วันนี้ (24 มิถุนายน) เพชรชมพู กิจบูรณะ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) แถลงความคืบหน้าการดำเนินงาน โดยหลังจากมีการประชุมมา 5 ครั้ง พบว่ามีหลายประเด็นที่กรรมาธิการและอนุกรรมาธิการเห็นต่างกันบ้าง และในบางประเด็นพบว่ามีความเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างหน่วยงาน คณะกรรมาธิการวิสามัญจึงได้เชิญหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ มาแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพันธุ์พืชที่มีผลต่อเกษตรกรไทย รวมถึงกรณีที่เกี่ยวกับอนุสัญญาเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชระหว่างประเทศ และได้ทำหนังสือไปยัง UPOV 1991 เพื่อเป็นการยืนยันว่าการตีความของคณะกรรมาธิการวิสามัญถูกต้องหรือไม่ และหากประเทศไทยเข้าร่วมจะสามารถเจรจาผ่อนผันในบางเรื่องได้บ้าง
โฆษกกรรมาธิการวิสามัญ CPTPP กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของเกษตรกรไทยและภาคอุตสาหกรรม จะต้องไม่ใช่เงินเยียวยาเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องพัฒนาศักยภาพด้วย โดยเฉพาะการสนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัยและการลงทุน ซึ่งจากการศึกษาของกรรมาธิการวิสามัญพบว่า ประเทศไทยมีพันธุ์ข้าวมากกว่า 30,000 พันธุ์ แต่จะทำอย่างไรให้เกษตรกรมีความมั่นคง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่กรรมาธิการวิสามัญได้หารือกัน และได้รวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วน เพื่อประเมินว่าหากเข้าร่วม CPTPP จำเป็นหรือไม่ และหากเข้าร่วมจะมีอุตสาหกรรมใดที่ได้รับผลกระทบ ภาครัฐมีกลไกรองรับที่จะช่วยเหลืออย่างไร
โฆษกกรรมาธิการวิสามัญ CPTPP เปิดเผยว่า การประชุมครั้งต่อไปในวันอังคารที่ 30 มิถุนายนนี้ กรรมาธิการวิสามัญจะขอมติเพื่อที่จะขอขยายเวลาในการดำเนินงานการศึกษาประเด็นเกี่ยวกับ CPTPP เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีความสำคัญและผูกพันกับอนาคต รวมถึงมีพันธกรณีเกี่ยวข้องจำนวนมาก จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ครบถ้วนที่สุด ดังนั้นกรรมาธิการวิสามัญจะไม่นำกรอบเวลา 6 สิงหาคม ซึ่งเป็นกรอบเวลาการประชุมของประเทศภาคีมาเป็นตัวกำหนด พร้อมกันนี้จะเชิญอนุกรรมาธิการ ซึ่งประกอบด้วย อนุกรรมาธิการด้านสาธารณสุข ด้านการเกษตร และด้านเศรษฐกิจ มารายงานความคืบหน้าผลการศึกษา ก่อนจัดทำเป็นรายงานต่อไป
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า