×

สำรวจตลาด ‘กัญชง’ ใครอยู่ส่วนไหนของธุรกิจกันบ้าง

19.03.2021
  • LOADING...
กัญชง

HIGHLIGHTS

  • บจ. แห่ลงสนามพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่อย่างกัญชง หลังจาก อย. ปลดล็อก ดึงกัญชงพ้นจากบัญชียาเสพติด 
  • สำรวจพบส่วนใหญ่เข้ามีส่วนร่วมในกลุ่มปลายน้ำ โดยกลุ่มเครื่องดื่มขยับตัวเร็วสุด ‘อิชิตัน’ มั่นใจเปิดตัวเครื่องดื่มเป็นรายแรกๆ
  • จากมุมมองผู้สนใจมีส่วนเกี่ยวข้อง ‘ต้นน้ำ-กลางน้ำ’ เป็นคอขวดของอุตสาหกรรม หลังมีผู้มีคุณสมบัตินำเข้าเมล็ดพันธุ์เพียง 7 ราย

หลังจากที่ภาครัฐ นำโดยกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานองค์การอาหารและยา (อย.) ประกาศให้กัญชงพ้นจากบัญชียาเสพติด และเปิดทางให้นำสารสกัดจาก CBD มาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางและเครื่องดื่มได้ ทำให้หลายบริษัทก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดนี้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องอยู่แล้ว เช่น กลุ่มการแพทย์และอาหารเสริม เช่น EKH, PR9, THG 

 

รวมไปถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเครื่องสำอางและเครื่องดื่ม ที่มองเห็นโอกาสในการขยายไลน์การผลิต มาสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชง เช่น กลุ่มเครื่องดื่ม ไม่ว่าจะเป็นอิชิตัน, เซ็ปเป้, มาลี คาราบาวกรุ๊ป และกลุ่มความงามที่กำลังเป็นกระแสร้อนแรงอยู่ในปัจจุบัน เช่น BEAUTY, DDD, KISS รวมถึงกลุ่มอาหารเสริมอย่าง MEGA, DOD และ IP 

 

ทั้งนี้ หากจัดกลุ่มตามสายการผลิต โดยแบ่งเป็นกลุ่มต้นน้ำ (นำเข้าเมล็ดพันธุ์และเพาะปลูก) กลุ่มกลางน้ำ (โรงสกัด) และปลายน้ำ (ขายผลิตภัณฑ์สำเร็จ) จะเห็นจุดยืนของแต่บริษัทชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในบทบาทของการเข้าไปมีส่วนร่วมในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพืชกัญชงนี้ 

 

โดยกลุ่มแรก คือ กลุ่มต้นน้ำ (นำเข้าเมล็ดพันธุ์และปลูก) 

 

บริษัท ธุรกิจหลักเดิม

STA ผลิตและจัดจำหน่ายยางธรรมชาติแบบครบวงจร (Full Supply Chain) ในหลากหลายประเทศ

 

RBF ผลิตและจำหน่ายวัตถุที่ใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร (Food Ingredients) ตามคำสั่งซื้อของลูกค้า และภายใต้ตราสินค้าของบริษัท

 

GUNKUL 1. ธุรกิจผลิต จัดหา และจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้าในประเทศและต่างประเทศ 2. ธุรกิจผลิต จัดหา และจําหน่ายผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงาน รวมถึงพลังงานทางเลือกที่เหมาะสม 3. ธุรกิจผลิตและจําหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทั้งในประเทศและต่างประเทศ 4. ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง 5. ธุรกิจการให้บริการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า

 

CHAYO เจรจาติดตามและเร่งรัดหนี้สิน และบริหารสินทรัพย์จากการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน

 

SUN ผลิตและจำหน่ายข้าวโพดหวานแปรรูป และผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรอื่นๆ ภายใต้ตราสินค้าของบริษัท KC 

 

CPF เกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร แบ่งออกเป็น 1. ธุรกิจอาหารสัตว์ (Feed) 2. ธุรกิจเลี้ยงสัตว์-แปรรูป (Farm-Processing) 3. ธุรกิจอาหาร (Food) 

 

BRR ธุรกิจลงทุนในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยลงทุนในบริษัทย่อย 7 บริษัท โดยมีธุรกิจหลักเป็นธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 

 

THG สถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน ในลักษณะโรงพยาบาลทั่วไป (General Hospital) ภายใต้ชื่อ โรงพยาบาลธนบุรี

 

กลุ่มกลางน้ำ (โรงสกัด)

บริษัท ธุรกิจหลัก 

RBF ผลิตและจำหน่ายวัตถุที่ใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร (Food Ingredients) ตามคำสั่งซื้อของลูกค้า และภายใต้ตราสินค้าของบริษัท

 

DOD รับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารภายใต้ตราสินค้าของลูกค้า

 

GUNKUL 1. ธุรกิจผลิต จัดหา และจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้าในประเทศและต่างประเทศ 2. ธุรกิจผลิต จัดหา และจําหน่ายผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงาน รวมถึงพลังงานทางเลือกที่เหมาะสม 3. ธุรกิจผลิตและจําหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทั้งในประเทศและต่างประเทศ 4. ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง 5. ธุรกิจการให้บริการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า

 

KWM ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับใช้ในการเกษตร

 

กลุ่มปลายน้ำ (จำหน่ายผลิตภัณฑ์สำเร็จ)  

  • ธุรกิจการแพทย์

บริษัท ธุรกิจหลัก 

BCH ธุรกิจกลุ่มโรงพยาบาล ซึ่งมีโรงพยาบาลในเครือทั้งหมด 12 แห่ง และโพลีคลินิก 1 แห่ง

 

PR9 สถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน ในลักษณะโรงพยาบาลทั่วไป (General Hospital) ภายใต้ชื่อ โรงพยาบาลพระรามเก้า

 

ORI พัฒนาอสังหาริมทรัพย์

 

EKH สถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน ในลักษณะโรงพยาบาลทั่วไป (General Hospital) ภายใต้ชื่อ โรงพยาบาลเอกชัย

 

  • ธุรกิจเครื่องดื่ม

บริษัท ธุรกิจหลัก 

CBG ธุรกิจลงทุนในบริษัทอื่น (Holding Company) ซึ่งมีการลงทุนหลักในบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจ ผลิต ทำการตลาด จำหน่าย และบริหารจัดการการจัดจำหน่ายเครื่องดื่มบำรุงกำลังและเครื่องดื่มอื่นๆ อย่างครบวงจร

 

SAPPE ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงาม 

 

ICHI ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มชาเขียวพร้อมดื่ม

 

MALEE ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม

 

OISHI ผลิตและจำหน่ายอาหารญี่ปุ่น และเครื่องดื่มภายใต้เครื่องหมายการค้า โออิชิ

 

TIPCO ผลิตและจำหน่ายน้ำแร่ธรรมชาติพร้อมดื่ม และน้ำผลไม้

 

TACC จัดหา ผลิต และจำหน่ายเครื่องดื่มประเภทชาและกาแฟ และสินค้าไลฟสไตล์

 

  • ธุรกิจอาหาร

บริษัท ธุรกิจหลัก 

NRF ผลิต จัดหา และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปรุงรสอาหาร อาหารสำเร็จรูป เครื่องปรุงสำหรับประกอบอาหาร อาหารมังสวิรัตที่ไม่มีส่วนผสมของไข่และนม อาหารโปรตีนจากพืช และเครื่องดื่มสำเร็จรูปชนิดผงและน้ำ

 

XO ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสอาหาร เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มจากผักและผลไม้

 

ZEN ธุรกิจลงทุนในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยมีบริษัทแกน คือ บริษัท เซ็นเรสเตอร์รองโฮลดิ้ง จำกัด

 

AU กิจการร้านขนมหวาน จำหน่ายสินค้าและวัตถุดิบ รวมถึงให้บริการจัดงานนอกสถานที่

 

GLOCON ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ประเภทต่างๆ เพื่อใช้สำหรับบรรจุสินค้าอุปโภคและบริโภค

 

PTG จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและธุรกิจค้าปลีก

 

CPF เกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร แบ่งออกเป็น 1. ธุรกิจอาหารสัตว์ (Feed) 2. ธุรกิจเลี้ยงสัตว์-แปรรูป (Farm-Processing) 3. ธุรกิจอาหาร (Food)

 

ASIAN แปรรูปสัตว์น้ำแช่แข็ง จำหน่าย และส่งออก 

 

  • ธุรกิจเสริมความงาม

บริษัท ธุรกิจหลัก 

BEAUTY จำหน่ายปลีกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและบำรุงผิว ปัจจุบันมีการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม

 

DDD ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิว

 

KAMART นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมความงาม

 

KISS พัฒนา จ้างผลิต และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Food Supplement)

 

SPA ธุรกิจด้านสปาเพื่อสุขภาพ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง

 

  • ธุรกิจอาหารเสริม

บริษัท ธุรกิจหลัก 

MEGA จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และสินค้าอุปโภคบริโภค

 

DOD รับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารภายใต้ตราสินค้าของลูกค้า

 

RS ธุรกิจพาณิชย์  และจำหน่ายสินค้าแบบเทเลมาร์เก็ตติ้ง

 

JKN ให้บริการและจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ ให้บริการเวลาเพื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์สินค้าทางสถานีโทรทัศน์ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์

 

IP พัฒนา คิดค้น และจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพและนวัตกรรมความงามสำหรับคน และผลิตภัณฑ์สุขภาพสำหรับสัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์

 

จะเห็นได้ชัดเจนว่ากลุ่มปลายน้ำมีผู้เล่นในตลาดมากที่สุดและมาจากธุรกิจหลักที่หลากหลาย โดยเฉพาะธุรกิจเครื่องดื่มที่เริ่มเปิดเผยแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่และวางจำหน่าย หลังจากที่เชื่อว่าพืชเศรษฐกิจชนิดนี้จะเป็นเมกะเทรนด์ในอนาคต 

 

อาหาร-เครื่องดื่ม ปล่อยของเร็วสุด

 

ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป หรือ ICHI กล่าวว่า ทุกวงการสนใจที่จะนำกัญชงไปใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง ยา แม้กระทั่งร้านอาหาร แต่ในส่วนของเครื่องดื่มนั้นอาจได้เปรียบอยู่บ้าง เนื่องจากเป็นสินค้าที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายที่สุด 

 

โดยเชื่อว่าสินค้าจากกัญชงจะเป็นสินค้าที่ทำตลาดได้ไม่ยากมาก เนื่องจากผู้บริโภครู้จักกันอยู่แล้ว จึงตื่นตัวและอยากมีส่วนร่วมในการทดลองสินค้า

 

สำหรับ ICHI นั้น ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว เนื่องจากมีโรงงานผลิตชาเขียว มีวิธีการผลิตเดียวกัน สินค้ากลุ่มกัญชงหรือสินค้าอื่นๆ จึงผลิตได้อยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันโรงงานของอิชิตันได้กำลังการผลิตที่ 55% ส่วนที่เหลืออยู่นั้นเป็นส่วนที่จ่ายค่าเสื่อมอยู่แล้ว ดังนั้นจึงมีความพร้อมจะผลิตสินค้าเกี่ยวกับกัญชง ไม่ว่าจะเป็นของตัวเองหรือรับจ้างผลิต ซึ่งตอนนี้ได้มีบริษัทอื่นๆ ได้ติดต่อเข้ามาเช่นกัน ซึ่งอิชิตันไม่ได้มีความเสี่ยง และต้องลงทุนเพิ่มเติมอยู่แล้ว

 

ทั้งนี้ ICHI มองว่าใครเข้าได้เร็วจะได้เปรียบมากกว่า และเชื่อว่าจะสามารถออกสินค้าเป็นกลุ่มแรกๆ ได้ เนื่องจากเป็นพันธมิตรกับโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกและสกัดได้

 

ปิยจิต รักอริยะพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็ปเป้ หรือ SAPPE กล่าวว่า กระแส ‘กัญชงกัญชา’ ในประเทศไทย ถือว่าเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคให้การตอบรับเป็นจำนวนมาก โดยจุดเริ่มต้นมาจากการปลดล็อกกัญชา-กัญชง ออกจากการเป็นสารเสพติด ทำให้หลายบริษัทนำเอาประโยชน์ของกัญชา-กัญชงมาใช้ประกอบอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงพัฒนาเป็นสารสกัดในรูปแบบต่างๆ ให้ง่ายต่อการใช้งานหรือลิ้มลอง 

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือร้านอาหารและเครื่องดื่มที่นำส่วนประกอบของพืชกัญชาไปประกอบอาหารหรือเครื่องดื่มจำหน่าย จะต้องซื้อมาจากแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตจาก อย. เท่านั้น 

 

ปัจจุบันมูลค่าตลาดกัญชาทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง คาดว่าในปี 2567 จะมีมูลค่ารวมทั่วโลกกว่า 103.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็น ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์มีสัดส่วน 60% ของมูลค่าตลาดกัญชาทั้งหมด และอีก 40% เป็นตลาดกัญชาเพื่อการสันทนาการ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเริ่มมีหลายบริษัทยักษ์ใหญ่กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มของโลกสนใจใช้สารสกัดจากกัญชาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ จึงคาดว่าตลาดกัญชาทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยจะเติบโตและกระจายในหลายธุรกิจมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเมกะเทรนด์ในอนาคต

 

กลุ่มการแพทย์เริ่มขยับตัว

 

นพ.อำนาจ เอื้ออารีมิตร กรรมการและผู้อำนวยการโรงพยาบาล บมจ.เอกชัยการแพทย์ หรือ EKH กล่าวว่า บริษัทมีแผนทำคลินิกกัญชาทางการแพทย์ ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งเป็นการนำสิ่งที่มีประโยชน์ สิ่งที่เป็นภูมิปัญญาไทยมาใช้ โดยกระทรวงสาธารณสุขต้องการทำให้การรักษาผู้ป่วยด้วยกัญชาถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์ทางเลือก ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์และสหวิชาชีพที่ผ่านการอบรมเรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2565

 

ขณะที่ นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป หรือ THG กล่าวว่า THG ร่วมมือกับศูนย์วิจัยจุฬาฯ เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการปลูกกัญชงกัญชาในพื้นที่จังหวัดสระบุรี เนื่องจากมองว่าภาคการผลิตหรือการปลูกกัญชงกัญชานั้นเป็นคอขวด รองมาคือกระบวนการกลั่น ขณะที่ธุรกิจปลายน้ำนั้นมีค่อนข้างมากและหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือช่องทางบริการ THG จึงเข้าร่วมวิจัยและพัฒนาเพื่อช่วยทุเลาปัญหาด้านปริมาณ 

 

BRR ลงสนามต้นน้ำ เล็งปลูกกัญชงบนพื้นที่บุรีรัมย์

 

อนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRR กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างหารือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อทำธุรกิจกัญชง โดยบริษัทมีที่ดินอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์จำนวนมาก สามารถใช้ปลูกกัญชงได้ ขณะนี้ได้เริ่มศึกษาตั้งแต่ต้นทางเพาะเมล็ดพันธุ์ ปลูก และสกัดน้ำมันกัญชง แต่กระบวนการยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาเท่านั้น 

 

KWM ปักหลักกลางน้ำ เน้นพัฒนาเครื่องสกัด

 

เอกพันธ์ วนโกสุม ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เค. ดับบลิว. เม็ททัล เวิร์ค หรือ KWM กล่าวว่า บริษัทร่วมมือกับ บริษัท เอ็น.อี.เฮมพ์ จำกัด (N.E.Hemp) ในภาคของการสกัด โดยความร่วมมือในครั้งนี้มุ่งเน้นการต่อยอดให้อุตสาหกรรมกัญชงที่จะเป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งจะมีการกำหนดสายพันธุ์พืช การกำหนดราคารับซื้อดอกแห้ง รวมถึงการนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคต

 

โดยทาง KWM เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเครื่องจักรที่มีคุณภาพสูง ผ่านการผลิตโดยหลักวิศวกรรมและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จึงได้คิดค้นและพัฒนาการผลิตเครื่องสกัดสารด้วยระบบ Supercritical Fluid CO2 Extraction และเครื่องสกัดสารด้วยระบบ Ultrasonic Extraction เพื่อการสกัดสารจากพืชกัญชาและ/หรือกัญชง เพื่อเตรียมรองรับความต้องการของตลาด และเชื่อมั่นว่าจากความเชี่ยวชาญของ KWM ในด้านการสกัด พร้อมทั้งความร่วมมือวิจัยและพัฒนาร่วมกัน จะสนับสนุนในการเข้าสู่ธุรกิจต้นน้ำถึงกลางน้ำอย่างแข็งแรง ผลักดันให้บริษัทสามารถรุกตลาดนี้ให้เติบโตก้าวกระโดด

 

จะเห็นได้ว่าหลาย บจ. ที่ธุรกิจหลักไม่ได้เกี่ยวข้องกับตลาดพืชกัญชง แต่ก็สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับตัวเองเพิ่ม ซึ่งนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของตลาดนี้เท่านั้น โดยความคืบหน้าปัจจุบัน ผู้มีคุณสมบัตินำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชงตามการพิจารณาของ อย. จำนวน 7 ราย ยังอยู่ระหว่างรอใบอนุญาตนำเข้า เพื่อนำไปประกอบการนำเข้าสินค้าจากประเทศปลายทาง ซึ่งคาดหวังว่าจะเมล็ดพันธุ์จะถึงมือในเดือนเมษายนปีนี้ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการปลูก ใช้เวลาราว 4-5 เดือนจึงเก็บเกี่ยวและนำเข้ากระบวนการสกัดสาร หรือจัดจำหน่ายช่อดอกแห้ง จึงจะสามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมในเวชสำอาง อาหารเสริม และอาหารต่างๆ ได้ในสัดส่วนที่ อย. กำหนด 

 

สำหรับผู้บริโภค น่าจะสัมผัสกับ End Product เร็วที่สุดปลายปีนี้ 

 

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X