×

กระทรวงการคลังคาด ‘เงินบาท’ ปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น 7.3% จากปีก่อน

27.01.2023
  • LOADING...
‘เงินบาท’

กระทรวงการคลังคาด ‘เงินบาท’ ปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น 7.3% จากปีก่อน หลังจากอ่อนค่า 9.6% ในปี 2565 สาเหตุหลักมาจากแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ การตอบรับข่าวการเปิดประเทศของจีน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

 

วันนี้ (27 มกราคม) วุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่า ค่าเงินบาทในปี 2565 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 35.07 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง 9.6% จากค่าเฉลี่ยปี 2564

 

ส่วนในปี 2566 เงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้น โดยคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่าขึ้น 7.3% เนื่องมาจากปัจจัยดังนี้

 

  1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หลังจากจีนเปิดประเทศเร็วกว่าคาด น่าจะช่วยฟื้นการบริโภค ภาคบริการ และภาคการท่องเที่ยวในประเทศปีนี้อย่างมาก

 

  1. การเปิดประเทศของจีน ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาห่วงโซ่อุปทานของโลกที่เคยหยุดชะงัก และช่วยลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยได้บ้าง รวมถึงช่วยสนับสนุนการส่งออกของประเทศต่างๆ รวมถึงไทยด้วย

 

  1. การอ่อนค่าของดอลลาร์ เนื่องมาจากแนวโน้มการชะลอขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) หลังอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ชะลอตัวลงเข้าสู่เป้าหมายอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาภาวะเศรษฐกิจต่างๆ ของสหรัฐฯ ที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจของ Fed ด้วย

 

  1. เงินไหลเข้าตลาดพันธบัตรไทย เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่า Fed จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้มีการหันมาลงทุนในตลาดพันธบัตรไทยมากขึ้น

 

  1. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการถือดอลลาร์​เพื่อไปซื้อน้ำมันดิบลดลงตาม

 

ในส่วนของดัชนีเงินบาท (Nominal Effective Exchange Index: NEER) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการเคลื่อนไหวของเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค่า 15 ประเทศ พบว่าในปี 2565 อยู่ที่เฉลี่ย 108.42 อ่อนค่าลง 1.7% เมื่อเทียบกับปี 2564 ส่วนในปี 2566 ดัชนีเงินบาทคาดว่าจะอยู่ที่เฉลี่ย 113.0 แข็งค่าขึ้น 4.2%

 

นอกจากนี้ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) คาดว่าจะกลับมาเกินดุลเล็กน้อยในปีนี้ หรือคิดเป็น 0.5% ของ GDP เนื่องมาจากการท่องเที่ยวที่กลับมาเป็นปัจจัยหลัก ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นจากปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวลดลงจากประมาณการเดิมที่ 1.1% ของ GDP เนื่องจากส่งออกที่คาดว่าจะโตเพียง 0.4% เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบใหญ่ของดุลบัญชีเดินสะพัด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising