×

มอง 4 ประเด็นสำคัญจากกรณีอดีตพนักงาน แฉ Facebook ทำร้ายเยาวชน ไม่สนใจผู้คน มุ่งแต่ผลกำไร

07.10.2021
  • LOADING...
Facebook

ชื่อของ ฟรานเซส เฮาเกน (Frances Haugen) อดีตผู้จัดการฝ่ายดูแลผลิตภัณฑ์ของ Facebook วัย 37 ปี กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในฐานะ ‘ผู้แจ้งเบาะแส’ หรือ ‘Whistleblower’ หลังจากที่เธอส่งเอกสารภายในของบริษัทให้แก่หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal และเปิดหน้าให้สัมภาษณ์แฉบริษัทผ่านสื่อใหญ่อย่าง CBS News ก่อนจะเข้าให้การต่อคณะอนุกรรมาธิการของวุฒิสภาสหรัฐฯ เมื่อวันอังคาร (5 ตุลาคม) เปิดโปงแนวทางดำเนินงานของบริษัท ด้วยข้อกล่าวหาว่า Facebook นั้นมุ่งเน้น ‘การทำกำไรมหาศาล’ มากกว่า ‘การคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้คน’ 

 

ข้อกล่าวหาร้ายแรงของเฮาเกน ส่งผลให้ผู้คนทั่วโลกเกิดความสงสัยในนโยบายของ Facebook แม้ว่าล่าสุดทางผู้ก่อตั้ง Facebook อย่าง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก จะพยายามตอบโต้และปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวว่าไม่เป็นความจริง แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่สร้างความไม่มั่นใจให้กับผู้ใช้งาน 

 

Facebook รู้ว่าอัลกอริทึมทำร้ายผู้คน

 

– เฮาเกน ซึ่งลาออกจาก Facebook เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เข้าให้การต่อคณะอนุกรรมาธิการพาณิชย์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของวุฒิสภาสหรัฐฯ เริ่มต้นด้วยการประกาศยืนยันความเชื่อของเธอว่า ผลิตภัณฑ์เว็บไซต์และแอปพลิเคชันของ Facebook นั้นทำร้ายเยาวชน เพิ่มความแตกแยกและบั่นทอนระบอบประชาธิปไตยให้อ่อนแอลง 

 

– เฮาเกนชี้ว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นผลจากปัญหาพื้นฐาน คือโมเดลการทำธุรกิจของ Facebook ที่มุ่งเน้นด้านโฆษณา ซึ่ง Facebook ต้องการให้ผู้ใช้งานอยู่บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของตนให้นานที่สุด และบริษัทก็ใช้ประโยชน์จากอารมณ์ความรู้สึกเชิงลบเพื่อบรรลุเป้าหมาย

 

– ในระหว่างให้การต่อคณะอนุกรรมาธิการวุฒิสภา เฮาเกนกล่าวหาระบบการจัดอันดับเนื้อหาตามหลักอัลกอริทึม และการออกแบบแพลตฟอร์มของ Facebook ว่ามีส่วนสำคัญต่อปัญหาในหลายประเด็นที่เกิดขึ้น

 

– ขณะที่เฮาเกนกล่าวว่า Facebook รู้อยู่แล้วว่า การจัดอันดับเนื้อหาตามหลักอัลกอริทึม หรือการมีส่วนร่วมของผู้ใช้งานนั้น ทำให้ผู้ใช้งานใช้เวลาอยู่ในแพลตฟอร์มนานขึ้น ซึ่งระยะเวลาที่นานขึ้น หมายถึงการทำเงินที่มากขึ้นตามไปด้วย 

 

– หนึ่งในข้อมูลน่าตกใจที่ถูกเปิดเผยออกมา คืองานวิจัยภายในของ Instagram บริษัทลูกของ Facebook ซึ่งพบว่า แอปพลิเคชัน Instagram ทำให้สภาพจิตใจของเด็กหญิงวัยรุ่นแย่ลง โดย 32% ของเด็กหญิงวัยรุ่น เผยว่าในขณะที่พวกเธอกำลังรู้สึกแย่เกี่ยวกับร่างกายของตัวเองนั้น Instagram ยิ่งทำให้รู้สึกแย่ลง ซึ่งเฮาเกนเชื่อมโยงกรณีนี้ว่าเป็นผลจากระบบการจัดอันดับเนื้อหาที่อิงตามการมีส่วนร่วม

 

Facebook มีประเด็นปัญหาด้านโครงสร้าง

 

– เฮาเกนยังอ้างว่า Facebook มีปัญหาด้านการจัดหาทีมงานที่ไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการตรวจสอบและรับมือเนื้อหาที่เป็นอันตรายในแพลตฟอร์มของตน 

 

– โดยปัญหาหลักของการมีทีมงานไม่เพียงพอ มาจากความยากลำบากในการจ้างงาน ซึ่งทำให้แต่ละโปรเจกต์มีทีมงานน้อยเกินไป ซึ่งในส่วนงานที่เธอเคยทำ คือทีมงานต่อต้านการจารกรรมข้อมูลนั้น พบว่าสามารถจัดการกับปัญหาที่เจอได้เพียง 1 ใน 3 เท่านั้น

 

– ขณะที่สภาพแวดล้อมในองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหา โดยเฮาเกนชี้ว่า ซักเคอร์เบิร์กสร้างองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยตัวชี้วัดจำนวนมาก ซึ่งมีจุดประสงค์หลักเพื่อไม่ให้ใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบเพียงฝ่ายเดียว และให้ตัวชี้วัดเหล่านี้ทำการตัดสินใจแทน แต่ท้ายที่สุดแล้ว ตัวของซักเคอร์เบิร์กเองที่ควบคุมคะแนนโหวตในบริษัทมากกว่าครึ่ง ยังต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการอยู่ดี

 

เฮาเกนยืนยันไม่ต้องการแตกหักกับ Facebook

 

– เฮาเกนปฏิเสธการออกมาเปิดโปง Facebook ครั้งนี้ ว่าไม่ใช่การแตกหักกับบริษัทตามที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ แต่เธอมองว่า Facebook ควรถูกบังคับให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี เช่น การเปลี่ยนไปใช้ระบบฟีดข่าวและเนื้อหาตามลำดับเวลา และแจ้งให้ผู้ใช้งานอ่านเนื้อหาหรือบทความก่อนที่จะโพสต์

 

– โดยเธออ้างผลวิจัยภายในของ Facebook ที่ชี้ว่าการดำเนินการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเหล่านี้ จะช่วยลดการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ ข้อความที่สร้างความเกลียดชัง และเนื้อหาที่ปลุกปั่นความรุนแรงในแพลตฟอร์มได้อย่างมาก

 

– ขณะที่เฮาเกนยังเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ดำเนินการใดๆ เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ช่วยลดอันตรายจากแนวทางดำเนินงานของ Facebook โดยเปรียบเทียบกับบริษัทยาสูบหรือผู้ผลิตรถยนต์ ที่รัฐบาลเข้ามาดำเนินการควบคุมเพื่อให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

 

– สำหรับคำถามว่าการเปลี่ยนแปลงแนวทางดำเนินงานของ Facebook จะส่งผลต่อการทำกำไรของบริษัทหรือไม่นั้น เฮาเกนชี้ว่า Facebook มีตัวเลขกำไรในปัจจุบันที่สูงมาก โดยทำกำไรในปีที่แล้วสูงถึง 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 979,000 ล้านบาท 

 

– ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เธอกล่าวถึง จะไม่ทำให้ Facebook กลายเป็นบริษัทที่ไม่สามารถทำกำไร เพียงแต่อาจไม่ได้ทำกำไรอย่างไร้เหตุผล โดยผู้คนอาจจะบริโภคเนื้อหาบน Facebook น้อยลง แต่ Facebook ก็ยังคงทำกำไรอยู่

 

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก โต้ข้อกล่าวหา

 

– ซักเคอร์เบิร์กโพสต์ข้อความในบัญชี Facebook ส่วนตัว ตอบโต้คำให้การของเฮาเกน โดยชี้ว่าข้อกล่าวหาที่ว่า Facebook มุ่งเน้นการทำกำไรก่อนความปลอดภัยของประชาชนนั้นไม่เป็นความจริง

 

– เขาระบุถึงข้อกล่าวหาที่ว่า Facebook พยายามผลักดันเนื้อหาที่ทำให้ประชาชนมีอารมณ์โกรธเคืองเพื่อสร้างผลกำไรนั้น เป็นเรื่องที่ไร้เหตุผลอย่างยิ่ง เนื่องจาก Facebook ทำกำไรจากโฆษณา และผู้ลงโฆษณาเน้นย้ำกับบริษัทว่า ไม่ต้องการให้โฆษณาของพวกเขาไปอยู่ข้างเนื้อหาที่เป็นอันตรายหรือสร้างความโกรธเคือง

 

– นอกจากนี้ ซักเคอร์เบิร์กยังกล่าวถึงข้อกล่าวหาของเฮาเกน ที่มาจากเอกสารภายในบริษัทซึ่งส่งให้แก่ The Wall Street Journal ว่าเป็นข้อกล่าวหาที่ไร้เหตุผล

 

– หนึ่งในข้อกล่าวหาที่สร้างความเสียหายที่สุด คือ Facebook ล้มเหลวในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา หลังงานวิจัยภายในแสดงให้เห็นว่า Instagram ทำร้ายสภาพจิตใจของเด็กหญิงวัยรุ่น ซึ่งซักเคอร์เบิร์กชี้ว่า หาก Facebook ต้องการเพิกเฉยต่องานวิจัย ทำไมทางบริษัทต้องสร้างโครงการวิจัยในระดับผู้นำในอุตสาหกรรม เพื่อทำความเข้าใจประเด็นปัญหาสำคัญเหล่านี้ตั้งแต่แรก

 

– สำหรับข้อกล่าวหาที่ว่า ปัญหาการขาดแคลนพนักงานส่งผลต่อการจำกัดเนื้อหาที่เป็นอันตรายของ Facebook ซักเคอร์เบิร์กชี้แจงว่า หาก Facebook ไม่ใส่ใจในการจัดการกับเนื้อหาที่เป็นอันตราย ทำไม Facebook จึงมีการจ้างพนักงานมากมายเพื่อทุ่มเททำงานในเรื่องนี้มากกว่าบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน

 

– ซักเคอร์เบิร์กยังชี้แจงข้อกล่าวหาของเฮาเกน ที่อ้างถึงงานวิจัยภายในของ Facebook ว่าการเปลี่ยนแปลงระบบจัดอันดับเนื้อหาใน News Feed ทำให้เนื้อหาที่สร้างความแตกแยกถูกขยายออกไปมากขึ้น และ Facebook มุ่งเน้นการขยายเนื้อหาเหล่านี้เพื่อให้ผู้คนใช้เวลากับ Facebook มากขึ้น 

 

– ซึ่งเขาระบุว่า การเปลี่ยนแปลงอัลกอริทึมใน News Feed ของ Facebook เมื่อปี 2018 ถูกนำมาใช้เพื่อการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ใช้งาน โดยระบบจะแสดงคลิปไวรัลน้อยลง และมีเนื้อหาจากเพื่อนหรือครอบครัวมากขึ้น ซึ่ง Facebook รู้ดีว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะทำให้ผู้คนใช้เวลาใน Facebook น้อยลง แต่งานวิจัยชี้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องสำหรับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน พร้อมตั้งคำถามว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ คือสิ่งที่บริษัทที่มุ่งเน้นผลกำไรเหนือผู้คนทำหรือ?

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X