Giovanna Battaglia Engelbert สไตลิสต์และอินฟลูเอนเซอร์
Photo: Imaxtree
ทีมงานนิตยสาร Vogue อเมริกาที่แฟชั่นวีก
Photo: Imaxtree
History 101
ตามหลักสากลแล้ว ‘แฟชั่นวีก’ ถ้าแปลตรงตัวก็คือ ราวหนึ่งสัปดาห์ในแต่ละเมืองที่มีการแฟชั่นโชว์และ Presentation ต่างๆ เพื่อให้แบรนด์ได้นำเสนอผลงานคอลเล็กชันใหม่ที่จะเข้าร้านอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยตามประเพณีดั้งเดิม สื่อแฟชั่นจะมาชมผลงานเพื่อวิเคราะห์เทรนด์ต่างๆ และเลือกเสื้อผ้าที่อยากถ่ายแบบหรือเขียนลงนิตยสาร ส่วนบายเออร์ของแบรนด์ ร้านค้ามัลติแบรนด์สโตร์ หรือห้างสรรพสินค้า ก็จะมาเพื่อสั่งไอเท็มที่จะนำไปขายในร้านอีก 6 เดือนต่อไป
ทุกวันนี้มี 4 เมืองหลักที่เรียกว่า ‘The Big Four’ ที่มีการจัดแฟชั่นวีกระดับโลก เริ่มด้วยนิวยอร์กที่เป็นต้นกำเนิด ‘แฟชั่นวีก’ ตั้งแต่ปี 1943 ซึ่งจัดโดย Eleanor Lambert พีอาร์สาวคนเก่งที่ริเริ่มงานมหกรรม Met Gala โดยเหตุผลที่จัดแฟชั่นวีกครั้งแรก เพราะฝั่งยุโรปในช่วงนั้นกำลังเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง และสื่ออเมริกันไม่สามารถเดินทางไปชมผลงานดีไซเนอร์ที่ตอนนั้นจัดโชว์ตามห้องเสื้อต่างๆ (ยังไม่นับเป็นแฟชั่นวีก) ซึ่งต่อมา ‘Milan Fashion Week’ ก็เกิดขึ้นในปี 1958 ภายใต้การดูแลของหน่วยงาน National Chamber of Italian Fashion, ‘Paris Fashion Week’ ในปี 1973 จัดโดยหน่วยงาน Fédération française de la couture และปิดท้ายด้วย ‘London Fashion Week’ ที่เริ่มจัดในปี 1983 โดย British Fashion Council
New York Fashion Week ในปี 2000
Photo: Stan Honda / AFP
ช่างภาพที่โชว์ Issey Miyake Fall/Winter 2019 ที่ปารีส
Photo: Francois Guillot / AFP
ในทุกปี แฟชั่นวีกใน 4 เมืองหลักจะเน้นเสื้อผ้าสำเร็จรูป Ready-to-Wear หรือภาษาฝรั่งเศสที่ว่า prêt-à-porter ของผู้หญิง 2 ครั้ง ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม และกุมภาพันธ์-มีนาคม ส่วนของผู้ชายอีก 2 ครั้ง ในช่วงเดือนมกราคมและมิถุนายน ส่วนแฟชั่นวีกเสื้อผ้ากูตูร์ก็จะมีอีก 2 ครั้งหลังสัปดาห์เสื้อผ้าผู้ชายจบลงที่ปารีส โดยปารีสก็ยังถือว่าเป็นเมืองที่มีคนไปร่วมงานมากสุด เพราะเป็นศูนย์กลางของมหาอำนาจแบรนด์ระดับโลก ทั้งยังเป็นที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างความคิดสร้างสรรค์และเชิงพาณิชย์อย่างลงตัว โดยทุกซีซันจะมีสื่อมวลชนราว 2,000 คน บายเออร์ 800 คน และช่างภาพ 400 ซึ่งยังไม่รวมถึงส่วนของดารา อินฟลูเอนเซอร์ นางแบบ นายแบบ และทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังตั้งแต่คนก่อสร้างฉาก ดูแลคิว พีอาร์ จนถึงช่างแต่งหน้าและทำผม
ตั้งแต่ช่วงแรกที่มีการจัดแฟชั่นวีกจนถึงปลายยุค 90s งานก็ถือว่ามีความเอ็กซ์คลูซีฟอย่างแท้จริง เพราะแทบไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปมีส่วนร่วม หรือได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละโชว์ มากสุดที่คุณจะเห็นก็คือภาพถ่ายในหนังสือพิมพ์, ฟุตเทจในรายการทีวีเฉพาะทางอย่าง Videofashion หรือ Fashion File ของประเทศแคนาดาที่นักวิจารณ์แฟชั่น Tim Blanks เป็นพิธีกร, งานแจกรางวัล VH1/Vogue Fashion Awards หรือได้เห็นภาพในนิตยสารแฟชั่นที่จะตีพิมพ์หลายเดือนต่อมาช่วงเวลาเดียวกันพอเสื้อผ้าเข้าร้าน
Entering New Millennium
แต่พอเข้าสหัสวรรษใหม่ บทบาทของ ‘แฟชั่นวีก’ ก็เริ่มมีพัฒนาการและแทรกซึมในสารบบของวงการบันเทิงมากขึ้น อาทิ ซีรีส์ดังอย่าง Sex and the City ก็ได้ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้คนได้เริ่มเข้าใจและเห็นว่าแฟชั่นวีกคืออะไร โดยตัวละคร Carrie Bradshaw เคยพูดวลีเด็ดว่า “ทุกปีผู้หญิงของนิวยอร์กลืมเรื่องราวในอดีตและตื่นเต้นที่จะมองไปข้างหน้า ซึ่งนั่นก็คือแฟชั่นวีก” และต่อมาก็มีรายการเรียลิตี้โชว์อย่าง The Hills, The City และ Project Runway ที่ต่างช่วยสะท้อนแง่มุมต่างๆ และปรุงรสชาติเกี่ยวกับแฟชั่นวีก
แต่ในความคิดผม สิ่งที่เป็นจุดชี้ชวนให้แฟชั่นวีกกลายเป็นอีเวนต์ที่คนทั่วไปเริ่มใฝ่ฝันถึงก็ต้องเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Devil Wears Prada (2006) กับฉากที่นางเอก Andrea Sachs ได้ไปสัมผัสปารีสแฟชั่นวีกครั้งแรกในฐานะเลขาของหัวหน้า Miranda Priestly บรรณาธิการนิตยสาร Runway โดยต่อมาก็มีสารคดี The September Issue (2009) ที่ติดตามการทำงานของนิตยสาร Vogue อเมริกา ก็สะท้อนแฟชั่นวีกได้อย่างแยบยล และผลักดันให้เป็นอีเวนต์ระดับโลกที่คนต้องรู้จักและอยากเป็นส่วนหนึ่งมากขึ้นไปอีก
ช่างภาพสตรีทสไตล์ระดับตำนาน Bill Cunningham
Photo: Lukas Maverick Greyson / Shutterstock
Bryan Grey Yambo
Blogging Culture
พอ The Devil Wears Prada และ The September Issue ได้รับความนิยมอย่างถล่มทลาย ก็เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่อินเทอร์เน็ตเริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับวงการแฟชั่น ซึ่งก็เป็น Domino Effect ทำให้วัฒนธรรม ‘บล็อกเกอร์’ ได้เกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นบุคคลธรรมดาที่มีความรู้และหลงใหลในวงการแฟชั่นเริ่มมาทำบล็อกของตัวเอง และเขียนถึงแฟชั่นในสำนวนแบบเป็นกันเอง พร้อมโชว์ลุคเสื้อผ้าในแต่ละวันของตัวเอง เช่น Tavi Gevinson, Susie Lau, Garance Dore และ Bryan Grey Yambo หรือที่รู้จักกันในนาม Bryan Boy ซึ่งดีไซเนอร์ Marc Jacobs ก็สร้างความฮือฮา ตั้งชื่อกระเป๋าหนังนกกระจอกเทศในคอลเล็กชัน Fall/Winter 2008 ว่า ‘BB’ หลังจาก Bryan ได้เขียนบนบล็อกตัวเองว่าชอบรุ่นนี้มาก
จากนั้นมาเราก็ได้เห็นกลุ่มบล็อกเกอร์ไปนั่งแถวหน้าตามแฟชั่นวีกต่างๆ ถึงแม้จะสร้างความไม่พอใจให้กับบรรณาธิการแฟชั่นบางคนที่อยู่มานานและอยู่ในอารมณ์ที่ว่า “คนพวกนี้มาจากไหน?! ฉันทำงานมาทั้งชีวิตเพื่อจะได้นั่งแถวหน้านะ” แต่ Kelly Cutrone พีอาร์หญิงที่เคยเป็นกรรมการรายการ American’s Next Top Model ก็เคยบอกกับ Racked.com ถึงการเปลี่ยนแปลงของการมีบล็อกเกอร์มาแฟชั่นวีกว่า “สำหรับฉันในฐานะพีอาร์คนหนึ่ง ฉันควรต้องสนใจไหมว่ามีเด็กคนหนึ่งกำลังเขียนบล็อกอยู่ที่โอคลาโฮมาเทียบเท่ากับบรรณาธิการจาก Vogue แน่นอนค่ะ เพราะสิ่งที่คนพวกนี้เขียนบนอินเทอร์เน็ตมันจะไม่มีวันหายไป และมันก็จะเป็นสิ่งแรกที่เหล่าดีไซเนอร์ได้เห็น”
นอกเหนือจากนั้น วัฒนธรรมบล็อกเกอร์ก็ช่วยให้คอนเทนต์ ‘Street Style’ ถูกทวีคูณและกลายเป็นเหมือนอีกปัจจัยหนึ่งของแฟชั่นวีกจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งถึงแม้การถ่ายสตรีทสไตล์เกิดขึ้นมานานตั้งแต่ยุค 70s กับช่างภาพสตรีทระดับตำนานอย่าง Bill Cunningham ในคอลัมน์ ‘On the Street’ หนังสือพิมพ์ The New York Times แต่มาสมัยนี้ก็มีช่างภาพสตรีทเป็นร้อยๆ อยู่หน้าโชว์ต่างๆ ของแฟชั่นวีกเพื่อรอแชะภาพคนที่มาดูโชว์ หรือที่ตลกกว่าคือมีบางคนอาจไม่มีตั๋วเข้างานด้วยซ้ำ แต่แต่งตัวแบบสุดโต่งและประโคมทุกอย่างที่หามาได้ในตู้เสื้อผ้าเพื่อให้ตัวเองถูกถ่ายรูป และหวังว่าต่อมาแบรนด์จะสนใจเชิญให้มาดูโชว์ในครั้งต่อไป หรือในวันนั้นเลยหากมีที่เหลือ
จอ Livestream ที่ Piccadilly Circus ในลอนดอน
Alexander McQueen ‘Plato’s’ Atlantis Spring/Summer 2010
Watch The Live Stream
มากไปกว่านั้น ช่วงยุคต้น 2008-2009 ที่บล็อกเกอร์เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในช่วงแฟชั่นวีก เหล่าแบรนด์แฟชั่นก็เริ่มทำ Livestream แฟชั่นโชว์ให้คนทั่วโลกได้ดูอย่างจริงจัง โดยโชว์ที่ถือว่าสร้างบรรทัดฐานใหม่และปฏิวัติแฟชั่นวีกให้เขากับเทคโนโลยีนี้ก็ต้องยกให้คอลเล็กชัน Spring/Summer 2010 ของ Alexander McQueen ที่ใช้ชื่อว่า Plato’s Atlantis ซึ่งเป็นรันเวย์เสื้อผ้าผู้หญิงครั้งสุดท้ายของเขาก่อนฆ่าตัวตาย ซึ่งโชว์นี้ถูก Livestream ผ่านเว็บไซต์ Showstudio และ Lady Gaga ก็ได้พรีเมียร์ซิงเกิลใหม่ Bad Romance อีกด้วย โดยภายใน 17 กว่านาทีของโชว์นี้ การทำ Livestream ก็ช่วยสร้าง ‘ประสบการณ์’ ใหม่ไปยังฐานผู้ชมและลูกค้าของแบรนด์ได้ดี ซึ่งสำคัญมากในการฟอร์ม ‘Digital Relationship’ ในยุคที่ว่าการตัดสินใจลงทุนซื้อสินค้าแฟชั่น หรือแค่สนใจเรื่องราวแฟชั่นมาจากช่องทางของมือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์เป็นหลัก แถม ‘กระแส’ และ Media Value ที่ได้มาจากโชว์ผ่านการ Livestream และการแชร์ผ่านโซเชียลก็ถือว่ามหาศาล
ส่วนแบรนด์ Burberry ก็เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์สำคัญในด้านการ Livestream เพราะในปี 2010 Burberry นับเป็นแบรนด์แรกของโลกที่มีการสตรีมรูปแบบสามมิติและฉายไปยัง 5 เมืองใหญ่รอบโลก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือลอนดอน บ้านเกิดของแบรนด์ที่ฉายยังจอยักษ์ตรง Picadilly Circus ที่มีผู้ชมมากกว่า 1.2 ล้านคนทุกอาทิตย์ และพอโชว์จบลงก็มีการให้จองสินค้าทันที
ก่อนที่ในปี 2016 แบรนด์จะก้าวไปอีกขั้นด้วยการจัดรันเวย์และขายสินค้าให้เป็นแบบ see now, buy now ที่สินค้าจะจัดจำหน่ายที่ร้าน Burberry ทุกสาขาในวันถัดมาหลังจบโชว์ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ไม่อยากรอ 6 เดือนกว่าสินค้าจะเข้าร้านเหมือนแต่ก่อน ซึ่งก็พลิกเกมและหลักการของแฟชั่นวีก โดยสื่อและบายเออร์จะได้เห็นคอลเล็กชันก่อน 2 เดือน แต่ต้องเซ็นสัญญาห้ามนำภาพไปเผยแพร่เด็ดขาด แต่ช่วงหลัง Burberry ก็ได้ปรับโครงสร้างและมีสินค้าเพียงบางชิ้นที่ขายเลยแบบ see now, buy now
Eva Chen แห่ง Instagram
Photo: eversummerphoto / Shutterstock
คนดูกำลังถ่ายวิดีโอแฟชั่นโชว์ Moncler
Photo: Imaxtree
มีบล็อกเกอร์แล้ว, มีคอนเทนต์ Street Style บนเว็บไซต์ต่างๆ แล้ว, มีการถ่ายทอดสดผ่าน Livestream แล้ว… แฟชั่นวีกต้องการอะไรเพื่อก้าวไปไกลกว่าเดิม และก็ Disrupt มากกว่าเดิมเช่นกัน คำตอบนั้นคือ ‘Instagram’
ถึงแม้แอปพลิเคชันนี้จะเปิดตัวตั้งแต่ปี 2010 และเป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่นวีกมาโดยตลอด แต่ราวปี 2015 ตอน Eva Chen อดีตบรรณาธิการนิตสาร Lucky ได้เข้ามาทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายแฟชั่นของ Instagram เราก็ได้เห็นแอปฯ นี้วิวัฒนาการตัวเองกลายเป็นแพลตฟอร์มคอนเทนต์เบอร์หนึ่งในช่วงแฟชั่นวีก และกลายเป็นเครื่องมือทางการตลาด ทั้งเป็นแหล่งสร้างรายได้ของเหล่าบล็อกเกอร์ ที่หลายคนเหมือนเปลี่ยนตัวเองมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์แทนโดยใช้ Instagram เป็นหลัก เพราะวัฒนธรรมการอ่านบล็อกแฟชั่นก็ดูไม่เกิดแล้ว ซึ่งผมเชื่อว่าแม้อินฟลูเอนเซอร์ดังอย่าง Chiara Ferrangni จะมีเว็บไซต์ The Blonde Salad หรือ Aimee Song มีเว็บไซต์ Song of Style เป็นของตัวเองพร้อมทีมงานมากมาย แต่คอนเทนต์ที่โพสต์ใน Instagram ก็น่าจะสร้าง Traffic และเอ็นเกจเมนต์มากกว่า เพราะคนเราไม่อยากเสียเวลาไปเปิด Chrome หรือ Safari เพื่อเข้าเว็บไซต์แต่ละคน แต่อยากอ่านผ่าน Feed Instagram ตัวเองที่คัดสรรมาแล้วว่าเราอยากฟอลโลว์ใคร
https://www.instagram.com/p/BuE3DlNlkk5/?utm_source=ig_share_sheet&igshid=lfi9219ti56w
Paid Partnerships
นอกเหนือจาก Instagram จะเป็นเหมือนศูนย์กลางของการเสพคอนเทนต์ช่วงแฟชั่นวีกแล้ว แต่เหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์ก็ได้สร้างรายได้จากแพลตฟอร์มนี้ในทางที่ต่างกัน ตั้งแต่การบาร์เทอร์กับโรงแรมหรูเพื่ออยู่ฟรีตลอดสัปดาห์แฟชั่นวีก พร้อมลงรูปหรือทำวิดีโอทัวร์ห้องให้, แบรนด์ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ไปดูโชว์และใส่ชุดของแบรนด์ พร้อมลงรูปให้, แบรนด์จ้างให้อินฟลูเอนเซอร์เทกโอเวอร์ตัว Instagram Story ตลอดวันของโชว์, แบรนด์จ่ายเงินให้ใส่เสื้อผ้าหรือใช้แอ็กเซสซอรีตอนไปดูรันเวย์, แบรนด์จ่ายให้ลงรูปสินค้าใน Feed หรือ Instagram Story พร้อมมีลิงก์สินค้า หรือตัวอินฟลูเอนเซอร์เองก็อยู่ในแคมเปญของแบรนด์ ซึ่งการมาดูโชว์ก็เป็นส่วนหนึ่งของดีลของตกลง โดย Bryan Boy เคยบอกกับทางรายการ CBS Sunday Morning ว่า ค่าตัวอยู่ที่ 6 หลัก (เหรียญสหรัฐ) ต่อครั้ง แต่จำนวนราคาแน่ชัดไม่เคยมีการเปิดเผย และอินฟลูเอนเซอร์ระดับท็อปก็จะมีเอเจนซีเป็นตัวแทนหารายได้ให้
แต่! อย่าได้คิดว่ามีแค่อินฟลูเอนเซอร์ทำงาน ‘Paid Partnership’ อย่างเดียว เพราะตัวนิตยสารหัวสำคัญก็เริ่มทำเช่นกันเพื่อช่วยลดต้นทุนและงบประมาณของการต้องขนทั้งทีมไปแฟชั่นวีกในแต่ละเมือง อย่างเช่น นิตยสาร British Vogue ก็จะให้ทีมงาน รวมถึงบรรณาธิการบริหาร Edward Enninful อยู่โรงแรม Hôtel de Crillion ในเครือ Rosewood พร้อมมีการลงรูปขอบคุณตอนปารีสแฟชั่นวีกจบ หรือช่วงลอนดอนแฟชั่นวีกก็มีการทำดีลกับ Mercedes Benz ให้ทีมงานได้ใช้รถเพื่อเดินทางระหว่างโชว์ ซึ่งก็ช่วยประหยัดด้านการเดินทางไปเยอะ หรือแม้แต่ใน Instagram Story ของ British Vogue เอง สำหรับแบรนด์ไหนที่อยากให้ลงรูปหรือวิดีโอมากกว่า 1 อัน ก็สามารถจ่ายเงินเพื่อได้พื้นที่เพิ่ม ซึ่งนอกเหนือจากนั้น ล่าสุด Business of Fashion ก็ได้เผยว่า ในแอปฯ Vogue Runway ของ Conde Nast ก็ได้เริ่มคิดเงินสูงถึง 20,000 เหรียญสหรัฐต่อปี สำหรับแบรนด์ใหม่ที่อยากลงคอลเล็กชันในแอปฯ และเว็บไซต์ที่เคลมว่ามีคนคลิกเข้ามาดูที่มีราว 2.5 ล้าน Unique Visitor ช่วงแฟชั่นวีกทุกซีซัน
Bella Hadid เดินโชว์ Off-White Fall/Winter 2019
Photo: Philippe Lopez / AFP
Anna Wintour
Photo: eversummerphoto / Shutterstock
Current Status
หนึ่งในคำถามที่มักเกิดขึ้นคือ “แฟชั่นวีกจะตายไหมในยุค Disruption” ซึ่งผมเชื่อว่าไม่แน่นอน แต่แค่ว่าบริบทและโครงสร้างของมันได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง และได้กลายเป็นมหกรรมด้านแบรนดิ้งและมาร์เก็ตติ้งเพื่อให้ทั้งโลกได้เห็น โดยจากเมื่อก่อนหนึ่งโชว์จะมีแต่บรรณาธิการและบายเออร์เป็นหลัก แต่มาวันนี้แต่ละแบรนด์ก็ต้องแบ่งสัดส่วนฟรอนต์โรว์ให้กับอินฟลูเอนเซอร์ ดารา และสไตลิสต์ดาราฮอลลีวูดด้วย ส่วนเหล่าบรรณาธิการบริหารของนิตยสารหัวสำคัญก็จะถูกแบ่งตามภูมิภาคที่จะได้นั่งแถวหน้าเกือบหมด แต่หากเป็นตำแหน่งรองลงมาก็มีสิทธิ์จะอยู่แถว 2, 3, 4 หรือยืน (หรือไม่ได้ตั๋วเข้าเลย) ยกเว้นแต่นิตยสาร Vogue อเมริกา ที่แบรนด์ส่วนใหญ่จะให้ที่แถวหน้าเพิ่มเป็น 4-5 ที่เพื่อให้ดูยิ่งใหญ่เป็นเหมือนฐานทัพรอบๆ ตัว Anna Wintour ราชินีหนึ่งเดียวของแฟชั่นวีก ที่มักจะได้ไปพรีวิวดูคอลเล็กชันก่อนใครวันหนึ่งก่อนหรือข้างหลังเวทีก่อนโชว์
ส่วนด้านคอนเทนต์ จากเมื่อก่อนที่แต่ละนิตยสารมีเวลาเป็นเดือนๆ ที่จะถ่ายแบบและคิดการนำเสนอเทรนด์เพื่อเป็นผู้นำทาง ก็ต้องเจอความแปรปรวนตรงที่อำนาจและอิทธิพลของตัวเองได้ถูกถ่ายเทไปสู่อินฟลูเอนเซอร์หลายเปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่ต้องทำกลับเป็นการสร้างคอนเทนต์ที่เร็วและดูเอ็กซ์คลูซีฟอย่างเช่น Vogue อเมริกา จะมีการทำวิดีโอถ่ายแบบสนุกๆ หลังปารีสแฟชั่นวีกจบทันที พร้อมเสื้อผ้าคอลเล็กชันใหม่ที่สื่ออื่นยังไม่สามารถนำไปใช้ได้ ส่วน Anna Wintour ก็จะทำวิดีโอวิเคราะห์เทรนด์พอจบแต่ละเมือง ส่วนด้านประเทศไทยเอง เราก็เห็นการที่แต่ละนิตยสารจะชอบทำโปรเจกต์ให้ดาราไปดูโชว์ที่แฟชั่นวีก พร้อมทำวิดีโอพิเศษ หรือไปถ่ายแบบเพื่อลงเล่ม ซึ่งก็ช่วยสร้างเอ็นเกจเมนต์แตกต่างกันออกไป ซึ่งเหมาะกับตลาดบ้านเราที่ดาราถือว่าเป็นอินฟลูเอนเซอร์คนสำคัญ
รายการ CBS Sunday Morning
ปิดท้ายด้วยตัวแบรนด์เองที่จะจัดโชว์ช่วงแฟชั่นวีกก็ต่างต้องคิดว่าจะใช้กลยุทธ์อะไรในยุคสมัยนี้เพื่อเป็นที่พูดถึง แต่เพราะแฟชั่นวีกสมัยนี้ถูก Democratized และเปิดกว้างในยุคออนไลน์ที่ทุกคนสามารถคอมเมนต์แบบเรียลไทม์ แต่ละดีไซเนอร์ก็ต้องรอบคอบในทุกสัดส่วน เพราะถ้าทำอะไรพลาดก็เตรียมโดนเพจอย่าง Diet Prada จับผิดและคนมาวิจารณ์ไม่หยุด แถมสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ เราจะใช้แฟชั่นวีกเพื่อจุดประสงค์อะไร อย่างเช่นแบรนด์ที่ดูเหมือนมีงบไม่จำกัดอย่าง Chanel, Dior, Saint Laurent หรือ Louis Vuitton ก็จะเน้นการสร้างฉากที่มีความ Instagram Friendly และคนต้องอัพรูปกันรัวๆ ในนาทีที่เดินเข้าสถานที่จัดงาน พร้อมมีนางแบบ Insta-Girls มาเดินอย่าง Kendall Jenner, Kaia Gerber, Gigi Hadid หรือ Bella Hadid ที่มาพร้อมฐานแฟนคลับ และมั่นใจต้องมีคอนเทนต์เกี่ยวกับพวกเธอ ส่วนแบรนด์น้องใหม่ที่งบน้อยกว่าหลายเท่า ก็ต้องสรรหาวิธีการทำโชว์ที่จะสร้างความฮือฮา ทั้งในเชิงของสถานที่จัดหรือคนที่มาเดินแบบให้ในโชว์ อย่างเช่นซีซันแรกๆ ที่ Vetements จัดโชว์ที่เซ็กซ์คลับในปารีสชื่อ Le Depot ที่ก็กลายเป็นที่พูดถึงชั่วข้ามคืน
แต่เพราะวงการแฟชั่นเดินหน้าอย่างรวดเร็วจนฉุดไม่อยู่ เราก็คงได้แต่คาดเดาไปต่างๆ นานาว่าต่อไปแฟชั่นวีกจะเป็นอย่างไร เพราะถ้าให้พูดตามตรงก็เชื่อว่าหลายคนที่ไปเยือนแฟชั่นวีกมาหลายทศวรรษ ก็ไม่น่าจะคิดว่าเราจะเดินทางมาถึงจุดนี้ได้
แต่เราจะไปจุดไหนต่อไป สิ่งที่ยังสำคัญสุดก็คือเรื่องราวเสื้อผ้า เรื่องราวการตัดเย็บ เรื่องราวของแรงบันดาลใจ และเรื่องราวที่ทำให้แฟชั่นยังคงขับเคลื่อนสังคมที่เราอยู่ต่อไปได้ โดยไม่ใช้แค่เป็นเปลือกนอกเพื่อผลประโยชน์และชื่อเสียงตัวเอง เพราะถ้าต่อไปจะเป็นอย่างนั้นก็ไม่ต้องมีหรอก ‘แฟชั่นวีก’ แต่มี ‘Street Style วีก’ ก็พอ
ปารีสแฟชั่นวีก
Photo: Imaxtree
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- fashionweekonline.com/history-of-fashion-week
- www.racked.com/2015/5/27/8640369/personal-style-blog-history-tavi-gevinson-bryanboy-rumi-neely
- www.racked.com/2015/9/10/9279091/new-york-fashion-week-live-stream-shows
- www.thedailybeast.com/christopher-baileys-10-years-at-burberry-livestreams-burberry-body-and-more