‘ของแพง’ คือคำที่วนเวียนอยู่ในข่าวและความรู้สึกของผู้คนนับแต่เปิดศักราช 2565 เริ่มจากวัตถุดิบต่างๆ ที่ขึ้นราคา โดยเฉพาะเนื้อหมู กระทั่งร้านค้าต่างๆ ทยอยปรับราคาอาหารขึ้นอย่างต่อเนื่อง เสียงโอดครวญจากประชาชนจึงดังและชัดเจนยิ่งขึ้น
ช่างภาพ THE STANDARD ลงพื้นที่สำรวจเสียงผู้ประกอบการร้านค้าย่านนนทบุรี หลังวัตถุดิบปรับตัวขึ้นราคา บางร้านจำใจขึ้นราคา แต่ไม่ปรับลดปริมาณอาหาร หรือบางร้านก็ต้องจำใจทนแบกรับภาระ เพื่อไม่ให้กระทบยอดขาย
วิกฤตโรคระบาดที่ดูเบาบางลง หลายคนเพิ่งจะได้กลับมาลืมตาอ้าปาก แต่พายุวิกฤตเศรษฐกิจที่โหมกระหน่ำ ทำให้ชีวิตคนหาเช้ากินค่ำต้องระส่ำระสายอีกครั้ง
พี่ณรงค์ ผู้ประกอบการร้านอาหารตามสั่ง ติดป้ายหน้าร้านประกาศขึ้นราคา หลังทนกับสภาวะปัจจุบันไม่ไหว ดีใจที่ลูกค้าเข้าใจ ยืนยันไม่สามารถลดบริมาณอาหารได้ ขอปรับราคาขึ้นแต่คุณภาพเท่าเดิมดีกว่า ถึงแม้แบกรับกับต้นทุนที่มากขึ้น อยากฝากถึงผู้ที่มีอำนาจเกี่ยวข้องให้ตรึงราคาสินค้าให้สอดคล้องกับรายได้ของประชาชน
พี่เดือน ผู้ประกอบการขายข้าวสาร ให้ข้อมูลว่าไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้เลย นอกจากต้องแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ยังต้องแบกรับกับราคาข้าวที่รับมาขาย ผันผวนมากกว่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หรือราคาน้ำมันในปัจจุบัน ใน 1 วันราคาข้าวสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ถ้าขึ้นราคาตามโรงสีที่ตนซื้อข้าวมา จะเป็นปัญหาต่อความเข้าใจกับลูกค้า ซึ่งข้าวเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการใช้ชีวิตของประชาชนทั่วไป
พี่จ่อย ผู้ประกอบการรถขายผลไม้ ให้ข้อมูลกับทีมข่าว ไม่สามารถขึ้นราคาได้ ถ้าขายแพงกว่าเจ้าอื่นแม้แต่บาทเดียวก็จะไม่มีคนซื้อ ไหนจะต้องแบกรับค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้น เพราะเป็นรถผลไม้เคลื่อนที่ จะต้องวิ่งหาลูกค้า ไม่สามารถปักหลักอยู่กับที่ได้
พี่นา ผู้ประกอบการร้านขายอาหารสัตว์ ในยุคที่ข้าวของแพงแบบนี้ไม่ใช่แค่คนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ สัตว์เลี้ยงสวยงามและสัตว์เพื่อบริโภคได้รับผลกระทบจากราคาอาหาร วัคซีน หรือแม้กระทั่งทรายที่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ขับถ่ายของสัตว์เลี้ยง วัดบางวัดที่ต้องรับภาระเลี้ยงดูสัตว์ที่ประชาชนเอามาปล่อย หากเป็นแบบนี้ต่อไปอีกไม่นานคงต้องปิดกิจการ เนื่องจากแบกรับต้นทุนในการประกอบอาชีพไม่ไหว
พี่ตูน ผู้ประกอบการร้านน้ำเต้าหู้ ติดป้ายประกาศขึ้นราคาสินค้าในร้านบางประเภท เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าร้าน ราคาแป้ง น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ลูกค้าส่วนใหญ่เข้าใจถึงสภาวะในปัจจุบันและยังมาอุดหนุนเหมือนเดิม