สำนักข่าว The Independent ของอังกฤษรายงานเมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมาถึงกรณีของผู้ใช้ TikTok รายหนึ่งชื่อ Maddie หรือ @maddie_macho อดีต HR ที่ดูแลการรับสมัครพนักงานของ Meta อ้างว่าได้รับค่าจ้างกว่า 190,000 ดอลลาร์ต่อปีโดย ‘ไม่ได้ทำงานอะไร’ เพราะบริษัทไม่มีแผนจ้างงานใครในช่วงนั้น ความประหลาดใจของ Maddie ยังเพิ่มขึ้นเมื่อต้องใช้เวลาในการเรียนรู้งาน และเข้าร่วมการประชุมทีมหลายครั้งแบบไม่รู้จะประชุมไปทำไม
เมื่อวิดีโอ TikTok ของ Maddie ที่บรรยายการทำงานใน Meta กลายเป็นไวรัล Maddie ถูกตักเตือนเกี่ยวกับโพสต์ ซึ่งหลังจากที่มีการตรวจสอบวิดีโอ Maddie ก็ลาออกจากงานในช่วง 1 วันก่อนที่เธอจะถูกบอกเลิกจ้างอย่างเป็นทางการ
ผู้ใช้ TikTok หลายคนเสียดายเวลาของ Maddie ที่ Meta ในขณะที่บางคนแสดงจุดยืนว่ามีประสบการณ์รับเงินเดือนจากการทำงานเพียงเล็กน้อยเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘AI’ ที่ฉลาดขึ้น (แล้ว) จุดประกายแสงแห่งความหวังของ Meta ที่จะพลิกเกมผ่านพ้นวิกฤตที่พัดกระหน่ำ
- ผู้นำที่เลวร้าย! ผู้เชี่ยวชาญฮาร์วาร์ดวิเคราะห์ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก คือต้นเหตุที่ทำให้ Facebook หลงทาง
- ‘มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก’ ยอมรับความผิดพลาดที่คิดว่า Facebook กำลังเติบโตอย่างสดใสจนนำไปสู่การเพิ่มพนักงาน และ ‘ปลดออก’
Fake Work จ่ายจริงแต่ไม่ได้ทำงาน
นอกจาก Maddie ยังมีกรณีของ Britney Levy อดีตพนักงาน Meta ที่ยืนยันว่าเป็นความจริงที่บริษัทบิ๊กเทคจ่ายเงินให้พนักงานเพื่อทำ ‘งานปลอม’ หรือ Fake Work โดย Levy บอกว่าเธอถูกจ้างให้ทำงานในตำแหน่งแปลกประหลาด และถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ไม่มีผลงาน
Levy รู้สึกว่า Meta กำลังจ้างคนเพื่อให้บริษัทอื่นๆ ไม่สามารถชิงแรงงานไปได้ และ ‘กักตุน’ พนักงานเอาไว้เหมือนการสะสม ‘การ์ดโปเกมอน’ ซึ่งแม้ว่าการได้รับค่าจ้างให้ทำงานเล็กน้อยอาจฟังดูเป็นงานในฝันสำหรับบางคน แต่สำหรับ Levy เธอเชื่อว่ามีคนไม่กี่คนใน Meta ที่มีความสุขในสถานการณ์แบบนี้
Levy ยังเล่าอีกว่าได้พูดคุยกับพนักงานหลายคนที่ผิดหวังกับภาวะไม่มีงาน ทั้งที่แต่ละคนมีความสามารถทำประโยชน์ให้ Meta ได้ โดยบางคนรู้สึกว่า Meta จงใจขวางโอกาสในอาชีพการงาน และมีการแจ้งพนักงานให้ไม่ต้องทำงาน ในขณะที่คนอื่นๆ ก็พยายามปกป้องงานของตัวเอง ส่วนตัว Levy เองนั้นต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายในการทำงาน โดยเธอพยายามดิ้นรนขออนุญาตจากผู้บริหารระดับสูงในการติดต่อผู้สมัครงานด้วย
ความเคลื่อนไหวของทั้ง 2 สาวถูกโยงเข้ากับข่าวการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมากของ Meta ทันที โดยล่าสุด Meta ประกาศปลดพนักงานอีก 10,000 คนหลังจากลดตำแหน่งงานลง 13% ในช่วงปลายปี 2565
ด้าน Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Meta ต้นสังกัด Facebook ให้เหตุผลที่มาของแผนปรับโครงสร้างว่า Meta ต้องการทำให้ปี 2023 เป็น ‘ปีแห่งประสิทธิภาพ’ ซึ่งอาจมีความหมายอีกด้านถึงการลดจำนวนพนักงานที่ไม่มีประสิทธิภาพลง
เหตุผลที่แท้จริง
ในขณะที่ Zuckerberg ไม่พูดตรงๆ แต่ Thomas Siebel ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท C3.ai ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันปัญญาประดิษฐ์สำหรับองค์กรขนาดใหญ่แบบครบวงจรสัญชาติอินเดีย นั้นออกมาพูดแทนให้ว่า Meta และ Google ตกอยู่ในภาวะจ้างงานมากเกินไปจนพนักงานไม่มีงานทำในช่วงที่เปิดโอกาสให้ทำงานจากที่บ้าน
เมื่อยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีทั้ง Meta, Google, Amazon, Microsoft และ Twitter ประกาศปลดพนักงานนับหมื่นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แรงงานจำนวนมากจึงแข่งขันกันสมัครงานกับบริษัทไอทีอื่น โดยเฉพาะบริษัทด้าน AI ที่ทำให้กระบวนการจ้างงานของบริษัท AI มีการแข่งขันสูงมาก
ยกตัวอย่างเช่นบริษัท C3.ai บริษัทตัดสินใจจ้างพนักงานเพียง 300 คนจากผู้สมัคร 4,000 คนในปีที่แล้ว และไม่เพียง C3.ai แต่ OpenAI ก็เป็นอีกองค์กรที่มีข่าวว่าวางยุทธศาสตร์ด้านบุคลากร โดยยึดที่การอ้าแขนรับอดีตทีมงานบิ๊กเทคคอมพานีเป็นหลัก ซึ่งแม้ปรากฏการณ์นี้จะดูเป็นเรื่องสมเหตุสมผล แต่แท้จริงแล้วยังมีเงามืดที่อาจส่งผลต่อวงการเทคคอมพานีในระยะยาว
ผลกระทบของวิกฤต Fake Work ที่มีต่อภาพรวมธุรกิจโลกนั้นซับซ้อนและมีหลายแง่มุม แต่มุมที่จะเกิดขึ้นแน่นอนคือจุดดำเรื่องชื่อเสียงและความไว้วางใจ เนื่องจากข่าวมากมายแสดงถึงหลักปฏิบัติในการจ้างงานของ Meta ในเชิงลบ
ซึ่งทั้งกระแส ‘งานปลอม’ และการปลดพนักงานหลายพันคนอาจไม่เพียงทำลายชื่อเสียงของบริษัท แต่ยังทำลายความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโดยรวมด้วย เพราะอาจไม่มั่นใจว่าบริษัทเทคคอมพานีจะมีงานที่มีความหมายและโอกาสก้าวหน้าในอาชีพหรือไม่
สำหรับกรณีของ Meta กระแสข่าวมากมายอาจทำให้พนักงานปัจจุบันหมดกำลังใจ และท้ายที่สุดอาจส่งผลเสียต่อทั้งประสิทธิภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้น Meta และทุกบริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจะต้องกลับมาให้ความสำคัญกับนโยบายบริษัทไม่น้อยกว่า 3 ส่วน ก่อนที่จะสายเกินไป
3 ส่วนนี้คือการกำหนดตำแหน่งงานที่มีความหมาย การมีส่วนร่วมของพนักงาน และหลักปฏิบัติในการจ้างงานอย่างมีจริยธรรม ซึ่งใครทำได้ดีก็ย่อมมีความได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาว
อ้างอิง:
- https://www.livemint.com/opinion/columns/meta-layoffs-reveal-the-end-of-us-tech-sector-exceptionalism-11678987455216.html
- https://www.indiatoday.in/technology/news/story/google-and-meta-over-hired-and-laid-off-employees-had-no-work-to-do-says-c3ai-ceo-2346278-2023-03-14
- https://www.independent.co.uk/life-style/meta-recruiter-salary-layoffs-tiktok-b2303147.html
- https://www.businesstoday.in/technology/news/story/openais-talent-strategy-hire-the-best-from-google-meta-apple-and-amazon-371460-2023-02-25
- https://www.businessinsider.com/laid-off-meta-employee-says-paid-not-to-work-2023-3
- https://www.entrepreneur.com/business-news/laid-off-meta-employee-says-the-fake-work-stories-are-true/447676