×

ข่าวโรงงานทยอยปิดตัวไปทีละราย ปีนี้คนไทยตกงานแล้วกว่า 40,000 คน สัญญาณอันตรายกำลังบอกอะไร

11.06.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • KKP Research เผย ภาคอุตสาหกรรมไทยอยู่ในภาวะอ่อนแอ สะท้อนจากดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงติดต่อกันเกินกว่า 1 ปี 
  • ปีนี้โรงงานไทยทยอยปิดตัวไป 1,700 โรงงาน คนตกงานแล้วกว่า 42,000 คน และหนี้เสียในภาคการผลิตกำลังเป็นตัวเร่ง 
  • เปิดรายชื่ออุตสาหกรรมการผลิตที่มีการปิดตัวโรงงานเพิ่มขึ้นมากที่สุดในขณะนี้
  • สถานการณ์ในอนาคตยังมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ภาคอุตสาหกรรมเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเทคโนโลยี สินค้าจีนทะลัก และมาตรการกีดกันทางการค้า 
  • ประธานสภาอุตสาหกรรมเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า วันนี้โครงสร้างการผลิตของไทยแข่งกับภูมิภาคไม่ได้แล้ว FDI ไทยร่วงลงมารั้งท้ายเพื่อนบ้านแบบไม่น่าเชื่อ

เรามักจะได้ยินประโยคที่ว่า “อ่อนแอก็แพ้ไป” 

 

คำพูดนี้อาจใช้ได้ในบางสถานการณ์ที่ต้องการแรงฮึดสู้ แต่หากถามถึงสภาพเศรษฐกิจไทยและการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในเวลานี้คงต้องบอกว่า ไม่มีใครอยากแพ้ แต่ด้วยหลายๆ ปัจจัยกำลังบีบให้อ่อนแอ

 

THE STANDARD WEALTH ชวนอ่านสรุปบทความวิเคราะห์ ‘โรงงานไทยที่กำลังปิดตัวบอกอะไรเรา? จาก KKP Research ที่กำลังสะท้อนภาพความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทย 

 

โดยมีสารตั้งต้นที่พบว่า ดัชนีการผลิตของไทย ‘ติดลบติดต่อกันกว่า 1 ปี’ มากไปกว่านั้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนักของเศรษฐกิจไทยคือ การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่วัดจากดัชนีการผลิต สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม มีการหดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 จนถึงเดือนมีนาคม 2567 หรือต่อเนื่องกันกว่า 1 ปี 3 เดือน นับเป็นการโตติดลบติดต่อกันที่ยาวนานมากที่สุด

 

ครั้งหนึ่ง แม้ว่าวัฏจักรการค้าโลกจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปี 2566 แล้วก็ตาม แต่สัญญาณถัดมาที่น่ากังวลกว่านั้นคือ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

การปิดโรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่เร่งตัวขึ้นชัดเจน!

 

ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2566 โดยค่าเฉลี่ยการปิดโรงงานของไทยอยู่ที่ 57 โรงงานต่อเดือนในปี 2564 และ 83 โรงงานต่อเดือนในปี 2565 ในขณะที่พุ่งสูงขึ้นถึง 159 โรงงานต่อเดือนในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ส่งผลให้หากนับรวมตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2567 มีโรงงานปิดตัวลงไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง 

 

“กระทบการจ้างงานกว่า 42,000 ตำแหน่ง”

 

‘ไม่ใช่แค่โรงงานปิด แต่โรงงานเปิดใหม่ก็ลดลงเช่นกัน’

 

การปิดตัวของโรงงานเพียงอย่างเดียวอาจไม่สะท้อนภาพทั้งหมด แต่ตัวเลขการเปิดตัวโรงงานใหม่ที่ลดลงกว่าในอดีต ยังย้ำให้เห็นถึงสถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรมไทยที่ไม่ดีนัก เพราะการเปิดโรงงานใหม่มีทิศทางที่ชะลอตัวลงเช่นกัน จึงทำให้ยอดการเปิดโรงงานสุทธิ (จำนวนโรงงานเปิดหักลบด้วยโรงงานปิด) ในภาพรวมชะลอตัวลงอย่างมากจากค่าเฉลี่ยที่เป็นบวกสุทธิประมาณ 150 โรงงานต่อเดือน ลดลงเหลือเพียง 50 โรงงานต่อเดือน 

 

 

การผลิตอุตสาหกรรมหดตัว กดดันโรงงานปิดตัว

 

สถานการณ์การเปิดและปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรมยังมีความแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละกลุ่ม สอดคล้องกับการเติบโตของดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีความแตกต่างกัน

 

โดยอุตสาหกรรมที่มี ‘การปิดตัวโรงงานเร่งขึ้น’ ในช่วงที่ผ่านมาเป็นกลุ่มเดียวกันกับอุตสาหกรรมที่ดัชนีการผลิตมีการหดตัวลง ซึ่งสะท้อนว่า การพิจารณาภาคการผลิตในภาพรวมอาจไม่สะท้อนสถานการณ์ของบางกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่กว่าค่าเฉลี่ย

 

โดยอุตสาหกรรมที่มีทิศทางน่ากังวลเนื่องจากมีการหดตัวของการผลิตและโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นมาก คือ

 

  • กลุ่มการผลิตเครื่องหนัง 
  • การผลิตยางอุตสาหกรรมการเกษตร
  • อุตสาหกรรมไม้และการผลิตเครื่องจักร

 

โรงงานขนาดใหญ่ปิดตัว โรงงานขนาดเล็กเปิดแทน



ในมิติของขนาดและพื้นที่ของโรงงาน การปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมาพบว่ากระจุกตัวอยู่ในกลุ่มโรงงานขนาดใหญ่เป็นหลัก ในขณะที่โรงงานเปิดใหม่ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก 

 

สะท้อนว่า ปัญหาการผลิตที่ชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้เกิดจากปัจจัยเฉพาะของกิจการเอง เนื่องจากโรงงานขนาดเล็กมีแนวโน้มที่จะเปราะบางกว่าโรงงานขนาดใหญ่ จากสถานะทางการเงินที่มีแนวโน้มอ่อนแอกว่าบริษัทใหญ่

 

 

การปิดตัวที่เกิดขึ้นจากโรงงานขนาดใหญ่เป็นหลักเป็นภาพสะท้อนว่า ปัญหาการปิดตัวโรงงานเกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างในภาพใหญ่ที่กระทบกับอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรม

 

หนี้เสียในภาคอุตสาหกรรมพุ่ง

 

ข้อมูลอีกหนึ่งชุดที่ตอกย้ำความน่ากังวลของสถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรมคือ ‘การเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในภาคการผลิต’ ที่มีสัญญาณเร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจน และสะท้อนปัญหาที่รุนแรงในภาคอุตสาหกรรมไทย มากกว่าเป็นการชะลอตัวชั่วคราว ซึ่งนำไปสู่ความจำเป็นต้องปิดโรงงานและกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้

 

โดย KKP Research พบความสัมพันธ์ระหว่างอุตสาหกรรมที่มีการปิดตัวของโรงงานสูงกับอุตสาหกรรมที่หนี้เสียปรับตัวสูงขึ้น และโรงงานกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปิดตัวมากกว่ามีแนวโน้มที่การเพิ่มขึ้นของหนี้เสียสูงกว่าด้วย

 

ดัชนีเศรษฐกิจแบบเดิมอาจจับชีพจรภาคอุตสาหกรรมไทยไม่ได้ทั้งหมด

 

นอกจากนี้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญอยู่ การติดตามแนวโน้มของภาคอุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงสาเหตุและที่มาที่ไปที่ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงไป

 

โดยปัญหาการหดตัวของหลายหมวดการผลิตในสินค้าไทยไม่ได้เกิดจากเฉพาะปัจจัยชั่วคราวด้านอุปสงค์หรือตามวัฏจักรเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย ทำให้แม้ว่าในอดีตการผลิตของไทยและโลกจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่สอดคล้องกันมาโดยตลอด

 

แต่ในช่วงที่ผ่านมาจะสังเกตเห็นว่า การผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยเริ่มมีทิศทางที่ไม่สอดคล้องกับการผลิตของประเทศอุตสาหกรรมหลักในภูมิภาคและการผลิตของโลก ภาวะการค้าโลกที่ฟื้นตัวในระยะต่อไปจึงไม่ได้หมายความว่าภาคการผลิตไทยจะฟื้นตัวได้ดีเสมอไป

 

 

สแกนภาคการผลิต สินค้าใดบ้างที่น่าเป็นห่วง

 

แม้การผลิตที่ยังเคลื่อนไหวตามวัฏจักรปกติ เป็นกลุ่มสินค้าที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นได้หากอุปสงค์กลับมาเติบโตขึ้น ซึ่งคิดเป็นประมาณ 47% ของมูลค่าการผลิตทั้งหมด

 

  • การผลิตที่ปรับตัวลดลงตามสินค้าคงคลังที่สูง กลุ่มอุตสาหกรรมที่ในช่วงที่ผ่านมามีระดับสินค้าคงคลังที่สูงกว่าปกติมาก และอาจกลับมาปรับตัวดีขึ้นได้บ้างเมื่อสินค้าคงคลังเริ่มปรับตัวลดลง 
  • การผลิตที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น การผลิต Hard Disk Drive (HDD) ที่ถูกทดแทนด้วย Solid State Drive (SSD) ซึ่งส่งผลกระทบให้การผลิต HDD หดตัวต่อเนื่องมานาน 
  • การผลิตเหล็กที่ถูกทดแทนด้วยการแข่งขันจากสินค้าจีน สินค้ากลุ่มนี้คิดเป็นกว่า 35% ของมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตทั้งหมด

 

คำถามคือ ภาคอุตสาหกรรมไทยไปทางไหนต่อ ท่ามกลางความท้าทายที่เพิ่มขึ้น?

 

ข้อมูลการเปิด-ปิดโรงงานของอุตสาหกรรมไทยในมุมมองของ KKP Research นับเป็นภาพสะท้อนและผลลัพธ์ของการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมที่พึ่งพามูลค่าเพิ่มจากภาคอุตสาหกรรมกว่า 35% ของมูลค่าเศรษฐกิจ

 

โดยตั้งแต่หลังช่วงโควิดมากลับกลายเป็นภาคบริการที่ขยายตัวได้ดี ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงต่อเนื่อง 

 

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าข้อมูลเดือนล่าสุดของการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยจะกลับมาเป็นบวกในรอบมากกว่า 1 ปี และหลายฝ่ายยังหวังว่าจากภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ปรับตัวดีขึ้นจะกลับมาช่วยภาคอุตสาหกรรมไทยกลับมาขยายตัวได้

 

อย่างไรก็ตาม KKP Research กลับมีความกังวลเพิ่มขึ้นอย่างมากต่อสถานการณ์อุตสาหกรรมไทยในระยะยาว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

 

  • การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในบางกลุ่มสินค้าหลัก เช่น การเปลี่ยนจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นรถยนต์ EV โดยในช่วงที่ผ่านมามีการส่งออกรถยนต์ EV ราคาถูกจากจีนมายังไทย และส่งผลกระทบอย่างมากต่อทั้งยอดขายและราคารถยนต์ ICE ในไทย 
  • การเปลี่ยนจากการใช้ HDD เป็น SSD ซึ่งจะรุนแรงมากขึ้นต่อเนื่องในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อราคา EV และ SSD มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทำให้เข้ามาทดแทนเทคโนโลยีเก่าได้เร็วและกว้างขึ้น
  • การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากสินค้าจีน โดยในปัจจุบันไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่เพียงแต่เฉพาะสินค้าในกลุ่มยานยนต์ที่เข้ามายังไทยเท่านั้น แต่ไทยมีการนำเข้าจากจีนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในหลายกลุ่มสินค้าเมื่อเทียบกับการนำเข้าทั้งหมด รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีต้นทุนต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในไทย

 

ภาพ: Olivier Douliery / AFP 

 

  • มาตรการกีดกันการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มทวีความเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งในกรณีที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง มีแนวโน้มที่จะมีมาตรการกีดกันทางการค้าจากจีนและโลกเพิ่มเติม ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้การค้าโลกในภาพรวมชะลอตัวลง และมีโอกาสที่สินค้าจากจีนจะทะลักมายัง ASEAN รวมถึงไทยเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการระบายสินค้าของจีนไปยังตลาดส่งออกอื่น 
  • ผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น และเริ่มลุกลามมาสู่อุตสาหกรรมที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย ที่เห็นได้ชัดคืออุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเริ่มมีค่ายรถยนต์อย่าง Suzuki ยุติการผลิตในประเทศไทยตามยอดขายที่ลดต่ำลง

 

จากข้อมูลข้างต้นกล่าวโดยสรุปว่า การเร่งดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมและปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่ยังจำเป็นต้องทำ ควบคู่ไปกับการหาเครื่องยนต์ใหม่มาทดแทนเครื่องยนต์เดิมของเศรษฐกิจที่หายไป ไม่เช่นนั้นคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพการเติบโตต่ำลงไปเรื่อยๆ

 

ส.อ.ท. ยอมรับ โครงสร้างการผลิตของไทยแข่งกับเพื่อนบ้านไม่ได้แล้ว

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD WEALTH ว่า น่าห่วงว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยมีมูลค่า 94,274 ล้านดอลลาร์ ขณะที่เวียดนามมีมูลค่าส่งออก 123,928 ล้านดอลลาร์, มาเลเซีย 101,589 ล้านดอลลาร์, อินโดนีเซีย 81,922 ล้านดอลลาร์ และฟิลิปปินส์ 17,975 ล้านดอลลาร์

 

 

ในแง่ของโครงสร้างการผลิตก็สะท้อนชัดเจนว่า ไทยแข่งขันกับภูมิภาคไม่ได้แล้ว ที่สำคัญการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือที่เรียกว่า FDI ของไทย เทียบหลายประเทศก็ ‘น้อยมาก’ โดยปี 2566 FDI Netflow ของอินโดนีเซีย อยู่ที่ 21,701 ล้านดอลลาร์, เวียดนาม 18,500 ล้านดอลลาร์, มาเลเซีย 8,255 ล้านดอลลาร์ และไทย 2,969 ล้านดอลลาร์ 

 

“ไทยรั้งท้ายแบบไม่น่าเชื่อ” เกรียงไกรกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising