องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ออกโรงเตือนประเทศยากจนในเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลางกำลังเผชิญกับวิกฤตความมั่นคงทางด้านอาหาร เนื่องจากหลายประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคดังกล่าวต้องพึ่งพานำเข้าข้าวสาลีจากรัสเซียและยูเครน ดังนั้นความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นจึงทำให้ราคาอาหารที่แพงอยู่แล้วปรับตัวพุ่งสูงขึ้นอีก
ทั้งนี้ ยูเครนและรัสเซียถือเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก โดยคิดเป็น 1 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมด และได้รับฉายาว่าเป็นตะกร้าขนมปังโลก ซึ่ง FAO เตือนว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้น แถมยังไม่อาจคาดเดาจุดสิ้นสุดที่แน่นอนได้ ทำให้กิจกรรมเพาะปลูกทางการเกษตรของผู้ส่งออกข้าวสาลีในสองประเทศนี้ต้องหยุดชะงัก สั่นคลอนความมั่นคงทางด้านอาหารทั่วโลกที่ขณะนี้ก็ไม่ค่อยมั่นคง และมีราคาแพงมากอยู่แล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น ต่อให้จะสามารถยุติสงครามได้ในเร็ววัน แต่กว่าที่ผู้ผลิตข้าวสาลีจะกลับมาเพาะปลูกและส่งออกได้อีกครั้งก็ต้องใช้เวลานาน ยิ่งไปกว่านั้น ทางรัฐบาลยูเครนเองก็เพิ่งมีคำสั่งประกาศห้ามส่งออกข้าวโอ๊ต ข้าวสาลี ข้าวฟ่าง บักวีต และผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ เพื่อป้องกันวิกฤตขาดแคลนอาหารภายในยูเครน
แม้ประเทศผู้ส่งออกธัญพืชรายอื่นๆ จะไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตร แต่ FAO ก็ยังเห็นว่าสถานการณ์อาหารยังคงน่าเป็นห่วง เพราะไม่มีหลักประกันใดๆ มารับรองได้ว่า กำลังการผลิตของประเทศที่เหลือเหล่านี้จะสามารถทดแทนจำนวนสินค้าที่หายไปของรัสเซียกับยูเครนภายในระยะเวลาอันสั้นได้
โดยมีรายงานว่าจำนวนสินค้าในสต๊อกของหลายประเทศ เช่น ข้าวสาลีในคลังของแคนาดาก็อยู่ในระดับต่ำมาก ขณะที่ประเทศผู้ส่งออกรายอื่น อย่าง สหรัฐฯ และอาร์เจนตินา มีแนวโน้มจำกัดการส่งออกเพื่อให้มีเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ
FAO คาดการณ์ว่า ประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าข้าวสาลีจากรัสเซียกับยูเครนจะหันมานำเข้าจากประเทศอื่นเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ อียิปต์ ตุรกี บังกลาเทศ และอิหร่าน ที่นำเข้าจากรัสเซียและยูเครนสูงถึง 60% ยังไม่นับรวม เลบานอน ตูนิเซีย เยเมน ลิเบีย และปากีสถานที่นำเข้าข้าวสาลีจากรัสเซียกับยูเครนในระดับที่สูงมากเช่นกัน ซึ่งความต้องการที่มากขึ้นนี้จะถีบให้ราคาข้าวสาลีในตลาดโลกแพงขึ้นอีก
วันเดียวกัน ทางการจีนฉลองครบรอบ 100 วันของการเปิดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อจีนกับ สปป.ลาวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งได้ให้บริการขนส่งสินค้าแล้วมากกว่า 1.2 ล้านตัน และก่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับภูมิภาคอาเซียน
รายงานระบุว่า นับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้นวิ่งคือวันที่ 12 ธันวาคม ปี 2021 มีภูมิภาคระดับมณฑล 13 แห่ง รวมถึงกรุงปักกิ่ง ซานตง เจ้อเจียง และเจียงซู ทางตะวันออกของจีน ได้ส่งรถไฟขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนมากกว่า 360 ขบวน เพื่อส่งออกสินค้าไปยัง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา และไทย
นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟดังกล่าวได้กลายเป็นช่องทางการขนส่งที่สะดวกระหว่างจีนและอาเซียน โดยข้อมูลทางการรถไฟระบุว่า จีนนำเข้าสินค้ามากกว่า 120,000 ตัน มูลค่ากว่า 500 ล้านหยวน และส่งออกสินค้ามากกว่า 70,000 ตัน มูลค่ากว่า 1,700 ล้านหยวน
อ้างอิง:
- https://www.aljazeera.com/economy/2022/3/11/food-crisis
- https://www.globaltimes.cn/page/202203/1254688.shtml
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP