×

Facebook โดนปรับเป็นประวัติการณ์ 1.55 แสนล้านบาท ฐานบกพร่องปกป้องความเป็นส่วนตัวผู้ใช้ กรณี Cambridge Analytica

25.07.2019
  • LOADING...
facebook Cambridge Analytica

คณะกรรมาธิการการค้าสหรัฐ (Federal Trade Commission) มีคำสั่งเป็นทางการเมื่อวันพุธที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ​ ด้วยเสียงโหวต 3-2 โดยให้เฟซบุ๊กชำระค่าปรับเป็นจำนวนเงินสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 155,000 ล้านบาท ฐานบกพร่องการป้องกันข้อมูลความเป็นส่วนตัวผู้ใช้ 

 

ข้อกล่าวหาด้านความบกพร่องในการป้องกันความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานที่ทางคณะกรรมาธิการการค้าสหรัฐฯ ดำเนินการสอบสวน มีตั้งแต่ปมที่ทำให้ข้อมูลผู้ใช้งานมากกว่า 87 ล้านราย รั่วไหลไปยัง Cambridge Analytica การให้ข้อมูลผู้ใช้งานกว่า 10 ล้านรายในทางที่ผิดว่า ฟีเจอร์ระบบจดจำใบหน้าไม่ได้ถูกตั้งค่าใช้งานตั้งแต่เข้าเฟซบุ๊ก (ทั้งๆ ที่จริงๆ ถูกตั้งค่าให้เป็น default อยู่แล้ว) รวมถึงการนำเบอร์โทรศัพท์ของผู้ใช้งานที่อ้างว่าจัดเก็บเพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัย แต่ถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ด้านโฆษณา

 

ข้อตกลงระหว่างคณะกรรมาธิการการค้าสหรัฐฯ และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานทั่วโลกมากกว่า 2 พันล้านราย ยังรวมถึงการที่บอร์ดบริหารของเฟซบุ๊กจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระ เพื่อดูและควบคุมนโยบายความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กโดยเฉพาะ ที่สำคัญการตัดสินใจใดๆ ก็ตามของคณะกรรมการชุดนี้ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานจะต้องไม่ขึ้นตรงกับ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊ก

 

ยิ่งไปกว่านั้น เฟซบุ๊กยังถูกกำชับให้ควบคุมดูแลและจัดการแอปฯ กลุ่ม Third-Party ที่พัฒนาเพื่อให้ใช้งานบนแพลตฟอร์มของพวกเขาอย่างเข้มงวด ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ไม่ได้ถูกเข้ารหัส และยกเลิกการใช้หมายเลขโทรศัพท์ผู้ใช้งานที่ถูกจัดเก็บด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยของผู้ใช้งานไปในทางที่ไม่เหมาะสม

 

โจเซฟ ไซมอนส์ ประธานคณะกรรมาธิการการค้าสหรัฐฯ กล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า แม้ว่าทางเฟซบุ๊กจะให้สัญญาซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับผู้ใช้งาน ถึงวิธีการจัดการและควบคุมการแชร์ข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาบนแพลตฟอร์ม แต่สุดท้ายแล้วเฟซบุ๊กก็ยังทำลายทางเลือกของผู้บริโภคอยู่ดี

 

นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังตกลงที่จะยอมจ่ายเงินเพิ่มเติมเป็นจำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ​ หรือราว 3,090 ล้านบาท ให้กับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา (SEC) อีกด้วย เพื่อยุติข้อกล่าวหากรณีให้ข้อมูลชี้นำกลุ่มนักลงทุนของบริษัทในทางที่ผิด โดยเฉพาะประเด็นความร้ายแรงของข้อมูลผู้ใช้ที่รั่วไหลและการถูกนำไปใช้งานในทางที่ไม่เหมาะสม

 

ทั้งนี้ จำนวนเงินค่าปรับ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เฟซบุ๊กถูกเรียกเก็บจากคณะกรรมาธิการการค้าสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นจำนวนเงินค่าปรับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ทาง FTC เคยเรียกเก็บจากหน่วยงานเอกชน หลังก่อนหน้านี้บริษัทจัดเก็บข้อมูลเครดิตของผู้บริโภคอย่าง Equifax เพิ่งจะถูกสั่งปรับเป็นจำนวนเงินราว 575-700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กรณีทำข้อมูลผู้ใช้งานรั่วไหลเมื่อปี 2017

 

ขณะที่มีการประเมินว่า จำนวนเงินค่าปรับดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 9% ของรายได้ทั้งหมดของเฟซบุ๊กในปี 2018 ที่ผ่านมา

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising