×

ครอบครัวผู้เสียชีวิตจากการฉีดสารทึบรังสี ยื่นแพทยสภาสอบ รพ.เอกชน หลังสงสัยในการรักษาที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

05.10.2020
  • LOADING...
ครอบครัวผู้เสียชีวิตจากการฉีดสารทึบรังสี ยื่นแพทยสภาสอบ รพ.เอกชน หลังสงสัยในการรักษาที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

สืบเนื่องจากกรณีการพบผู้เสียชีวิตจากการฉีดสารทึบรังสีเพื่อเข้าซีทีสแกนขณะเข้าตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่​ หลังมีอาการปวดท้อง โดยภายหลังครอบครัวของผู้เสียชีวิตเริ่มมีข้อสงสัยเกี่ยวกับกระบวนการและขั้นตอนการรักษา จนนำไปสู่การรวบรวมข้อมูลทางเอกสารการรักษาเพื่อยื่นให้กับแพทยสภาเพื่อสอบหาข้อเท็จจริงต่อไปนั้น

 

ล่าสุดวันนี้ (5 ตุลาคม) ครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้เดินทางมายังสภาวิชาชีพกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องให้หน่วยงานแพทยสภาแห่งประเทศไทยตรวจสอบเกี่ยวกับขั้นตอนการรักษาของทางโรงพยาบาล 

 

โดยตัวแทนของแพทยสภาแห่งประเทศไทยบอกว่า หลังการรับเรื่องเพื่อขอตรวจสอบนี้จะมีระยะเวลาในการพิจารณาในเบื้องต้นไม่เกิน 120 วัน แต่หากมีข้อมูลที่ผุดขึ้นมาหรือพบเหตุและหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนจะมีการเพิ่มเวลาพิจารณาอีก 60 วัน โดยภาพรวมจะมีระยะเวลาพิจารณาไม่เกิน 1 ปี 

 

ทางด้าน ธีระวุฑฒ์ หวงสุวรรณากร สามีของผู้เสียชีวิต ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว โดยระบุว่าการมายื่นเรื่องครั้งนี้เพื่อต้องการให้คณะแพทยสภาช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริง ส่วนประเด็นที่เริ่มตั้งข้อสงสัยนั้น สืบเนื่องจากข้อมูลส่วนหนึ่งที่ขอมาจากทางโรงพยาบาลแต่ละครั้งพบว่าได้รับมาอย่างไม่สมบูรณ์ ซึ่งครอบครัวมองว่าในส่วนนี้ทางโรงพยาบาลมีความไม่บริสุทธิ์ใจที่จะเปิดเผยข้อมูล ทั้งที่เป็นสิทธิที่ครอบครัวควรได้รับรู้ เพราะถ้าการรักษาไม่มีปัญหาใดๆ ก็ควรเปิดเผยให้ทราบ

 

“จากข้อมูลอันน้อยนิดที่มี แต่ก็ถือเป็นความโชคดีที่คนในครอบครัวประกอบอาชีพแพทย์ได้นำข้อมูลไปตรวจสอบ และหลังจากดูข้อมูลเราก็พบสิ่งที่ทำให้สงสัย คือตั้งแต่การซักประวัติ โดยเฉพาะผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ปวดท้องน้อยก่อนเข้ารับการรักษา เขาไม่ได้มีการตรวจสอบทางสูตินรีแพทย์ก่อน และจากการตรวจทำให้นึกถึงเพียงแค่การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะแค่นั้น แต่แพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะ แต่หลังจากนั้นพบว่าไม่ได้มีการส่งตรวจการตั้งครรภ์ ทั้งที่ไม่ได้เป็นการตรวจที่ซับซ้อนและยุ่งยาก แต่ก็ไม่ได้ตรวจ ก่อนส่งเอกซเรย์อย่างที่ทราบกัน” ธีระวุฑฒ์กล่าว

 

“จากการตรวจสอบแล้วพบว่าการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มันไม่ได้เป็นมาตรฐานสำหรับการส่งตรวจในผู้ป่วยต้องสงสัยว่าป่วยเป็นนิ่ว ทำให้เราคิดว่าเป็นการทำเกินกว่าเหตุหรือเปล่า เพราะหากสงสัยว่าป่วยเป็นนิ่วอาจจะมีการส่งเช็กฟิล์มธรรมดาก่อนหรืออัลตราซาวด์ แต่แพทย์กลับเลือกเอกซเรย์คอมพิวเตอร์โดยการฉีดสารทึบรังสี”

 

ทั้งนี้ ธีระวุฑฒ์ตั้งข้อสงสัยต่อไปว่าหลังจากที่เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงจากการฉีดสารทึบรังสีเพื่อเข้าสแกน ทางครอบครัวมองว่าโรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่ครบครัน แต่ปรากฏว่าไม่สามารถช่วยชีวิตภรรยาไว้ได้ และโรงพยาบาลกลับไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้ ซึ่งขั้นตอนการตรวจที่พบว่าแพ้ไปจนถึงการดูแลนั้นมีความล่าช้าและไม่เป็นไปตามมาตรฐานอย่างที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพูดไว้กับครอบครัวในวันที่เข้าไปขอคำชี้แจง

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising