วันนี้ (20 กันยายน) เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เผยแพร่รายงานสรุปรายรับรายจ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ของพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ตามความในมาตรา 67 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 และระเบียบ กกต. ว่าด้วยแบบบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส. 2566
โดย กกต. รายงานว่ามีพรรคการเมืองส่งผู้สมัคร สส. แบบบัญชีรายชื่อ รวม 67 พรรค โดยพบว่ามีพรรคการเมืองที่มีรายจ่ายมากที่สุดในการเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ดังนี้
- พรรคก้าวไกล มีรายรับและรายจ่ายเท่ากันคือ 40,973,623 บาท
- พรรครวมไทยสร้างชาติ มีรายรับรวม 30,796,788 บาท รายจ่าย 40,697,861 บาท
- พรรคเพื่อไทย มีรายรับ 36,000,000 บาท มีรายจ่าย 40,212,647 บาท
- พรรคภูมิใจไทย มีรายรับรวม 44,000,000 บาท มีรายจ่ายรวม 38,452,473 บาท
- พรรคประชาธิปัตย์ มีรายรับรวม 38,870,363 บาท มีรายจ่ายรวม 34,423,909 บาท
- พรรคชาติไทยพัฒนา มีรายรับรวม 25,986,960 บาท มีรายจ่ายรวม 29,640,076 บาท
- พรรคเสรีรวมไทย มีรายรับรวม 26,789,260 บาท มีรายจ่ายรวม 26,644,804 บาท
- พรรคพลังประชารัฐ มีรายรับรวม 44,069,500 บาท มีรายจ่ายรวม 24,232,915 บาท
- พรรคไทยสร้างไทย มีรายรับและรายจ่ายเท่ากันคือ 20,935,880 บาท
- พรรคชาติพัฒนากล้า มีรายรับรวม 18,485,256 บาท มีรายจ่ายรวม 19,231,333 บาท
สำหรับระเบียบการใช้จ่ายเงินในการเลือกตั้ง กกต. กำหนดค่าใช้จ่ายของ ส.ส. กรณียุบสภา โดย ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ใช้จ่ายไม่เกินคนละ 1.9 ล้านบาท และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ หรือพรรคการเมืองไม่เกิน 44 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามสำหรับค่าใช้จ่ายของแต่ละพรรคที่ชี้แจงต่อ กกต. และใช้จ่ายมากที่สุดคือ ค่าจัดทำป้ายและสิ่งพิมพ์ นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกด้วย เช่น ค่าเช่าและตกแต่งสถานที่ รวมถึงการค่าใช้จ่ายในการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ และการโฆษณาในสื่อต่างๆ
อ้างอิง: