×

ถ้าซื้อไม่ได้ เราก็ทำเองซะเลยสิ! มองทิศทางการเปลี่ยนแปลงของ Facebook-Instagram และสงครามศึกชิงเจ้ายุทธภพกับ TikTok

11.08.2022
  • LOADING...
Facebook-Instagram

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • Mark Zuckerberg ผู้เป็นซีอีโอของบริษัท Meta ได้พูดกับพนักงานอย่างจริงจังว่า ตอนนี้บัลลังก์ของ Social Media อย่าง Facebook และ Instagram กำลังสั่นคลอนด้วยแอปพลิเคชันหน้าใหม่มาแรงอย่าง TikTok ที่ทวีคูณจำนวนผู้ใช้อย่างรวดเร็วหลายเท่าตัว 
  • ที่ผ่านมาการเติบโตของ Facebook อย่างก้าวกระโดดนั้น นอกจากการพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ อยู่ตลอดเวลาแล้ว จะเห็นเค้าลางของการดำเนินการโดยมีลักษณะเป็นกิจการควบรวม (Merger) อยู่
  • การใช้ระบบ AI แนะนำเนื้อหาเกิดขึ้นแล้ว 15% บนหน้าฟีด Facebook และ Instagram และ Mark ตั้งเป้าจะเพิ่มการใช้งานระบบนี้อีกเท่าตัว หรือ 30% ภายในปีหน้า ซึ่งเรื่องนี้ถูกต่อต้านจนต้องยอมถอย (ชั่วคราว)
  • คำถามสำคัญจึงไม่ใช่ว่าสองสหายที่ชื่อ Facebook กับ Instagram ผนวกกำลังกันเข้าต่อกรกับ TikTok ศัตรูที่กระโดดโลดเต้นอย่างสนุกสนานคนนี้ แล้วผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร เพราะฝั่ง TikTok ดูจะมีแรงกดดันมากกว่าด้วยยอดผู้ใช้และรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

“เรากำลังเผชิญหน้ากับระดับการแข่งขันที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน ผู้คนมีทางเลือกมากมายว่าอยากจะใช้เวลาของพวกเขาอย่างไร และแอปพลิเคชัน TikTok เป็นแอปที่เติบโตอย่างรวดเร็วมาก” 

 

จากรายงานของ Bloomberg นี่คือสิ่งที่ Mark Zuckerberg ผู้เป็นซีอีโอของบริษัท Meta กล่าวกับพนักงานอย่างจริงจังขึงขังผ่านการประชุมเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ว่าตอนนี้บัลลังก์ของ Social Media อย่าง Facebook และ Instagram กำลังสั่นคลอนด้วยแอปหน้าใหม่มาแรงอย่าง TikTok ที่ทวีคูณจำนวนผู้ใช้อย่างรวดเร็วหลายเท่าตัว 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 


 

ทางออกของ Mark คือ ปรัชญาแบบ ‘ขอซื้อก่อน ถ้าซื้อไม่ได้ เราก็ทำของเราเองซะเลยสิ’ และคำตอบของปรัชญานั้นในช่วงเวลานี้คือการปรับอัลกอริทึมของ Facebook และ Instagram ให้มีความคล้ายคลึงกับ TikTok มากขึ้น 

 

ถ้าซื้อไม่ได้ก็ ‘สร้างฟีเจอร์ใหม่ๆ’ โดยได้รับ ‘แรงบันดาลใจ’ จากแพลตฟอร์มอื่น

ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องนี้ หากย้อนดูประวัติศาสตร์ของ Facebook หรือบริษัท Meta ที่เริ่มต้นจากความตั้งใจเล็กๆ ที่แค่จะสร้างหนังสือรุ่นของเด็กมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดคนหนึ่ง นำไปสู่หนึ่งในแพลตฟอร์ม Social Media ที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

 

เราจะพบว่าการเติบโตของ Facebook อย่างก้าวกระโดดนั้น นอกจากการพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ อยู่ตลอดเวลาแล้ว จะเห็นเค้าลางของการดำเนินการโดยมีลักษณะเป็นกิจการควบรวม (Merger) อยู่

 

หรือกล่าวคือ การเจอคู่แข่งที่น่าสนใจนำไปสู่การติดต่อเจรจาซื้อกิจการมูลค่าหลายพันล้าน (ที่เป็นการตัดคู่แข่งไปด้วยในตัว) นำไปสู่การสร้างเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์กในเครือตัวเองอย่าง Facebook, Instagram และ WhatsApp 

 

Facebook-Instagram

 

แต่หากไม่สำเร็จ จะตามมาด้วยคำว่า ‘ได้’ ภายในใจของ Mark จากนั้นเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของหนึ่งในโซลเชียลมีเดียเหล่านี้ไปในทิศทางที่ละม้ายคล้ายคลึงกับกิจการที่ปฏิเสธจะขายให้กับเขา ที่ขอนิยามว่าเป็นการ ‘สร้างฟีเจอร์ใหม่ๆ’ โดยได้รับ ‘แรงบันดาลใจ’ มาจากแพลตฟอร์มอื่นแทน 

 

การปรับเปลี่ยนเกิดขึ้นกับทั้งสองแพลตฟอร์มอยู่ตลอดเวลา และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถอารยะขัดขืนได้ เพราะทุกบัญชีผู้ใช้ในโลก Social Media นั้นเหมือน ‘เช่าเขาอยู่’ ตามที่อาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา ได้กล่าวไว้เกี่ยวกับชีวิตคนและโลกใบนี้ เพียงแต่แตกต่างก็ตรงที่โลกดิจิทัลทั้งสองมีเจ้าของชื่อ Mark 

 

ที่ผ่านมามีหลายฟีเจอร์บน Facebook ที่เราจะเห็นได้ว่าคุ้นตาอย่างบอกไม่ถูก ไม่ว่าจะเป็น Facebook Stories, Facebook Dating, Facebook Marketplace, Facebook Group, Facebook Gaming, Live Audio Rooms, การออกสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี Libra, พาผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าสู่โลกยุคใหม่ด้วย Horizon Worlds ไปจนถึงการประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ‘Meta’ เพื่อแสดงความชัดเจนว่าไม่ได้มีแค่ Facebook อย่างเดียว 

 

ซึ่งจะเห็นได้ว่าบางอย่างเวิร์ก บางอย่างเงียบ แต่ในภาพรวมแล้วทั้งหมดรวมกันเป็นกลุ่มก้อนของฟีเจอร์ที่ทำให้ Facebook มีความเป็น ‘One Stop Service’ อยู่ไม่น้อย 

 

แม้การเปลี่ยนแปลงหน้าตาภายนอกเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นตามกาลเวลา ตั้งแต่ไอคอนจนถึงอินเตอร์เฟซ แต่ภายในนั้นปัญหาที่ทั้งคนทำเพจและบัญชีผู้ใช้พบเจอคือการปรับอัลกอริทึมอยู่ตลอดเวลา เริ่มตั้งแต่การทยอยปรับยอดรีชเพจให้ลดลงด้วยเหตุผลที่ว่า ‘ต้องการให้ผู้คนเชื่อมต่อกันมากขึ้น’ ทำให้คนทำเพจต้องยิงโฆษณาเพื่อเพิ่มยอด และเผชิญกับปัญหายอดรีชรวนแบบไม่สามารถคาดเดาได้ 

 

ก่อนที่ภายหลังเกิดการกลับตาลปัตร และยังมีการสั่งสร้าง Discovery Engine หรือ AI ที่ราวกับมาฆ่าปลาตัวใหญ่ และแหวกกระแสน้ำให้ปลาตัวเล็กได้แหวกว่ายและเติบโตด้วยระบบ ‘Suggest You’ ที่ได้รับ ‘แรงบันดาลใจ’ มาจาก TikTok ที่จะสุ่มเนื้อหาจากเพจที่ไม่ได้กดไลก์มาขึ้นหน้าฟีด แต่อัลกอริทึมประเมินพฤติกรรมแล้วคิดว่าเราอาจสนใจ 

 

ในขณะที่เนื้อหาจากเพจที่กดติดตามลดน้อยลง และในฝั่งของผู้ผลิตคอนเทนต์เองก็ต้องเน้นโพสต์ที่สร้างกระแสเป็นไวรัลให้มากขึ้น เพื่อดึงความสนใจผู้คนที่ไม่ได้ติดตามจากการเห็นส่วนเท็กซ์หรือภาพในแวบแรกที่ได้พบเห็น

 

การใช้ระบบ AI แนะนำเนื้อหาเกิดขึ้นแล้ว 15% บนหน้าฟีด Facebook และ Instagram และ Mark ตั้งเป้าจะเพิ่มการใช้งานระบบนี้อีกเท่าตัว หรือ 30% ภายในปีหน้า

 

Facebook-Instagram

 

ความคิดเห็นที่แตกต่าง

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้ผู้ใช้ Facebook ทั้งฝ่ายบริโภคและฝ่ายผลิตมีความเห็นสองทาง ในแง่ของข้อดี ผู้ใช้ได้รู้จักเพจเล็กๆ นักทำคอนเทนต์หน้าใหม่ หรือได้มีโอกาสเข้าถึงคอนเทนต์ที่หลากหลายสไตล์มากขึ้น (แม้จะอยู่ในขอบข่ายหัวข้อเดียวกัน) 

 

ขณะที่ข้อเสียอันใหญ่โตคือการที่ AI ยังทำงานไม่อัจฉริยะเท่าที่ควร เช่น การสุ่มโฆษณาหรือโพสต์เกี่ยวกับเรื่อง 18+, บุหรี่ไฟฟ้า หรือเว็บพนันมาให้ ทั้งที่ไม่ได้สนใจ จนหลายคนรู้สึกถึงคอนเทนต์ที่มหาศาลไปและไม่ตรงความสนใจเสียทีเดียว

 

ส่วนทางฝั่ง Instagram จากแพลตฟอร์มที่ตั้งต้นด้วยรูปภาพและมีเอกลักษณ์ชัดเจนอยู่แล้ว (หรือเหตุผลที่ทำให้ Instagram บูมและยืนระยะมานานได้ถึงเพียงนี้) ก็ได้ดำเนินมาสู่แพลตฟอร์มกึ่งวิดีโอ อีกทั้งหลังจากได้มีการเจรจาเข้าซื้อ Snapchat ด้วยเม็ดเงินสูงถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราวๆ 1 หมื่นกว่าล้านบาทไทย) แต่การเจรจาไม่เป็นผล ก็ได้เกิดเป็นฟีเจอร์ Facebook Stories กับ Camera Effects ตามมา

 

และที่เพิ่งจะมีกระแสเดือดปุดๆ เมื่อไม่นานมานี้ นั่นก็คือการที่ Instagram ประกาศอัปเดตครั้งใหญ่ ที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านจากแพลตฟอร์มรูปภาพและวิดีโอไปสู่แพลตฟอร์มแบบ ‘All-Reels’ หรือมีการใช้อัลกอริทึมจัดส่ง Instagram Reels หรือคลิปขนาดสั้น ที่อิงจาก ‘ความน่าจะชอบ’ ของผู้ใช้มาเสิร์ฟถึงหน้าฟีดเหมือน TikTok ใช้แล้วประสบความสำเร็จ ที่จะเห็นได้ว่ารูปร่างหน้าตากับขนาดวิดีโอตั้งแต่ 15, 30 และ 60 วินาที อดทำให้นึกถึง TikTok ไม่ได้ (ความตลกร้ายคือ Reels ทั้งใน Facebook และ Instagram จำนวนไม่น้อย เป็น Reels ที่ถูกดูดมาจาก TikTok และ TikTok เองก็ยิงโฆษณาโปรโมตตัวเองบน Facebook)

 

เปรียบเทียบเหมือนการที่ตั้งใจจะเข้ามาฟังคอนเสิร์ตจากศิลปินวงซินธ์ป๊อป แต่กลับเป็นวงเฮฟวีเมทัลขึ้นมาเล่นแทน แน่นอนว่าแม้มันไม่ใช่เรื่องแย่ หรืออาจเป็นเรื่องดีในอีกทาง แต่ก็เป็นอะไรที่ผิดความคาดหวัง ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจและเกิดการต่อต้านขึ้น 

 

เริ่มจากมีการตั้งแคมเปญ ‘Make Instagram Instagram Again’ บนเว็บไซต์ change.org ที่มีคนร่วมลงชื่อถึงเกือบ 300,000 รายชื่อ และการโพสต์ภาพโดยอินฟลูเอ็นเซอร์และช่างภาพวัย 21 ปีที่ชื่อ Tati Bruening บนแอ็กเคานต์ @illumitati ที่มีข้อความว่า “ทำให้ Instagram เป็น Instagram อีกครั้ง (หยุดพยายามทำตัวเป็น TikTok เพราะฉันแค่อยากจะเห็นรูปน่ารักๆ ของเพื่อนๆ ของฉัน) จริงๆ แล้ว ทุกคนคิดแบบนี้” ซึ่งภาพนี้มีคนกดไลก์มากถึง 2.2 ล้านครั้ง 

 

Facebook-Instagram

 

“TikTok มีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างและเป็นคอนเทนต์ประเภทที่แตกต่างกับ Instagram ฉันมองว่าสองแฟลตฟอร์มไม่ใช่คู่แข่งของกันและกัน ฉันคิดว่า Instagram บรรลุเป้าหมายในการเชื่อมโยงผู้คนในชีวิตจริงเข้าหากัน ส่วน TikTok เป็นเหมือนแหล่งความบันเทิงซะมากกว่า” ความเห็นของ Tati Bruening ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับทาง Gizmodo เรื่องความรู้สึกของเธอเกี่ยวกับกระแสที่เธอเป็นคนเริ่มนี้

 

สิ่งที่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมมากที่สุดคือเซเลบเบอร์ใหญ่อย่าง Kylie Jenner, Kim Kardashian และ Kourtney Kardashian ที่มีผู้ติดตามมากถึง 362, 327 และ 192 ล้านตามลำดับ ได้โพสต์ภาพนี้ในสตอรี

 

ผลคือหลังจากนั้น Adam Mosseri ผู้บริหารสูงสุดของ Instagram ได้ออกมาชี้แจงพร้อมประกาศก้าวถอยหลังจากเรื่องนี้ ผ่านคลิปบนแอ็กเคานต์ Twitter @mosseri ใจความว่า

 

“ผมได้ยินฟีดแบ็กเกี่ยวกับเรื่องรูปบน Instagram และวิธีการที่เราเปลี่ยนมันเป็นวิดีโอแล้ว ในตอนนี้ผมต้องการที่จะพูดให้เคลียร์ว่า เราจะยังคงไว้ซึ่งจุดเด่นด้านการเป็นแอปแชร์รูปภาพของ Instagram ต่อไป มันคือมรดกตกทอด แต่ถึงจะพูดแบบนี้ ผมคงต้องพูดด้วยความสัตย์จริงว่า ผมเชื่ออย่างยิ่งว่านับวัน Instagram จะเริ่มกลายเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอ และเราเห็นมันแบบชัดๆ อยู่แล้วแม้ทางเราจะไม่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงมัน ฉะนั้นเราจึงต้องปรับตัวสู่แนวโน้มนั้นไม่วันใดก็วันหนึ่งอยู่ดี” 

 

ถอยแค่ชั่วคราว?

ดูเหมือนว่าแม้จะผ่านกระแสต่อต้านมาแล้ว และได้รับทราบฟีดแบ็กหลังจากได้ลองเชิง (ที่ไม่ได้ตั้งใจจะลอง) แต่จากประวัติศาสตร์ภายใต้แนวทางของบริษัท Meta และคำแถลงการณ์ของ Adam ก็มีแนวโน้มว่านี่จะเป็นเพียงการถอยชั่วคราว เพื่อรอวันที่จะนำฟังก์ชันประเภทเดียวกับคู่แข่งกลับมาใช้อีกครั้ง ในแบบที่โอเคกับชาว Photo Lovers โดยที่สามารถทำให้คนใช้แอป Instagram ยอมรับองค์ประกอบแบบ TikTok ได้

 

คำถามสำคัญคือ ทำไม Facebook และ Instagram ถึงได้พยายามเป็นอย่าง TikTok ขนาดนั้น? TikTok มีดีอะไรถึงขนาดมาสั่นคลอนบัลลังก์ของ Mark Zuckerberg ได้ถึงเพียงนี้?

 

TikTok หรือชื่อจีน Douyin เป็นแพลตฟอร์มของประเทศจีน ภายใต้บริษัทเทคยักษ์ใหญ่อย่าง ByteDance ที่เปิดตัวเมื่อปี 2017 และมียอดจำนวนผู้ดาวน์โหลดเติบโตอย่างก้าวกระโดด (บางปีมากกว่า 100%) จนในปัจจุบันมียอดสูงถึง 2.6 พันล้านครั้ง 

 

การเติบโตนี้เกิดขึ้นเมื่อควบรวมกับแอป Musical.ly โดยแอป TikTok ชูจุดเด่นคือการให้ผู้ใช้สามารถลิปซิงก์ ตัดต่อคลิป ทำชาเลนจ์เต้นด้วยการใส่เพลง และอื่นๆ ที่เปิดโอกาสให้คนธรรมดาสามารถกลายมาเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ได้ง่ายขึ้น 

 

ด้วยอัลกอริทึมที่ดึงดูดให้ผู้ใช้ติดหนึบอยู่กับหน้าจอ จนไม่แปลกใจนักที่ TikTok ทำให้ ByteDance กลายเป็นหนึ่งในบริษัทสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ซึ่งหากจะพูดถึงสิ่งที่เป็นจุดเด่นและสูตรสำเร็จของ TikTok คงต้องย้อนกลับไปที่ประเภทของมีเดียในยุค 4.0 กันก่อน

 

Facebook-Instagram

 

Michael Mignano ผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์มพอดแคสต์ Anchor พูดถึงประเภทมีเดียไว้ในเว็บไซต์ medium.com อย่างน่าสนใจว่ามีเดียแบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ 

 

  1. Social Media หรือสื่อเชิงสังคม ที่ประกอบไปด้วยตัวอักษร รูปภาพ วิดีโอ และเสียง ที่ทำให้ผู้คนเชื่อมต่อกันด้วยกิจกรรมร่วมทางสังคม (Social Activity) มีเดียรูปแบบนี้จะเป็นการันตีสถานะความเป็นครีเอเตอร์ หรือผู้ผลิต รวมไปถึงการผูกขาดอำนาจการผลิตเนื้อหาประเภท ‘มาก่อน จับจองก่อน ได้ก่อน และหากสร้างคอนเทนต์อย่างสม่ำเสมอ การันตีการเติบโตได้ระดับหนึ่ง’ ตัวอย่าง Social Media ก็เช่น Facebook, Instagram และ Twitter ที่เหมารวมตั้งแต่ระดับเพื่อน คนรู้จัก จนถึงเหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์และผู้นำความคิด (KOL) มีเดียประเภทนี้จะไม่ได้ผ่านการคัดกรอง และมีโอกาสเป็นทั้งเนื้อหาคุณภาพดีและเนื้อหาไม่มีคุณภาพ

 

  1. Recommendation Media หรือสื่อเชิงแนะนำ เป็นมีเดียประเภทย้ายความสำคัญมาที่ตัวแพลตฟอร์มแทนผู้ผลิต และเน้นการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI แนะนำ กระจาย และส่งตรงเนื้อหา จากนั้นยอดเอ็นเกจเมนต์ก็จะส่งต่อเนื้อหาให้เห็นกว้างขึ้นต่อไป ตัวอย่างมีเดียประเภทนี้ เช่น TikTok และ YoTube ที่ผู้ผลิตไม่ว่าหน้าเก่า-หน้าใหม่มีโอกาสแจ้งเกิดและผันตัวเองมาเป็นผู้ผลิตได้ง่ายกว่า เพราะอำนาจการผูกขาดกลุ่มผู้ชม-ผู้ใช้ไม่ได้สำคัญเท่า Social Media 

 

หากอิงตามนี้ จะเห็นได้ว่า TikTok มีความเป็น Recommendation Media มากกว่า Social Media จากการที่คนธรรมดาสักคนสามารถเป็น ‘ดาว TikTok’ ที่ยอดวิวเป็นล้าน ยอดกดไลก์เป็นแสนได้ เพียงแค่อัดคลิป ตัดต่อ ใส่เพลง จากนั้นปล่อยที่เหลือเป็นหน้าที่ของความน่าสนใจในตัวคลิปและอัลกอริทึมการส่งต่อของ AI 

 

ทำให้ถึงแม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเดียทั้งสองรูปแบบต่างก็เป็นมีเดียที่ขับเคลื่อนด้วยผู้ใช้ ที่ขอนิยามว่า ‘User-Driven’ ในแง่ที่มันเกี่ยวข้องกับเรื่องยอดเอ็นเกจเมนต์ และความสนใจของผู้ใช้ทั้งในประเทศและทั่วโลก 

 

แต่ Recommendation Media อย่าง TikTok จะออกไปทาง User-Driven มากกว่า เพราะเน้นให้เกิดการสร้างคอนเทนต์และการเข้าถึงง่าย ที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึก ‘อยากทำแบบนั้นบ้างจัง’ และ ‘เราเองก็เป็นดาว TikTok ได้นะ’ จากนั้นจึงเกิดการสร้างคอนเทนต์ต่อมากกว่าการเสพสื่อด้านเดียว หรือก็คือตัวแพลตฟอร์มทำหน้าที่เป็น Hub หรือศูนย์กลาง และผู้ใช้ไม่ใช่แค่ผู้ชม แต่สามารถเต้นรำไปรอบๆ มันได้ และเป็นเจ้าของคอนเทนต์ได้อย่างเท่าเทียมกัน

 

ในบทความ ‘ทำไม TikTok ถึงได้เป็นที่นิยม’ บนเว็บไซต์ The Cold Wire ได้พูดถึงสาเหตุที่ TikTok ครองใจผู้ใช้ทั่วโลกและมียอดดาวน์โหลดสูงเช่นนี้ว่า 

 

  • TikTok เล่นกับสารโดพามีนในร่างกายของเรา หรือเน้นความสนุก ให้คนเกิดความสุข และไถหน้าฟีดเรื่อยๆ หรือกลับมาเล่นต่ออีก
  • TikTok เข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ที่เน้นความสนใจระยะสั้น หรืออะไรที่ฮุคพวกเขาได้ตั้งแต่ไม่กี่วินาทีแรก (รวมไปถึงคนที่นิยามว่าตัวเองสมาธิสั้นด้วย)
  • TikTok มี Copyright License Agreement หรือ IP Licensing Agreement ที่จะสามารถใช้เพลงอย่างถูกลิขสิทธิ์ได้ ไม่เหมือน YouTube หรือ Twitch
  • อัลกอริทึมขั้นเทพ ที่ใครลองเล่นแล้วจะติดใจ
  • การอัปเดตเทรนด์ใหม่มีเสมอ จากผู้ใช้ด้วยกันเอง
  • และเกิดเป็นชุมชนที่รวมคนที่สนใจด้านเดียวกัน-เรื่องเดียวกันเอาไว้ด้วยกัน

 

ด้วยคุณสมบัติทั้งหมดนี้ จึงไม่แปลกใจนักที่ Mark แห่งบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Meta จะหมายตารูปร่างหน้าตา แนวคิด และวิธีการดึงดูดผู้ใช้ของ ‘คู่แข่งที่ไม่เคยเจอมาก่อน’ รายนี้ หลังจากที่เคยพยายามเข้าซื้อแล้วแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เหมือนเมื่อครั้งที่พยายามซื้อ Snapchat

 

Facebook-Instagram

 

แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเสมือนเค้าลางว่า Meta จะไม่ถอยง่ายๆ กับการใช้ฟีเจอร์นี้กับ Facebook และ Instagram นอกจากคำแถลงการณ์ของ Mark แล้ว ยังมีคำแถลงการณ์ของ Tom Alison ผู้บริหาร Facebook ที่กล่าวว่า “เราจะไม่สร้างลิมิตการมองเห็นโพสต์แนะนำหน้าฟีดไม่ว่าจะที่ไหนหรือเมื่อไร และผมคิดว่าในตอนนี้เรายังไม่ได้โอบอุ้มหรือมองเห็นว่าฟอร์แมตนี้จะสามารถเติบโตทางการโยงใยผู้คนเข้าหากันได้ขนาดไหน”

 

คำถามสำคัญจึงไม่ใช่ว่าสองสหายที่ชื่อ Facebook กับ Instagram ผนวกกำลังกันเข้าต่อกรกับ TikTok ศัตรูที่กระโดดโลดเต้นอย่างสนุกสนานคนนี้ แล้วผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร 

 

เพราะฝั่ง TikTok ดูจะมีแรงกดดันมากกว่าด้วยยอดผู้ใช้และรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ล่าสุดฝั่ง Meta ยอดผู้ใช้ลดลง อีกทั้งยังเป็นตัวเองได้อย่างสม่ำเสมอด้วยจุดเด่นของตัวเองที่ Facebook ลองบ้างแล้วคนกลับบ่นอุบ Instagram ลองแล้วคนกลับต่อต้าน

 

แต่คำถามคือ การนำ ‘ฟีเจอร์ใหม่’ นี้มาใช้ จะเปลี่ยนแปลงทิศทางประสบการณ์การใช้งานทั้งสองแอปสำหรับเราในฐานะผู้ใช้ หรือ ‘ผู้เช่าเขาอยู่’ ที่เฝ้ามองการต่อสู้ครั้งนี้อย่างใกล้ชิดได้ขนาดไหน ผู้ใช้ดั้งเดิมของทั้งสองแพลตฟอร์มจะมีท่าทีอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลง และทั้งฝั่งผู้ผลิตและฝั่งผู้ใช้งานจะต้องปรับตัวและรับมือกับหน้าตาที่ไม่คุ้น และฟีเจอร์ที่ไม่เคยอย่างไรบ้าง 

 

สำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ครั้งหน้า และครั้งต่อๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไรก็ตามที่มีสื่อชนิดใหม่ถือกำเนิดขึ้น แล้ว Mark มองว่าเป็นคู่แข่งที่ควรควบรวม แต่การเข้าซื้อไม่สำเร็จ

 

ฟีดแบ็กจากนี้จะเป็นตัวกำหนดว่าทั้งสอง Social Media ที่มีแนวโน้มจะเป็นกึ่งหรือมุ่งไปทาง Recommendation Media แล้ว จะเดินทางจากรากเดิมหรือจุดศูนย์กลางที่เป็นเหตุผลให้คนมาใช้งานตั้งแต่ทีแรกของตัวเองไปไกลแค่ไหน

 

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X