จากเหตุการณ์ที่คนไทยหลายคนได้พบเจอเมื่อเร็วๆ นี้กับท้องฟ้าที่มืดครึ้มเหมือนยามค่ำคืนในขณะที่เป็นยามเช้า หลายคนอาจจะสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น บางคนอาจมองว่าเป็นเพียงปรากฏการณ์ธรรมชาติที่นานๆ จะเกิดขึ้น แต่นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนบางอย่างที่เราจะต้องเข้าสู่ยุค Extreme Weather ที่จะส่งผลกระทบต่อการเกษตร ความมั่นคงด้านอาหารและน้ำ ความเสี่ยงด้านสุขภาพที่แย่ลง ตลอดจนระบบนิเวศที่สูญเสียอีกมากมาย
ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศสุดขั้วเป็นปัญหาท้าทายที่นานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศทั่วโลกให้ความสนใจและร่วมกันหาแนวทางจัดการ โดยที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไขที่ต้นตอของปัญหา เช่น การจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส การกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) รวมถึงข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่มุ่งจำกัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ให้อยู่ในระดับเดียวกับที่ต้นไม้ ดิน และมหาสมุทรสามารถดูดซับได้ และสนับสนุนให้ประเทศที่ร่ำรวยช่วยเหลือประเทศที่ฐานะด้อยกว่าในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศผ่าน ‘เงินทุนด้านภูมิอากาศ’
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เมื่อ ‘เป้าหมายสีเขียว’ และ ‘เป้ายอดขาย’ ไม่สอดคล้องกัน เปิดช่องโหว่นโยบาย สิ่งแวดล้อม ในอุตสาหกรรมแฟชั่น
- ธปท. เตรียมออก Standard Practice ด้านสิ่งแวดล้อมในไตรมาส 3 พร้อมกำหนดให้แบงก์ส่งแผนและเป้าสีเขียวที่จับต้องได้ต้นปีหน้า
- Brand & Marketing Trend 2022: เปิดเทรนด์ยุคใหม่ของโลกหลังโควิด แบรนด์ถึงเวลาต้องเปลี่ยนครั้งใหญ่
เงินทุนด้านภูมิอากาศ คือโอกาสของนักลงทุน?
ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจำเป็นต้องขับเคลื่อนด้วยความร่วมมือด้านการเงินที่ยั่งยืน และยืนยันถึงศักยภาพของการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเน้นย้ำให้มุ่งเน้นที่การสร้างผลตอบแทนที่แข็งแกร่ง ด้วยการลงทุนที่มากขึ้นในบริษัทที่มีส่วนทำให้เกิดเศรษฐกิจยั่งยืน
โดยจากข้อมูลของธนาคารโลก เรื่อง World Bank Report Shockwaves ในปี 2019 เปิดเผยว่า ภายในปี 2030 จะมีจำนวนประชากรทั่วโลกที่กลายเป็นคนจนเพิ่มขึ้นประมาณ 100 ล้านคน อันเนื่องมาจากผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ นานาประเทศจึงได้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยได้สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี แม้ว่าปัจจุบันองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ ธนาคารโลก ที่มีบทบาทสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่กลุ่มประเทศสมาชิกเป็นจำนวนเงินมากถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี แต่ก็ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการอีกทั้งการให้เงินสนับสนุนลักษณะนี้เป็นเพียงการสนับสนุนระยะสั้นเท่านั้น
ดังนั้น เพื่อให้เกิดแหล่งเงินทุนที่เพียงพออย่างยั่งยืนขึ้น นานาประเทศจึงได้นำเครื่องมือทางการเงินมาใช้ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องมือทางการเงินหลายอย่าง แต่หนึ่งอย่างที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมโดยตรงนั้นคือ พันธบัตรสีเขียว (Green Bond)
Green Bond เป็นการระดมทุนจากผู้ที่มีแหล่งเงินทุนหรือที่เรียกว่า นักลงทุน ไปยังผู้ที่ต้องการใช้เงินทุนหรือที่เรียกว่า ผู้ออก Green Bond หรือผู้กู้ ซึ่งจะต้องมีการทำข้อตกลงในการจ่ายคืนเงินขึ้นอยู่กับประเภทของพันธบัตรนั้นๆ
โดย Green Bond จะแตกต่างจากพันธบัตรทั่วไปคือ มีวัตถุประสงค์ เพื่อการระดมทุนสำหรับนำไปใช้ในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ โดย Green Bond สามารถแบ่งออกได้ 7 ประเภท ได้แก่
- พันธบัตรที่ออกโดยนิติบุคคล
- พันธบัตรที่จ่ายคืนด้วยกระแสเงินสดที่เกิดจากโครงการ
- พันธบัตรที่ผูกกับโครงการเพียงโครงการเดียวหรือหลายโครงการ
- พันธบัตรที่ออกโดยสถาบันการเงิน
- พันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลกลาง
- พันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลท้องถิ่น
- พันธบัตรที่ออกโดยองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ ธนาคารโลก
ทั้งนี้ พบว่ามีการเติบโตอย่างโดดเด่นในตลาดพันธบัตรเขียว จาก 9.9 พันล้านบาทในปี 2020 เป็น 32.9 พันล้านบาท เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2022 เม็ดเงินดังกล่าวจะถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การลงทุนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการป้องกันและควบคุมมลพิษ หรือกิจกรรมทางธุรกิจที่ส่งเสริมและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ แม้เม็ดเงินดังกล่าวยังคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับขนาดของตลาดตราสารหนี้ที่มีมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่การระดมทุนผ่านตราสารหนี้สีเขียวมีการเติบโตขึ้นทุกปี และประมาณการว่าอาจมีมูลค่าถึงหลักล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
สำหรับประเทศไทย พบว่าการเริ่มมีการออก Green Bond แต่ปี 2020 เป็นต้นมา มีมูลค่ารวม 8.53 หมื่นล้านบาท ซึ่งมากกว่า 50% ออกโดยบริษัทในกลุ่มพลังงาน ประเมินได้ว่าประเทศไทยไทยต้องการเงินลงทุนในภาคพลังงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยปีละไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 25% ภายในปี 2030
ในส่วนของภาครัฐวิสาหกิจ ทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้เร่งสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจมีการออก Green Bond และ Social Bond มากขึ้น อาทิ ส่งเสริมให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาเพิ่มคะแนนให้กับรัฐวิสาหกิจที่มีการออกหุ้นกู้ดังกล่าวเป็นพิเศษ
เมื่อถึงเวลาที่ธรรมชาติเอาคืน และคงจะไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป แผนหรือนโยบายต่างๆ เพื่อเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกรวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นต้นตอของการทำให้โลกร้อนทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก จะขับเคลื่อนไปมากน้อยแค่ไหน งบประมาณและการลงทุนต่างๆ จะหมุนเข้ามาสู่ระบบการเงินในรูปแบบใดบ้าง เราคงต้องติดตามกันต่อไป
อ้างอิง:
- http://www.fpojournal.com/green-bond/
- https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/256405TheKnowledge_GreenFinance.aspx
- https://climate.onep.go.th/th/topic/policy-and-strategy/
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP