สภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้นบวกกับแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ฉุดกำลังซื้อผู้บริโภค จนทำให้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน ไม่เว้นแม้แต่ ‘ฟาร์มเฮ้าส์’ ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมปังรายใหญ่ของไทย ที่ล่าสุดได้เผยผลประกอบการในไตรมาสแรกของปี 2568 รายได้และกำไรลดฮวบ
อภิเศรษฐ ธรรมมโนมัย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) ฉายภาพว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยจะดีมากนักบวกกับปัจจัยของอัตราเงินเฟ้อและหนี้ครัวเรือนมีผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค หลายคนเลือกประหยัดค่าใช้จ่ายเน้นซื้อสินค้าจำเป็นมากกว่าที่จะซื้อขนมปัง ทำให้สินค้าขนมปังมีการบริโภคน้อยลงเพราะผู้บริโภคมองว่าขนมปังเป็นกลุ่มเดียวกันกับขนมที่อาจไม่จำเป็นในยุคที่เงินในกระเป๋ามีจำกัด
“มิหนำซ้ำยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น แม้ในตลาดเบเกอรี่จะมีผู้เล่นแค่ไม่กี่ราย แต่หากสังเกตจะเห็นว่าแบรนด์คู่แข่งมีการลอนซ์สินค้าใหม่ ราคาเข้าถึงง่ายออกมาอย่างต่อเนื่อง บวกกับในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมาต้นทุนข้าวสาลีพุ่งสูงมากทำให้ต้องปรับขึ้นราคา แต่เมื่อต้นทุนลดลงเราก็ปรับราคาลงตามไปด้วย” อภิเศรษฐ ย้ำ
จากปัจจัยของความท้าทายดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อผลประกอบในไตรมาสแรกของปี 2568 บริษัทมีรายได้จากการขายอยู่ที่ 1,687.99 ล้านบาท ลดลง 117.74 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 341.51 ล้านบาท ลดลง 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
พร้อมย้ำถึงเหตุผลที่กำไรลด หลักๆ เป็นเพราะการแข่งขันกับภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งแต่ก่อนโควิดบริษัทจะโตมากสุดสองดิจิต แต่ตอนนี้ลดลงมาเหลือเพียงตัวเลขหลักเดียว
ทั้งหมดล้วนเป็นโจทย์หินที่ฟาร์มเฮ้าส์ต้องปรับตัวอย่างหนัก ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าทั้งหมด 120 รายการ โดยมีกลุ่มขนมปังชนิดแผ่นเป็นพอร์ตใหญ่สุด ที่ผ่านมามีการพัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด 10 รายการต่อปี
ถ้าสินค้าตัวไหนขายไม่ดีก็หยุด แล้วค่อยทำตัวใหม่ออกมาขาย พร้อมยังรักษาจุดแข็งของการเป็นสินค้าสดใหม่ ขนมปังมีระยะวันหมดอายุอยู่ที่ 6 วัน ส่วนขนมปังมีไส้อายุจะสั้นกว่า และปกติแล้วจะมีการเติมสินค้าในร้านสะดวกซื้อในทุกวันจันทร์ แล้วถ้าวันพุธถ้าขายไม่หมดก็จะเก็บกลับมา แล้วเติมสินค้ารอบใหม่เข้าไปแทน
สำหรับทิศทางการดำเนินงานในระยะเวลา 3 ปี ระหว่าง 2568-2570 บริษัทได้วางงบลงทุน 4,000 ล้านบาท เพื่อใช้สร้างโรงงานผลิตแป้งสาลี ควบคู่กับการสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ที่ลาดกระบัง และจะลงทุนซื้อรถขนส่งสินค้า EV เข้ามาเพิ่ม จากเดิมที่มีอยู่ 1,200 คัน และจะนำเข้าเครื่องจักรใหม่เข้ามา ซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตขนมปังได้ 6,000 แถวต่อชั่วโมงและเพิ่มกำลังการผลิตได้ 20%
เรียกได้ว่าการลงทุนครั้งนี้ถือเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับ Supply Chain และการมีโรงงานผลิตแป้งสาลีเป็นของตัวเองจะช่วยให้สามารถควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ และลดต้นทุนการผลิตได้ด้วย โดยคาดว่าโรงงานแป้งสาลีจะแล้วเสร็จในปี 2570
นอกจากนี้ฟาร์มเฮ้าส์ยังเดินหน้าขยายช่องทางขายผ่านตู้ขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ที่มีแนวโน้มเติบโตถึง 3 เท่าตัว ปัจจุบันมีอยู่ 500 ตู้ แต่ปีนี้จะขยายเพิ่มให้ได้ 1,000 ตู้ เน้นติดตั้งในพื้นที่โรงงาน โรงพยาบาล โรงเรียน และชุมชนเป็นหลัก และยังได้ขยายธุรกิจการส่งสินค้าประเภท Frozen Dough ให้กับโรงแรมต่างๆ ด้วยเช่นกัน โดยในปี 2568 ตั้งเป้ารายได้เติบโต 7-10%
อีกหนึ่งไฮไลต์ในปีนี้เตรียมหาลูกค้าใหม่ๆ ในงาน THAIFEX-Anuga Asia 2025 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-31 พฤษภาคม 2567 ที่อิมเเพค เมืองทองธานี โดยปีนี้เตรียมจัดบูธภายใต้คอนเซปต์ Step Into a Sustainable Future ก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืนไปด้วยกัน
ถามว่าเศรษฐกิจไม่ดี ทำไมยังมีการลงทุนเพิ่ม ‘อภิเศรษฐ’ ย้ำว่า บริษัทที่จะอยู่ได้ต้องกล้าพัฒนาตัวเอง โลกเปลี่ยนต้องเปลี่ยนตามโลกถึงจะเติบโต ที่สำคัญเราต้องกล้าจะลงทุนเพื่อรองรับโอกาสใหม่ๆ สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทจะเน้นโฟกัสเรื่องผลิตอาหารที่สะอาดและอร่อย ดังนั้นเราต้องมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยพัฒนาสินค้า
สุดท้ายแล้วแม้ภาพรวมตลาดเบเกอรี่มูลค่า 4 หมื่นล้านจะทรงตัว แต่ยังมองว่ายังมีโอกาสเติบโตอีกอย่างน้อย 2 เท่า เพราะเมื่อเทียบกับประเทศมาเลเซียและญี่ปุ่น ซึ่งประชากรเน้นกินข้าวเป็นหลักก็จริง แต่กลับมีอัตราการบริโภคขนมปังมากกว่าคนไทย โดยหนึ่งในตัวแปรที่จะขับเคลื่อนให้ตลาดขนมปังและเบเกอรี่ในไทยให้เติบโต คือการให้ความรู้และสร้างวัฒนธรรมการกินขนมปังเพิ่มขึ้น