้มีการกำหนดวันแคชเมียร์ขึ้นมาเป็นคนแรกคือ กาซี ฮุสเซน อาห์หมัด ผู้นำพรรคการเมือง Jamaat -e- Islami Pakistan ซึ่งเป็นพรรคการเมืองนิยมแนวทางอิสลาม ฮุสเซน อาหมัด เสนอในปี 1990 ซึ่งต่อมาในปี 1991 นายกรัฐมนตรีขณะนั้นคือ นาวาซ ชารีฟ ก็สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว โดยใช้คำว่าวัน Kashmir Solidarity Day Strike ตอนนั้นนายกฯ ชารีฟ ต้องการกระตุ้นให้ชาวปากีสถานแสดงจุดร่วมกันทั้งประเทศในการต่อต้านทหารอินเดียที่ยึดครองแคชเมียร์ ชารีฟเรียกร้องให้ชาวปากีสถานทั้งประเทศขอพรต่อพระเจ้าให้แคชเมียร์ได้รับเอกราช

 

นอกจากสถานทูตปากีสถานจะรณรงค์ให้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับวัน Kashmir Solidarity Day แล้ว ในปากีสถานเอง โดยเฉพาะในเขตอาซาดแคชเมียร์จะมีการชุมนุมใหญ่เช่นกัน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นพี่น้องกับชาวแคชเมียร์ทั้งสองฝั่ง ในอังกฤษก็มีการชุมนุมใหญ่เช่นกัน ซึ่งเป็นประจำของชุมชนชาวแคชเมียร์ที่อาศัยอยู่ในอังกฤษ เรียกว่า Mirpuri Kashmiri ซึ่งมีเชื้อสายแคชเมียร์จากเมืองมีร์ปูร์ในอาซาดแคชเมียร์ 

 

ในสหรัฐอเมริกา ปี 2021 สภานิวยอร์กมีมติเสนอไปถึงผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก เพื่อขอให้กำหนด ‘วันแคชเมียร์อเมริกัน’ หรือ Kashmir American Day มติดังกล่าวแสดงถึงการยอมรับชุมชนแคชเมียร์ในนิวยอร์ก และเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการนับถือศาสนา

 

ที่ผ่านมาวันแคชเมียร์อาจไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แม้หลายคนจะรู้ดีว่าแคชเมียร์เป็นดินแดนพิพาทระหว่างอินเดียกับปากีสถาน แต่ปัจจุบันวันแคชเมียร์กำลังถูกผลักดันมากขึ้นเรื่อยๆ ในระดับสากล 

 

ภาพ: Visual News / Getty Images

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising