จากกรณีที่มีข่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ หรือ FDA ได้ประกาศห้ามนำเข้าน้ำปลาจากประเทศไทย จนอาจสร้างผลกระทบต่อร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ ที่จำเป็นต้องใช้น้ำปลาเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารนั้น
ล่าสุด นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการเตรียมหลักฐานเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของทางสหรัฐฯ ไม่ใช่ประเด็นการตรวจพบความไม่ปลอดภัยของน้ำปลาจากประเทศไทย ซึ่งทาง อย. จะเชิญผู้ประกอบการตามที่เป็นข่าวมาหารือและชี้แจงในประเด็นดังกล่าว พร้อมเข้าตรวจสอบกระบวนการผลิตของโรงงานน้ำปลา และจะเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำความเข้าใจกับ FDA สหรัฐฯ เรื่องความปลอดภัยในกระบวนการผลิตน้ำปลาของประเทศไทยต่อไป
นอกจากนี้ อย. ยังชี้แจงเพิ่มเติมว่าที่ผ่านมา อย. ได้กำกับดูแลการผลิตน้ำปลาในประเทศไทยทั้งก่อนจำหน่าย และหลังจำหน่ายสู่ท้องตลาดอย่างเข้มงวด โดยสถานที่ผลิตต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (มาตรฐาน GMP) ซึ่งมีข้อกำหนดเรื่องการควบคุมกระบวนการผลิต ตั้งแต่การรับวัตถุดิบ การควบคุมกระบวนการผลิต การบรรจุ และการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ รวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำปลาที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยจะต้องมีคุณภาพ มาตรฐานเป็นไปตามประกาศกระทรวงว่าด้วยเรื่องน้ำปลา โดยต้องไม่พบจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค และสารพิษจากเชื้อแบคทีเรียคลอสทริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum)
ทั้งนี้ เมื่อปี 2560 กระทรวงสาธารณสุขโดย อย. และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตรวจสอบการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียคลอสทริเดียม โบทูลินัม และสารพิษโบทูลินัม ในตัวอย่างน้ำปลา รวม 48 ตัวอย่าง ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ไม่พบทั้งสารพิษโบทูลินัมและเชื้อแบคทีเรียคลอสทริเดียม โบทูลินัม ในน้ำปลาทุกตัวอย่าง จึงขอให้ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยของน้ำปลาที่ผลิตจากผู้ผลิตในประเทศไทย
หลังจากนี้ อย. จะทบทวนมาตรฐานน้ำปลาทั้งในเรื่องมาตรฐานจุลินทรีย์ สารปนเปื้อนบางชนิด และมาตรฐานอื่นๆ ผ่านคณะทำงานวิชาการ เพื่อให้ปรับปรุงข้อกำหนดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งขึ้น และยินดีให้ความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนให้น้ำปลาไทยสามารถส่งออกและสามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศต่อไปได้
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: