×

สภาฯ เตรียมพิจารณาญัตติด่วน ตั้ง กมธ. ศึกษา CPTPP วันนี้ หลังภาคประชาชนเคลื่อนไหวต่อต้าน

10.06.2020
  • LOADING...

วันนี้ (10 มิถุนายน) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เตรียมพิจารณาญัตติด่วนเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบ หากรัฐบาลจะอนุมัติลงนามในข้อตกลง CPTPP หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก โดยมีญัตติด่วนในทำนองเดียวกันนี้อีก 2 ญัตติ รวมเป็น 3 ญัตติ ซึ่งคาดว่าประธานในที่ประชุมจะให้รวมพิจารณาในคราวเดียวกันระหว่างการประชุม ส.ส. ในวันนี้ 

 

สำหรับญัตติด่วนการตั้ง กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาข้อตกลง CPTPP ถูกเสนอโดย ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส. พรรคภูมิใจไทย และ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส. พรรคพลังธรรมใหม่ โดยมีพรรคเล็กและฝ่ายค้านบางส่วนร่วมลงชื่อ และเสนอโดย วีระกร คำประกอบ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้เสนออีกญัตติหนึ่งด้วย

 

ขณะที่ สุทิน คลังแสง ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ได้แถลงต่อสื่อมวลชนวานนี้ (9 มิถุนายน) ในประเด็นการพิจารณาญัตติด่วนการตั้ง กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาข้อตกลง CPTPP ของฝ่ายค้านว่า จะเสนอให้มีการเลื่อนวาระการประชุม โดยจะขอให้วาระตั้งคณะ กมธ. วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา CPTPP เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน ฝ่ายค้านเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญและส่งผลกระทบอย่างมาก จึงควรตั้งคณะ กมธ. เพื่อศึกษาถึงข้อดีและข้อเสียอย่างรอบด้าน ก่อนที่รัฐบาลจะตัดสินใจเข้าร่วมเจรจาหรือไม่

 

ขณะที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. พรรคก้าวไกล กล่าวถึงการพิจารณาการตั้ง กมธ. วิสามัญนี้ว่า ในวันนี้ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ การที่รัฐบาลขอตั้ง กมธ. เพื่อถกข้อดี-ข้อเสีย พิจารณาศึกษาผลกระทบหากรัฐบาลจะอนุมัติลงนามในข้อตกลง CPTPP ซึ่งจะมี ส.ส. ของพรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายในหลักการว่า เหตุใดประเทศไทยไม่ควรเข้าร่วมลงนามในข้อตกลง CPTPP นี้

 

ผมขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนติดตามการประชุมสภาฯ อย่างใกล้ชิด เพราะสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดนั้นล้วนจะกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราโดยตรง ส.ส. พรรคก้าวไกลทุกคนจะทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อพิทักษ์รักษาประโยชน์สูงสุดของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

 

สำหรับข้อตกลง CPTPP มีชื่อเต็มว่า Comprehensive and ProGressive Agreement of Trans-Pacific Partnership คือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ปัจจุบันมีสมาชิก 11ประเทศ โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน มีบรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม รวม 4 ประเทศ โดยในปี 2560 สมาชิก CPTPP มี GDP รวมกันคิดเป็นมูลค่า 10.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 13.5 ของ GDP โลก) มีประชากรรวม 495 ล้านคน (ร้อยละ 6.8 ของประชากรโลก) 

 

ขณะที่ประเด็นการเข้าร่วมในข้อตกลง CPTPP มีข้อกังวลจากภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดียมาอย่างต่อเนื่อง เช่น คำถามถึงเกษตรกรว่าจะยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้ปลูกเองได้ไหม, ราคาเมล็ดพันธ์ุจะแพงขึ้นหรือไม่ รวมถึงข้อกังวลเกี่ยวกับประชาชนที่เป็นผู้ป่วยจะสามารถเข้าถึงยารักษาโรคบางตัวได้หรือไม่ ทำให้ความกังวลต่อภาคเกษตรกรรมและการสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตรยา สิทธิในเมล็ดพันธุ์พืช และการคุ้มครองการลงทุนให้ต่างชาติ เป็นประเด็นที่กำลังเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านข้อตกลงนี้จนเกิดเป็น #NOCPTPP ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X