×

ทำไมข่าวเทียมถึงฆ่าไม่ตาย

26.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • นักวิจัยจาก MIT พบว่า เรื่องโกหกสามารถเเพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าเรื่องจริงเกือบ 100 เท่าตัว
  • สาเหตุใหญ่ๆ ที่ทำให้ข่าวเทียมสามารถเเพร่กระจายตัวเองได้รวดเร็วกว่าข่าวจริงก็เป็นเพราะว่าข่าวเทียมส่วนใหญ่เป็นข่าวที่ปลุกเร้า (trigger) อารมณ์ของคนที่อ่าน
  • ต่างจากข่าวเเท้ ที่มักจะเป็นข่าวที่ตรงกับความคาดหวังของความเป็นจริงที่เรามีเกี่ยวกับโลกของเราอยู่เเล้ว ซึ่งไม่ใช่อะไรที่เเปลกใหม่

คุณผู้อ่านเคยสงสัยกันไหมครับว่าทำไมการแพร่กระจายของข่าวเทียม (fake news) ถึงรวดเร็วกว่า มีคนอ่านเเละเเชร์ทางโซเชียลมีเดียเยอะกว่า เเละมีความ ‘ตายยาก’ มากกว่าข่าวเเท้หลายเท่าตัวนัก

 

ยกตัวอย่างของข่าวที่ออกมาว่าคุณธนาธร หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มีความตั้งใจที่จะเเก้มาตรา 112 นั้นมีการเเชร์กันอย่างมากมายทางเฟซบุ๊ก เเละก็ยังมีการเเชร์กันอยู่ทุกวันนี้ทั้งๆ ที่ได้มีการชี้เเจงโดยเจ้าตัวเเล้วว่าข่าวนั้นไม่ใช่ข่าวจริงเลย เป็นข่าวเทียม เเต่ข่าวจริงที่ออกมาเพื่อเเก้ข่าวเทียมชิ้นนี้กลับเเทบไม่ถูกคนที่เคยเเชร์ช่าวเทียมไปเเล้วนำมาเเชร์ต่อเพื่อเเก้ข่าวเทียมที่ตัวเองเคยเเชร์ไป

 

พูดง่ายๆ ก็คือ การเเชร์ข่าวเทียมของคนส่วนใหญ่ในโซเชียลมีเดียไม่ค่อยมีขบวนการ ‘เเก้ข่าว’ หรือ self-correction ในตัวของมันเอง ซึ่งก็ทำให้ความเข้าใจผิดที่คนส่วนใหญ่ได้จากข่าวเทียมนั้นยังอยู่ เเละมีความตายยาก

 

เรื่องโกหกแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าเรื่องจริง

 

จากผลการวิจัยของนักวิจัยจาก MIT พบว่าการเเพร่กระจายของข่าวลือ หรือ rumour cascade ในทวิตเตอร์นั้นเป็นอะไรที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเเละสามารถเข้าถึงตัวผู้คนได้มากกว่าการเเพร่กระจายของข่าวจริงมาก

 

โดยนักวิจัย MIT กลุ่มนี้พบว่า ระหว่างปี 2016-2017 มีข่าวลือ 126,000 ข่าว ที่ถูกแชร์ทางทวิตเตอร์ และเข้าถึงคนกว่า 3 ล้านคน ซึ่งท็อป 1% ของข่าวลือที่เเชร์กันมากที่สุดถูกเเชร์โดยคนจำนวน 1,000-100,000 คน ส่วนท็อป 1% ของข่าวจริงที่ถูกเเชร์มากที่สุดเเทบจะไม่เคยถูกเเชร์โดยผู้ที่ใช้ทวิตเตอร์มากกว่า 1,000 คนเลย

 

พูดง่ายๆ ก็คือ เรื่องโกหกสามารถเเพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าเรื่องจริงเกือบ 100 เท่าตัวด้วยกัน

 

คำถามคือทำไม

 

สาเหตุใหญ่ๆ ที่ทำให้ข่าวเทียมสามารถแพร่กระจายตัวเองได้รวดเร็วกว่าข่าวจริงก็เป็นเพราะว่าข่าวเทียมส่วนใหญ่เป็นข่าวที่ปลุกเร้า (trigger) อารมณ์ของคนที่อ่าน โดยเฉพาะอารมณ์รังเกียจ (hatred) โมโห (outraged) เเละขยะแขยง (disgust) ซึ่งอารมณ์พวกนี้ล้วนแล้วแต่เป็นอารมณ์ที่คนส่วนใหญ่ไม่อยากเก็บเอาไว้ในใจคนเดียวเเละต้องการหาทางระบายมันออกมา เเละทางระบายที่ดีทางหนึ่งก็คือการหาคนอื่นที่เห็นด้วยกับเรา (คือรู้สึกได้ถึงอารมณ์เดียวกัน หรือการมีอารมณ์ร่วมเหมือนกันกับเรา) ซึ่งเราสามารถทำได้ด้วยการเเชร์ข่าวนั้นๆ

 

เเล้วทำไมข่าวเเท้จึงไม่ค่อยปลุกเร้าอารมณ์ของเราเหมือนข่าวเทียมล่ะ

 

สาเหตุที่ข่าวเเท้ส่วนใหญ่ไม่ค่อยปลุกเร้าอารมณ์ของเราเหมือนข่าวเทียมก็เป็นเพราะว่าข่าวเเท้ส่วนใหญ่ representation หรือเป็นตัวเเทนของความเป็นจริงที่เราคาดการณ์อยู่เเล้วในชีวิตประจำวัน พูดง่ายๆ ก็คือข่าวเเท้มักจะเป็นข่าวที่ตรงกับความคาดหวังของความเป็นจริงที่เรามีเกี่ยวกับโลกของเราอยู่เเล้ว ซึ่งไม่ใช่อะไรที่เเปลกใหม่

 

ยกตัวอย่างเช่น สมมติถ้ามีข่าวออกมาว่า ‘นักวิจัยพบว่าการทานกาเเฟทำให้เราสามารถทำงานได้นานกว่าการไม่ทานกาเเฟ’ ข่าวนี้ก็คงจะไม่ถูกเเชร์เท่าๆ กันกับข่าวที่ออกมาว่า ‘นักวิจัยพบว่าการทานกาเเฟไม่ได้ช่วยเเก้ง่วงให้กับคนเราจริงๆ’ เป็นต้น

 

อีกอย่างหนึ่ง confirmation bias หรือการที่คนเรามักมองหาข้อมูลที่เข้าข้างในสิ่งที่ตัวเองเชื่ออยู่เเล้วก็สามารถช่วยอธิบายได้อีกว่าทำไมข่าวเทียมตายยากเมื่อถูกเเชร์ไปเรียบร้อยเเล้ว ทั้งๆ ที่มีข่าวเเท้ออกมาเเก้ข่าวเทียมนั้นๆ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าข่าวเเท้ที่ออกมาเเก้ข่าวเทียมจะมีใจความตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราปักใจเชื่อไว้ตั้งเเต่ตอนเเรก (ก็ถ้าเราไม่เชื่อข่าวเทียมตั้งเเต่ตอนเเรก เราก็คงจะไม่อ่าน ไม่เเชร์มันตั้งเเต่ต้น) เเละเพราะ confirmation bias เราก็มักจะไม่อยากเห็น ไม่อยากเเชร์ข่าวที่ขัดกันกับความเชื่อของเราที่เรามี ทั้งๆ ที่ข่าวที่ออกมาทีหลังจะเป็นเรื่องจริงก็ตาม

 

เเล้วทำไมคนเราถึงไม่ใช้วิจารณญาณให้ดีเสียก่อน ก่อนที่จะเเชร์อะไรที่ไม่จริง

 

ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าอารมณ์มักจะทำงานเร็วกว่าความมีเหตุมีผลของคนเรานะครับ อีกอย่างคนเรามักจะตัดสินใจโดยการใช้ทางลัดในด้านระบบความคิด (heuristic) ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ ถ้าเราเห็นคนที่เรานับถือเเชร์อะไรบางอย่าง เราก็อาจจะเเชร์บทความนั้นๆ โดยที่ไม่ได้คิดอะไรนอกเหนือไปจากความคิดที่ว่า อ๋อ ถ้าพี่คนนั้นเเชร์ล่ะก็ มันจะต้องเป็นบทความที่ดี ที่มีเเต่ความเป็นจริงเเน่ๆ เลย เป็นต้น

 

เเล้วเราจะทำยังไงกันดีในการลดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิด rumour cascade เหล่านี้

 

อย่างเเรกเลยก็คือเราต้องมีการสอนเด็กรุ่นใหม่ให้รู้จักการเเยกเเยะข่าวลือจากข่าวจริง ยกตัวอย่างโรงเรียนในประเทศอังกฤษที่ตอนนี้ได้มีการสอน critical literacy ซึ่งเป็นสูตรการสอนที่ช่วยให้เด็กรุ่นใหม่ใช้วิจารณญาณมากขึ้นในการเเยกเเยะว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง

 

อีกอย่างคือ การถามตัวเราเองว่าเรากำลังตาบอดไปกับความรู้สึกของเราอยู่หรือเปล่า เรากำลังตกเป็นเหยื่อของ confirmation bias อยู่หรือเปล่า ทุกครั้งที่เรากำลังตัดสินใจว่าจะเเชร์อะไรสักอย่างหนึ่งก็อาจจะช่วยระงับในสิ่งที่เราอยากจะเเชร์ได้นะครับ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising