×

COVID-19 FACT: หลากเรื่องต้องรู้ ใช้ชีวิตอย่างไรให้ปลอดภัยจากโควิด-19

03.04.2020
  • LOADING...

 

การอาบน้ำร้อนจัดไม่ได้ทำให้เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตาย

หลังจากได้ยินว่าความร้อนทำให้เชื้อโรคอ่อนแรง หลายคนก็เลยเพิ่มอุณหภูมิน้ำขณะอาบน้ำให้ร้อนขึ้น หมายฆ่าไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นต้นตอของโรคโควิด-19 ให้ตายจั๋งหนับ ทว่าความเป็นจริงการอาบน้ำร้อนจัดนอกจากจะไม่ทำให้เชื้อโรคตายแล้ว ยังอาจทำให้คุณเป็นอันตรายได้ เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำร้อนเกินไป

 

องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้เหตุผลไว้ว่า อุณหภูมิร่างกายปกติของมนุษย์เราอยู่ที่ 36.5-37 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นช่วงอุณหภูมิที่เราตั้งไว้สำหรับเครื่องทำน้ำอุ่นอยู่แล้ว และเชื้อไวรัสส่วนใหญ่ตายที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป ฉะนั้นหากคุณต้องอาบน้ำที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสเพื่อฆ่าไวรัสโคโรนา ผิวหนังของคุณอาจถูกลวกเป็นแผลพุพองก่อนที่เชื้อโรคจะตาย

 

 

การดื่มแอลกอฮอล์ไม่ช่วยป้องกันโควิด-19

หลังจากกระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลว่า แอลกอฮอล์เข้มข้นมากกว่า 70% สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ หลายคนจึงมีความคิดว่าการดื่มแอลกอฮอล์สามารถป้องกันเชื้อโรคได้ และถ้าดื่มมากอาจฆ่าเชื้อโรคได้ในระดับหนึ่ง ทว่าความเป็นจริงนอกจากการดื่มแอลกอฮอล์จะไม่ช่วยป้องกันโรคโควิด-19 แล้ว ยังอาจทำให้คุณช็อกจนเสียชีวิตได้ 

 

องค์การอนามัยโลกและกระทรวงสาธารณสุขให้เหตุผลไว้ว่า แอลกอฮอล์ที่คุณดื่มมีค่าความเข้มข้นมากที่สุดเพียง 40% เท่านั้น และหากคุณดื่มเข้าไป ปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายจะเจือจางลงไปอีก และหากคุณพยายามดื่มแอลกอฮอล์จนมีปริมาณเข้มข้นมากถึง 70% แล้ว ก่อนที่โควิด-19 จะตาย กระเพาะอาหารของคุณอาจเป็นแผล อาเจียนเป็นเลือด จนถึงขั้นเกิดอาการช็อกจากการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ในที่สุด

 

 

ซักด้วยน้ำอุ่น หากคุณกังวลเรื่องโควิด-19 บนเสื้อผ้าและเครื่องนอน

หลายคนกังวลว่า เสื้อผ้าและเครื่องนอนของตนเองอาจกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค แม้จะอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายหมดจดแค่ไหนแล้วก็ตาม ประเด็นนี้ทางองค์การอนามัยโลกได้ให้คำแนะนำไว้ว่า หากคุณไม่มั่นใจว่าการซักผ้าปกติสามารถฆ่าเชื้อโรคได้หมดจดล่ะก็ ให้ซักผ้าเหล่านั้นด้วยน้ำอุ่นที่อุณหภูมิประมาณ 60-90 องศาเซลเซียส กับสารทำความสะอาด เช่น ผงซักฟอกหรือสบู่ และตากผ้าในที่แสงแดดส่องถึง หรือใช้เครื่องอบผ้าให้แห้งในอุณหภูมิสูง รับรองว่าเชื้อโรคหายเกลี้ยง ตายสนิท แม้จะเป็นไวรัสโคโรนาก็ตาม 

 

แต่ผู้เขียนขอแนะนำเพิ่มอีกนิดว่า ให้ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อตามฉลากแนะนำเพิ่มด้วย และควรจำแนกผ้าก่อนซัก เพราะไม่ใช่ว่าผ้าทุกชนิดจะซักด้วยน้ำอุ่นหรือเข้าเครื่องอบผ้าได้

 

 

ระยะนี้ถ้ารู้สึกปวดหัว ปวดตัว ใช้พาราเซตามอลแทนไอบูโพรเฟน

จากคำเตือนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขฝรั่งเศส อ้างอิงงานศึกษาในวารสารการแพทย์ The Lancet ว่าการใช้ตัวยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) อาจไปกระตุ้นเอนไซม์บางตัว ทำให้โควิด-19 ลุกลามเร็วขึ้นและกลายพันธ์ุ

 

ประเด็นนี้องค์การอนามัยโลกออกมาตอกย้ำอีกเสียงว่า แม้ยังไม่มีหลักฐานจากการทดลองโดยตรง ว่ายาไอบูโพรเฟนเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 จริงหรือไม่ แต่เพื่อความปลอดภัย แนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้ไอบูโพรเฟนไปก่อน

 

ฉะนั้นในช่วงที่โควิด-19 ระบาด เพื่อป้องกันการกลายพันธุ์และการลุกลามเร็วขึ้น หากคุณรู้สึกมีไข้ ปวดหัว ปวดตัว ให้กินยา ‘พาราเซตามอล’ ลดอาการไข้ บรรเทาปวด แทนไอบูโพรเฟน ไม่ว่าจะ ‘แน่ใจ’ หรือ ‘ไม่แน่ใจ’ ว่าตนเองมีเชื้อหรือไม่ก็ตาม

 

 

โควิด-19 แพร่กระจายได้ทุกพื้นที่ แม้อากาศร้อนชื้น

มีทฤษฎีที่ว่าเชื้อไวรัสโคโรนานิยมชมชอบอากาศหนาว และไม่ค่อยแพร่กระจายในเขตร้อน ประเด็นนี้องค์การอนามัยโลกออกมากล่าวว่าไม่จริง เพราะเชื้อไวรัสโคโรนาสามารถแพร่กระจายได้ทั้งในที่อากาศร้อนชื้น อากาศแห้งและหนาว เพียงแต่พื้นที่ที่อากาศร้อน อุณหภูมิสูง และแดดจัด จะทำให้เชื้อโรคอ่อนแอ และตายง่ายกว่าพื้นที่ที่มีอากาศหนาว หรือเย็นสบาย

 

แต่ไม่ว่าคุณจะอยู่พื้นที่ไหน ในสภาพอากาศแบบใด สิ่งสำคัญคือปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยที่ดี กินร้อน อาหารจานเดียว ล้างมือบ่อยๆ ใส่หน้ากากอนามัยเวลาอยู่ในพื้นที่ชุมชน ไอจามด้วยทิชชู อย่าลืมทิ้งลงถังขยะ และล้างมือทันทีทุกครั้ง

 

 

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ไม่สามารถแพร่เชื้อผ่านยุงได้

มีหลายคนสงสัยว่าถ้ายุงกัดคนไข้ที่มีเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แล้วมากัดคนปกติอีกทอด บุคคลที่ถูกกัดคนนั้นจะติดเชื้อหรือไม่ ประเด็นนี้ องค์การอนามัยโลกได้ให้คำตอบไว้ว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือที่รู้จักกันในชื่อโควิด-19 ไม่สามารถแพร่เชื้อผ่านยุงได้ ไวรัสชนิดนี้เป็นไวรัสที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ จึงมักติดกันผ่านฝอยละอองไอ จาม หรือน้ำลายของผู้ป่วย 

 

แม้จะยังไม่มีข้อมูล หรือหลักฐานชี้ชัดที่บ่งชี้ว่า ยุงเป็นพาหะนำโรคได้ ทว่าการที่เราโดนยุงกัดมากๆ ก็อาจทำให้เราเป็นโรคอื่นๆ เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย เท้าช้าง หรือชิคุนกุนยา ฉะนั้นทางที่ดี จึงควรป้องกันตนเองจากยุงด้วย และไม่ไปอยู่ในที่ยุงชุกชุม

 

 

เช็ดพื้นผิวด้วยสบู่หรือผงซักฟอก ล้างด้วยน้ำสะอาด แล้วถึงใช้สารฆ่าเชื้อ

นอกจากเสื้อผ้าและเครื่องนอนที่เราต้องระวังความสะอาดแล้ว หลายคนยังกังวลเรื่องเชื้อโรคที่คงเหลือตามพื้นผิวที่สัมผัส ไม่ว่าจะเป็นพื้นกระเบื้อง ลูกบิด โต๊ะ เก้าอี้ สวิตช์ไฟ ฯลฯ จะทำความสะอาดก็กลัวว่าจะฆ่าเชื้อโรคไม่หมดจด ประเด็นนี้องค์การอนามัยโลกแนะนำวิธีทำความสะอาดไว้ว่า 

 

ถ้าพื้นผิวสกปรกให้เช็ดด้วยน้ำสบู่หรือผงซักฟอก แล้วล้างด้วยน้ำก่อน หลังจากนั้นจึงใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น น้ำยาฟอกขาว ผสมน้ำตามสัดส่วนที่ระบุไว้ตรงฉลาก เนื่องจากสารออกฤทธิ์จำพวกโซเดียมไฮโปคลอไรต์สามารถฆ่าแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัสได้ และอย่าลืมสวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงมือยาง ทุกครั้งที่ใช้ด้วย

 

 

สัตว์เลี้ยงที่บ้านไม่สามารถแพร่เชื้อโควิด-19 ได้

สัปดาห์นี้หลายคนเริ่ม Work from Home กันมากขึ้น บรรดาร้านค้าและธุรกิจต่างๆ ต่างปิดกิจการชั่วคราวเพื่อลดการแพร่ระบาดตามมาตรการของรัฐ เราจึงใช้เวลากับสัตว์เลี้ยงที่บ้านแทบตลอดทั้งวัน บางคนก็เล่นกับสัตว์แก้เบื่อ บางคนก็มีความสุขที่ได้กอดและได้หอมสัตว์อันเป็นที่รัก ท่ามกลางกิจกรรมคลายเหงาระหว่างคนกับสัตว์ หลายคนวิตกกังวลว่าสัตว์เลี้ยงตัวโปรดอาจติดเชื้อโควิด-19 และอาจเป็นพาหะนำเชื้อสู่คนได้ ประเด็นนี้ทางองค์การอนามัยโลกชี้แจงว่า

 

แม้จะมีข่าวว่าสุนัขติดเชื้อโควิด-19 ในฮ่องกง แต่ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าสัตว์เลี้ยงเป็นพาหะนำโรคจากสัตว์สู่คนได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัย ระยะนี้ควรงดกอดและหอมสุนัขและแมว ควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งหลังสัมผัส เพราะถึงแม้สัตว์ตัวโปรดจะไม่ได้นำเชื้อโควิด-19 มาสู่เรา แต่อาจมีเชื้อโรคอื่นๆ แฝงมาด้วย

 

สำหรับใครที่เลี้ยงสัตว์ระบบเปิด ผู้เขียนแนะนำให้อาบน้ำสัตว์เลี้ยงบ่อยขึ้น หมั่นทำความสะอาดเครื่องนอน และบริเวณโดยรอบ เพราะเชื้อโรคอาจติดมากับขน ขา หรือเท้าทั้ง 4 ข้างโดยไม่รู้ตัว

 

 

ใช้เขียงและมีดแยกต่างหากสำหรับเนื้อดิบ และอาหารที่ปรุงสุกแล้ว

หลายคนคงมีคำถามและสงสัยว่าอาหารที่ตนปรุงสุกหรือซื้อกินอยู่ทุกวันนั้นสะอาดปลอดภัยถูกหลักอนามัยหรือเปล่า ประเด็นนี้องค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำว่า 

 

ทุกครั้งที่ปรุงอาหารให้ใช้เขียงและมีดแยกต่างหากสำหรับเนื้อดิบและอาหารปรุงสุก พร้อมทั้งล้างมือทุกครั้งระหว่างขั้นตอนเตรียมเนื้อดิบและปรุงอาหาร ห้ามบริโภคสัตว์ป่วยเป็นอันขาด และถึงแม้ว่าพื้นที่นั้นจะมีการระบาดของไวรัส วัตถุดิบเนื้อต่างๆ ยังสามารถรับประทานได้หากผ่านการปรุงสุกอย่างทั่วถึง และมีการจัดเตรียมอย่างถูกต้อง

 

คำแนะนำนี้ นำไปใช้ได้ทั้งครัวบ้านและร้านอาหาร เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีระหว่างโควิด-19 ระบาด แต่ผู้เขียนขอแนะนำเพิ่มว่า อย่าลืมใส่หน้ากากอนามัย รวบเส้นผมให้เรียบร้อยขณะปรุงอาหารด้วย

 

 

เราสามารถร่วมพิธีกรรมทางศาสนาได้ เมื่อผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิต 

จากเรื่องราวอันน่าเศร้าของหนึ่งในครอบครัวผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่ไม่มีวัดไหนยินยอมให้มีพิธีกรรมทางศาสนา เพราะกลัวเชื้อแพร่กระจายในพื้นที่ ประเด็นนี้ทางสถาบันบำราศนราดูร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในสังกัดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความกระจ่างว่า

 

ร่างผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จะได้รับการดำเนินการตามมาตรฐานสากล ด้วยการบรรจุลงถุงซิปล็อก 3 ชั้น พร้อมพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อและใช้แอลกอฮอล์ 70% ในทุกขั้นตอน การเคลื่อนศพจะไม่มีการเปิดถุงซิปใดๆ ส่วนประเด็นการฌาปนกิจศพ กรมการแพทย์เสริมว่า สามารถกระทำได้ตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นฝังหรือเผา โดยไม่มีการเปิดถุงอย่างเด็ดขาด และไม่มีการอาบน้ำศพ รดน้ำศพ และฉีดยาศพใดๆ 

 

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ถูกทำลายด้วยความร้อนอุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียสขึ้นไป และการเผาศพตามพิธีพุทธจะใช้อุณหภูมิประมาณ 800-1,000 องศาเซลเซียส ซึ่งทำให้เชื้อโรคตายและไม่แพร่กระจายแน่นอน 

 

ฉะนั้น หากมีเหตุต้องไปร่วมงานฌาปนกิจศพ อย่ากลัวว่าจะติดเชื้อจากศพ แต่ควรให้กำลังใจญาติผู้เสียชีวิต อย่าลืมระวังตนเองด้วยการใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง กินร้อน ชามเดียว ล้างมือบ่อยๆ ด้วย

 

 

การว่ายน้ำในสระว่ายน้ำไม่ทำให้ติดโควิด-19

อยู่บ้านเบื่อๆ จะไปยิมก็ไม่ได้ ครั้นจะอยู่แต่บ้านออกกำลังกายเดิมๆ ไหนจะลูกเต้าก็รบเร้าอยากไปเล่นน้ำคลายร้อน ถ้าคอนโดมิเนียมหรือส่วนกลางของหมู่บ้านมีสระว่ายน้ำ แล้วเราไปใช้บริการ หลายคนมีข้อสงสัยว่า การว่ายน้ำในสระสามารถทำให้เราติดเชื้อโควิด-19 ได้หรือเปล่า ประเด็นนี้องค์การอนามัยโลกออกมาไขข้อข้องใจว่า 

 

การว่ายน้ำในสระไม่ทำให้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ เนื่องจากสระว่ายน้ำทุกสระมีระบบฆ่าเชื้อเพื่อความสะอาดน้ำอยู่แล้ว เช่น คลอรีน เกลือ หรือ UV จึงมั่นใจได้เรื่องความปลอดภัย แต่ควรระวังเรื่องข้าวของเครื่องใช้ และพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ที่ใช้ร่วมกันมากกว่า 

 

ฉะนั้นหากคุณจะไปว่ายน้ำ ณ สระส่วนกลางของหมู่บ้าน คอนโดมิเนียม หรือตามรีสอร์ตต่างๆ สามารถทำได้ ปลอดภัย ไม่ติดเชื้อ (ยกเว้นว่าสระว่ายน้ำแห่งนั้นไม่ได้มาตรฐานความสะอาด) แต่ให้ระวังพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ที่ใช้ร่วมกันแทน ไม่ว่าจะเป็น ล็อกเกอร์เก็บของ ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า เป็นต้น และอย่าลืมเว้นระยะห่างกันพอสมควร 

 

ทางที่ดีผู้เขียนแนะนำว่าอย่าเพิ่งดีกว่า ถ้าอยากว่ายน้ำคลายร้อนในช่วงนี้ ลองเปิดอินเทอร์เน็ตซื้อสระว่ายน้ำสำเร็จรูป หรือเสิร์ชหาวิธีการทำสระว่ายน้ำชั่วคราว แม้จะไม่สามารถว่ายได้จนเหนื่อย แต่ก็สามารถคลายร้อน สนุกได้แบบไร้กังวล

 

 

การสวมถุงมือยางไม่ช่วยป้องกันโควิด-19

ระยะนี้มีหลายคนเลือกสวมถุงมือยางเวลาออกนอกบ้านเพื่อป้องกันเชื้อโควิด-19 จากการสัมผัสสิ่งของต่างๆ ในพื้นที่สาธารณะ เช่น ราวบันได ปุ่มกดลิฟต์ ฯลฯ มองผิวเผินเหมือนปลอดภัย ทว่าองค์การอนามัยโลกกลับบอกว่า การสวมถุงมือยางไม่ช่วยป้องกันโควิด-19 อย่างที่เราคิด

 

ประเด็นนี้องค์การอนามัยโลกให้เหตุผลว่า แม้การสวมถุงมือยางจะทำให้มือเราสะอาด ปราศจากเชื้อโรคใดๆ แต่ตราบใดที่คุณยังจับหรือสัมผัสใบหน้าผ่านถุงมือที่ปนเปื้อน ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อไวรัสได้เหมือนเดิม 

 

ฉะนั้นทางที่ดีควรล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือเจลล้างมือเป็นประจำ หลังสัมผัสพื้นผิวสาธารณะ หรือก่อนสัมผัสส่วนต่างๆ ของใบหน้า จะสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

 

 

นอกจากการสูบบุหรี่จะเพิ่มโอกาสติดโควิด-19 แล้ว ยังแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ด้วย

นอกจากผู้สูงอายุและบุคคลที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน โรคปอด ภูมิแพ้ จะมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว องค์การอนามัยโลกยังเตือนผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำว่า ถึงแม้คุณจะมีร่างกายแข็งแรงและไม่มีโรคประจำตัว ก็มีความเสี่ยงสูงว่าจะติดเชื้อได้มากกว่าคนที่ไม่สูบ

 

องค์การอนามัยโลกให้เหตุผลว่า การสูบบุหรี่เป็นการทำลายปอดและส่วนต่างๆ ของร่างกายที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเชื้อโควิด-19 นั้นส่งผลต่อระบบนี้มากที่สุด อีกทั้งการสูบบุหรี่ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงการสูบอื่นๆ ย่อมมีโอกาสเพิ่มขึ้นเมื่อคุณใช้ยาสูบเหล่านี้ร่วมกัน 

 

ไม่เพียงเท่านั้น หากคุณเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 แม้ว่าจะไม่แสดงอาการก็ตาม การปล่อยลมหายใจ 1 ครั้งจะนำพาเชื้อไวรัสออกมาสู่ภายนอก เนื่องจากควันที่คุณปล่อยออกมาแต่ละครั้งประกอบด้วย สารคัดหลั่ง น้ำลาย เสมหะ และแบคทีเรีย ทำให้เมื่อพ่นควันออกมาเป็นระยะทางไกล จะส่งผลให้เชื้อแพร่กระจายได้โดยง่าย

 

ฉะนั้นใครที่สูบบุหรี่อยู่ เราแนะนำให้คุณถือโอกาสนี้ลด ละ เลิก ไปในตัว เพราะนอกจากจะลดความเสี่ยงต่อการติดโรคแล้ว ยังประหยัดเงิน ร่างกายแข็งแรงขึ้น อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันการแพร่กระจายไวรัสสู่ผู้อื่นด้วย

 

 

กลั้นหายใจ 10 วินาทีโดยไม่มีอาการไอหรือรู้สึกไม่สบาย ไม่ได้หมายความว่าคุณปลอดจากโควิด-19

แม้ตอนนี้เราทุกคนจะกักตัวอยู่บ้าน เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) จนบางคนแทบเป็นบ้า เพราะต้องการการปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพมากกว่ามองหน้าคุยกันผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก แต่เชื่อเถอะว่าถึงคุณจะปฏิบัติตนเคร่งครัดขนาดนั้น ก็ยังมีคำถามในใจว่า “เราติดเชื้อหรือยัง” นั่งคิด นอนคิดทุกวัน เผลอหน่อยก็แอบกลั้นหายใจ 10 วินาที เช็กตัวเองว่ามีอาการไอหรือเจ็บปอดหรือไม่ ตามคำแนะนำที่บอกต่อๆ กันมา แต่คุณรู้ไหมว่า การเช็กอาการแบบนี้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าคุณปลอดเชื้อโควิด-19 แม้ไม่มีอาการไอหรือเจ็บหน้าอกก็ตาม

 

องค์การอนามัยโลก บอกว่า อาการทั่วไปของบุคคลที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 คือมีอาการไอแห้ง เหนื่อยหอบ และมีไข้ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่แสดงอาการเหล่านั้น บางคนอาจแสดงอาการแค่บางอย่าง หรือไม่แสดงอาการใดเลยในบุคคลที่ร่างกายแข็งแรง ฉะนั้นหนทางที่ดีที่สุดที่จะยืนยันว่าคุณเป็นโรคหรือไม่ คือการตรวจเชื้อผ่านห้องทดลองที่ได้มาตรฐานเท่านั้น และวิธีการทดสอบแบบกลั้นหายใจ นอกจากจะไม่สามารถเช็กอาการโควิด-19 ได้แล้ว ยังไม่สามารถยืนยันโรคอื่นๆ เกี่ยวกับปอดได้ด้วย

 

 

เตือนแล้วนะ! การสร้างเรื่องโกหกเกี่ยวกับโควิด-19 ในวัน April Fool’s Day อาจเสี่ยงติดคุก

ใครที่เตรียมหากิจกรรมแก้เบื่อในช่วงกักตัวด้วยการคิดมุกโกหกต่างๆ เกี่ยวกับโควิด-19 เราแนะนำเลยว่าให้เบรกไว้ก่อน เพราะการสร้างเรื่องโกหกเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ อาจทำให้คุณติดคุกตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ หรือ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

 

ข้อกำหนดในมาตรา 9 การบริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 1 ข้อ 6 ระบุว่า 

 

‘ห้ามการเสนอข่าวหรือทำให้แพร่หลายทางสื่อต่างๆ ซึ่งมีข้อความหรือข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) อันไม่เป็นความจริง และอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารดังกล่าวอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในกรณีเช่นนี้ให้เจ้าหน้าที่เตือนให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขข่าว หรือหากเป็นกรณีที่มีผลกระทบรุนแรง ให้ดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548’

 

ฉะนั้น ในสถานการณ์ที่ประเทศกำลังอยู่ในภาวะโรคระบาด การสร้างเรื่องโกหกเกี่ยวกับไวรัสถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง ไม่ว่าคุณจะแค่โกหกว่าตนเองป่วยเป็นโควิด-19 หยอกเย้าในวงเพื่อน หรือโพสต์ลงโซเชียลบอกผู้อื่นว่าพบคนป่วยเป็นโควิด-19 แล้วไม่ยอมกักตัว ฯลฯ การทำเช่นนี้นอกจากจะไม่น่ารักแล้ว อาจทำให้ได้รับโทษปรับ จำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับจาก พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ หรือ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ตามมา

 

เทศกาลเมษาหน้าโง่งดเล่นสักปีคงไม่เป็นไร หรือถ้าอยากเล่นจริงๆ ก็อย่าโพสต์หรือสร้างเรื่องโกหกอันใดเกี่ยวกับโควิด-19 เด็ดขาด

 

 

การแขวนกะเพราทั้งต้นไว้หน้าบ้านไม่ช่วยป้องกันโควิด-19

จากเหตุการณ์ที่ชาวบ้านในหมู่บ้านดอนสวรรค์ ตำบลบ้านข้าม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น นำต้นกะเพราทั้งต้นมาแขวนกลับหัวไว้ตามรั้วหน้าบ้านเพื่อป้องกันโควิด-19 ตามความเชื่อจากบรรพบุรุษที่ว่า กลิ่นฉุนของกะเพราสามารถฆ่าเชื้อโรคที่ลอยมาตามอากาศ ประเด็นนี้กรมควบคุมโรคยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง

 

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันผ่านสำนักข่าวไทยว่า การติดเชื้อและแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกิดจากละอองฝอยขนาดใหญ่ ไม่ใช่ติดเชื้อทางอากาศอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ สิ่งเดียวที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคโควิด-19 คือการทำความสะอาดพื้นผิวอย่างสม่ำเสมอ ล้างมือให้สะอาดถูกหลักอนามัย เลี่ยงสถานที่ชุมชน และสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน 

 

 

โควิด-19 สามารถพบได้ในอุจจาระ

มียูทูเบอร์ต่างประเทศหลายราย ท้าทายการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ด้วยการทำชาเลนจ์ ‘เลียฝาชักโครกสาธารณะ’ ไม่ว่าจะด้วยเพราะต้องการอวดความเจ๋ง เรียกเสียงเชียร์ ยอดไลก์ หรือว่าอะไรก็ตามแต่ การกระทำนี้องค์การอนามัยโลกออกมาแจ้งเตือนว่า เชื้อโควิด-19 ยังคงหลงเหลือในอุจจาระ

 

เช่นเดียวกับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อื่นๆ โควิด-19 สามารถตรวจพบได้ในอุจจาระ แต่มักแพร่ระบาดผ่านการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือผ่านละอองฝอยของสารคัดหลั่ง เช่น การไอ จาม ดังนั้นเพื่อปกป้องการติดเชื้อ ปิดฝาชักโครกทุกครั้งก่อนกดทำความสะอาด ล้างมือบ่อยๆ เท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะก่อนทำอาหาร รับประทานอาหาร หลังไอหรือจาม ก่อนและหลังใช้ห้องน้ำ และหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็ก

 

 

ภาพ: Shutterstock

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • องค์การอนามัยโลก
  • กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X