เหตุการณ์ล่าสุดที่สะเทือนความรู้สึกต่อผู้คนในสังคม ก็คือกรณีการฆ่าตัวตายของ นางสาวนิตยา สวัสดิวรรณ หรือ น้องเคลียร์ หญิงสาววัยรุ่นอายุ 18 ปี ที่ทำการว่าจ้างให้หนุ่มขับวินมอเตอร์ไซค์ช่วยถ่ายคลิป ซึ่งเป็นการไลฟ์สดระหว่างเธอกำลังก่อเหตุฆ่าตัวตาย ด้วยการกระโดดจากสะพานพระราม 8 ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ชนวนเหตุมาจากการผิดหวังเรื่องความรัก กระทั่งกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วสังคมออนไลน์
THE STANDARD สำรวจความเคลื่อนไหวของสังคม ชวนเรียนรู้เท่าทันทั้งตัวเองและคนใกล้ตัว เพื่อไม่ให้ ‘การฆ่าตัวตาย’ เป็นทางออกสุดท้ายของชีวิต ค้นหาแรงขับจากภายใน ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อรับมือและตอบคำถามถึงความคาใจต่างๆ ในแง่จิตวิทยาและมุมมองกฎหมาย หากพบคนอยู่ในภาวะอันตราย ไม่ยื่นมือเข้าช่วย กฎหมายเอาผิดได้จริงหรือ มีเหตุผลอะไรกันแน่
ไลฟ์สด เทคโนโลยี ช่วยประกาศความตาย หรืออยากให้รู้ว่าเจ็บปวด
เมื่อประมาณเดือนกันยายนปีที่แล้ว ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน ‘เพียงนาที เปลี่ยนชีวิต’ ที่โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งเป็นการรณรงค์ให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาการฆ่าตัวตาย
ปัญหาสำคัญของสิ่งที่พูดคุยกันวันนั้นก็คือ ‘การฆ่าตัวตาย’
คนที่มีความคิดฆ่าตัวตายนั้นมักจะเป็นผู้ที่ความทุกข์อย่างท่วมท้น ไม่สามารถที่จะสื่อสารด้วยวิธีอื่น ตกอยู่ในสภาพที่ทนทุกข์ทรมาน จึงเลือกทางออกสุดท้ายที่จะจบชีวิตตัวเองลง หากเปรียบเทียบความรู้สึก ณ เวลานั้น ก็คงเหมือนอยู่ในอุโมงค์มืดเพียงลำพัง
ข้ามปีมาไม่นานนัก เหตุการณ์สะเทือนความรู้สึกที่มาจากเหตุฆ่าตัวตายของหญิงวัย 18 ปีที่ผิดหวังเรื่องความรัก กระทั่งโดดสะพานลงเเม่น้ำ เพื่อทิ้งโลกใบนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะเทคโนโลยีการไลฟ์สดของเฟซบุ๊กคือเครื่องมือที่ใช้ประกาศให้คนที่ติดตามเธอรับรู้ถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และในที่สุดมันก็ดับไปพร้อมๆ กับชีวิตของหญิงสาวที่ยังมีอนาคตอีกยาวไกล
พ.ต.หญิง ดร.พนมพร พุ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสมาคมสะมาริตันส์ ที่ให้บริการเป็นเพื่อนพูดคุยทางโทรศัพท์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย อธิบายให้ THE STANDARD ฟังว่า
ไม่ใช่ทุกคนที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายแล้วจะ ‘ไลฟ์สด’ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นชวนให้น่าคิดว่า ข้างในลึกๆ ของผู้ที่ตัดสินใจจบชีวิตตนเองด้วยวิธีการแบบนี้ต้องการอะไร เพราะโดยปกติคนที่ฆ่าตัวตายคือคนที่ไม่อยากมีชีวิตอยู่บนโลก และเลือกที่จะจบชีวิตไปตามวิถีของตนเอง
“สิ่งที่เกิดขึ้นอาจารย์อยากจะชวนมองว่า มีความต้องการในการไลฟ์สดแบบนี้ เพื่อที่อยากจะบอกใคร อยากบอกผู้คนให้รู้ถึงความเจ็บปวดที่เกิด หรืออยากให้คนเห็นคุณค่าของตนเอง มีความต้องการให้อีกฝ่ายเข้ามารับรู้ รวมทั้งสังคม
“คำถามต่อมาคือการทำแบบนี้ คนที่เห็นจะเป็นใครบ้าง เพราะเฟซบุ๊กไม่ได้จำกัดกลุ่มเพื่อนแบบโซเชียลมีเดียอื่น เช่น ไลน์ แต่สามารถทำให้เกิดการแชร์ บอกต่อ และตั้งค่าสาธารณะได้ ที่น่าคิดต่อคือ คนที่ทำแบบนี้อาจเป็นเพียงคนทั่วไปที่ไม่มีใครรู้จัก แต่อยากบอกให้คนรู้ว่ามีทุกข์ หรือต้องการให้ใครยื่นมือเข้ามาช่วยเขา”
ไลฟ์สด ฆ่าตัวตาย มีความเสี่ยงส่งต่อ อาจเกิดการเลียนแบบ
เช่นนี้แล้วการไลฟ์สดจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการลอกเลียนแบบเป็นพฤติกรรมหนึ่งในการฆ่าตัวตายหรือไม่นั้น ดร.พนมพร เห็นว่า อาจเป็นหรือไม่เป็นก็ได้ คนที่หวั่นไหวข้างใน คนที่มีกลุ่มแฟนคลับอย่างดาราเกาหลีที่เคยก่อเหตุ เขาอาจจะอยากบอกอะไรกับกลุ่มคนที่เขารัก เป็นวาระสุดท้าย หรือเพื่อบอกให้รู้ว่าเขามีทุกข์ รูปแบบเหล่านี้จริงๆ แล้วก็คล้ายคลึงกับการส่งสัญญาณกลายๆ ว่าต้องการให้ช่วยเขาด้วยในคราวเดียวกัน
“ที่มันสะเทือนอารมณ์ความรู้สึกมาก เพราะการฆ่าตัวตายแบบนี้ แบบทำให้คนรู้มันไปกระแทกความรู้สึกผู้คน และเข้าถึงกลุ่มคนได้อย่างกว้าง”
สอดคล้องกับที่ น.ต. นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตให้ข้อมูลว่า มีการศึกษาพบว่า บุคคลที่เปราะบาง ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหามากอยู่แล้วจะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ที่จะมีโอกาสเลียนแบบได้สูง เพราะอยู่ในสภาวะจิตใจที่ขาดความมั่นคง ซึ่งสื่อหลักและสื่อสังคมจะมีส่วนช่วยได้มาก ด้วยการระมัดระวังในการนำเสนอข่าวหรือการส่งต่อข้อมูล เนื่องจากเลือกไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ
ช่วยเหยื่อให้พ้นทุกข์ ด้วยการรับฟังให้มาก พูดกันอย่างใจเย็น
ดร.พนมพร ฝากข้อคิดสำหรับตัวเราและคนใกล้ตัวว่า หากมีใครที่อยู่ใกล้ตัวเราเปรยขึ้นมากลายๆ ว่า อยากตาย เบื่อโลกนี้ ไม่อยากอยู่แล้ว ภาวะแบบนี้เรียกว่า call for help มีความหมายซ่อนอยู่ภายใต้บริบทนี้ว่า เขาต้องการความช่วยเหลือจากใครสักคน หากเราสามารถช่วยได้ อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อเขาก็ขอให้เต็มใจที่จะทำ เพราะคนปกติทั่วไปคงไม่มีใครมานั่งบ่นแบบนี้
“ข้างในเขาคงทุกข์หนักมาก ขอให้เราพูดกับเขาอย่างใจเย็น ฟังด้วยความตั้งใจ ให้อีกฝ่ายระบาย เล่ารายละเอียดของความทุกข์ออกมา เพื่อให้เขารู้สึกว่าในชีวิตยังมีทางออกอีกมากมาย ความตายไม่ใช่ทางออกเดียว”
ขณะที่หมอแอร์ พ.ต.ท. พญ.อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล จิตแพทย์ (โรงพยาบาลตำรวจ) บอกว่า อาการผิดหวังจากความรักก็เป็นสาเหตุฆ่าตัวตายลำดับต้นๆ บางคนเขาไม่อยากตายคนเดียว ไม่อยากจากไปอย่างเดียวดาย ก็เลือกที่จะหาวิธีบอกหรือสร้างความสนใจให้เห้นคุณค่าของตนเอง
“ที่น่าคิดต่อก็คือ กรณีไลฟ์สดของหญิงสาววัยรุ่นนั้น หากเราสามารถให้ความรู้ประชาชนทั่วไป เพื่อรู้ถึงอาการจากการสังเกตเบื้องต้นว่า เขามีภาวะที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ อย่างวินมอเตอร์ไซค์ ก็อาจจะกลายเป็นคนที่ให้ความช่วยเหลือเขาก็ได้ เรื่องนี้ยาก แต่ก็ต้องลงมือทำกันต่อไป”
ช่วยไลฟ์สดให้คนฆ่าตัวตาย ในมุมกฎหมาย มีทั้งผิดและไม่ผิด
“น้องวัย 18 ว่าจ้างให้ผมมาส่งที่สะพานพระราม 8 จากนั้นก็ให้ช่วยไลฟ์สดเฟซบุ๊ก ทั้งๆ ที่ไม่รู้มาก่อนว่าเขาจะกระโดดลงไป ผมคิดแค่ว่าต้องการจะให้ช่วยถ่ายบรรยากาศให้เท่านั้น แต่พอเห็นว่าน้องโดดลงไปจริงๆ ผมก็รีบโทรฯ แจ้งตำรวจ และขอความช่วยเหลือคนแถวๆ นั้นทันที” คือคำให้การของ นายภัทรดนัย นุ่มศรีนารถ คนขับวินมอเตอร์ไซค์ที่ไปส่งหญิงสาว รวมทั้งเป็นผู้ถ่ายทอดสดเหตุสะเทือนความรู้สึกดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊ก
ข้อเท็จจริงหนึ่งที่สังคมสนใจก็คือ กรณีที่หนุ่มคนดังกล่าวไม่เข้าช่วยเหลือหญิงสาวที่ฆ่าตัวตาย แต่กลับทำหน้าที่เสมือนสนับสนุนด้วยการช่วยไลฟ์สด นำมาสู่การตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 374 ที่วางหลักไว้ว่า ‘ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิตซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่นแต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ’
กฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์เบื้องหลังอย่างไร แล้วการฆ่าตัวตาย ไม่เข้าช่วยเหลือ เป็นความผิดด้วยหรือ ขยายไปมากกว่านั้นคือการไม่ช่วยคนที่มีอันตรายตรงหน้า แบบไหนถึงจะกลายเป็นความผิด เพราะเงื่อนไขชีวิตแต่ละคนอาจต่างออกไปตามสถานการณ์
ผศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญา ช่วยไขคำตอบเกี่ยวกับประเด็นการฆ่าตัวตายว่า
โดยหลักการ การฆ่าตัวตายของบุคคล ไม่ถือว่าเป็นความผิดทางอาญา คนที่เห็น ที่ช่วย ที่ยุ โดยหลักการก็ไม่มีความผิดทางอาญาเช่นเดียวกัน เพราะการต้องการมีชีวิตอยู่หรือตาย ถือว่าเป็นเสรีภาพของแต่ละบุคคล
แต่อย่างไรก็ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 293 วางหลักไว้ว่า ‘ผู้ใดช่วยหรือยุยงเด็กอายุยังไม่เกินสิบหกปี หรือผู้ซึ่งไม่สามารถเข้าใจว่าการกระทำของตนมีสภาพหรือสาระสำคัญอย่างไร หรือไม่สามารถบังคับการกระทำของตนได้ ให้ฆ่าตนเอง ถ้าการฆ่าตนเองนั้นได้เกิดขึ้นหรือได้มีการพยายามฆ่าตนเอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ’
ความหมายก็คือ ถ้ามีใครไปช่วยหรือไปยุยงให้เด็กที่มีอายุไม่เกิน 16 ปี หรือคนสติไม่ดีไปฆ่าตัวตาย กฎหมายบอกว่าแบบนี้ผิด เพราะเด็กยังไม่สามารถที่จะตัดสินใจอะไรได้ดี ส่วนคนที่สภาพเสียสติ ตัดสินใจอะไรเองไม่ได้อยู่แล้ว ไปยุหรือช่วยให้เขาฆ่าตัวตายแบบนี้คือผิดกฎหมาย แต่ก็ต้องพิจารณาถึงเจตนาของเขาด้วย ตามข้อเท็จจริงของแต่ละสถานการณ์
ดร.ปกป้อง ขยายความต่อถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 374 ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาตั้งเป็นข้อหาต่อวินมอเตอร์ไซค์คันดังกล่าวว่า มาตรา 374 นั้น เป็นเรื่องของการที่เห็นคนตกอยู่ในอันตราย ซึ่งเราสามารถที่จะช่วยได้แต่ไม่ช่วย เช่น เห็นคนจะตาย เห็นคนมีอันตราย กฎหมายมีเจตนารมณ์เพื่อให้พลเมืองเป็นคนดีของสังคม ไม่เพิกเฉยต่อเหตุร้ายที่เกิดกับผู้คนในสังคม แต่โทษของกรณีดังกล่าวก็เป็นโทษเล็กน้อย ซึ่งภาษากฎหมายเรียกว่าลหุโทษ
ดร.ปกป้อง อธิบายอีกว่า การจะมีความผิดตามกฎหมายข้างต้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีเงื่อนไขตามกฎหมายที่ต้องพิจารณา คือ
1. ต้องเห็นคนตกอยู่ในภาวะอันตราย
2. เป็นภาวะที่ช่วยได้ โดยไม่กลัวอันตราย แต่กลับไม่ช่วย
เช่น เราเห็นคนกำลังจะจมน้ำ อยู่ต่อหน้า ถ้าเราว่ายน้ำไม่เป็น กลัวว่าลงไปช่วยแล้วอาจจะตายไปด้วยกันทั้งคู่ ก็เลยไม่ช่วย แบบนี้ไม่ถือว่าเป็นความผิด กลับกัน ถ้าคนที่เห็นเป็นนักว่ายน้ำ เป็นนักประดาน้ำ หน่วยกู้ภัยที่ถูกฝึกมาเพื่อช่วยเหลือคน แต่เพิกเฉยไม่ช่วย อันนี้ผิดกฎหมายแน่นอน
“ถ้าพิจารณาตามปกติของวิญญูชน เห็นคนจมน้ำ เห็นน้ำเชี่ยว แล้วกลัว ไม่โดดลงไปช่วย เพราะอาจทำให้ตัวเองเสียชีวิตด้วยอันนี้ไม่ผิด แล้วถ้าไปดูวินมอเตอร์ไซค์ที่ช่วยไลฟ์สดหญิงสาวฆ่าตัวตาย อันนี้ยิ่งไม่ผิดโดยหลักการ และไม่ผิดมาตรา 374 ด้วย เมื่อเขาไม่รู้ว่าการกระทำแบบนั้นของหญิงสาวจะเป็นการฆ่าตัวตาย หรือต่อให้รู้ การที่คนเราจะกระโดดไปช่วยคนที่ตกลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เชี่ยวและสะพานก็สูง เลยตัดสินใจไม่ช่วยก็ยิ่งไม่ผิด คือมันต้องวัดจากมาตรฐานวิญญูชน หรือคนปกติทั่วไปว่า แบบนี้จะช่วยไหม”
แม้ว่าจะมีควาคลุมเครือระหว่างคำอธิบายทางกฎหมายกับคำถามในเชิงศีลธรรมว่า เห็นคนจะตายแต่ไม่ช่วยนั้นเป็นบาปหรือไม่ ผู้เขียนเห็นว่าเราก็ได้บทเรียน ที่สำคัญจากกรณีนี้อยู่ไม่น้อย เป็นปรากฏการณ์ที่อธิบายตั้งแต่เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตผู้คน คือเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกก็จริง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นดาบสองคมทิ่มแทงไปพร้อมกัน
การฆ่าตัวตาย อาจมีเหตุปัจจัยจากหลายสาเหตุ แต่ก่อนจะนำไปสู่โศกนาฏกรรมความสูญเสียแบบที่เราเห็น ‘ทุกคน’ ควรหันมาช่วยพยุงประคับประคองตัวเองและคนใกล้ตัวไม่ให้เดินเหยียบเข้าไปสู่ภาวะเช่นนั้นจะดีกว่า