EXIM BANK แนะผู้ประกอบการไทยปักหมุดซีกโลกใต้ คาดอาเซียนยังมีการเติบโตสูง ท่ามกลางความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคต่างๆ ประเมินส่งออกไทยปีนี้ติดลบ ส่วนปีหน้ากลับมาขยายตัวถึง 4% ระบุทางรอดเศรษฐกิจไทยคือ ‘Go Green’
วันที่ 20 ธันวาคม ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ในปี 2567 เทรนด์เศรษฐกิจโลกนั้นกำลังมุ่งไปยังซีกโลกใต้ (Go South) ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยประเทศเหล่านี้สามารถเป็นคู่ค้าใหม่ของไทยได้ อย่างไรก็ตาม ไทยยังไม่ควรมองข้ามตลาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา จีน ยุโรป และญี่ปุ่น แม้ยังมีความไม่แน่นอนสูงก็ตาม
“ประการแรกคือ อย่ามองไกล ประการที่สองคือ Go South” ดร.รักษ์ กล่าว
EXIM BANK ยังคาดการณ์ว่า การเติบโตของ GDP ไทยในปี 2566 น่าจะอยู่ที่ราว 2.5% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปีที่ราว 3.5% เนื่องจากในปีที่ผ่านมามีอุปสรรคทางเศรษฐกิจหลายอย่าง ทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทำงานอย่างเต็มที่ได้ ‘ตัวเดียว’ นั่นคือการบริโภคภายในประเทศ
ส่วนการส่งออกในปี 2566 คาดว่าจะหดตัวครั้งแรกในรอบ 3 ปี อยู่ที่ -2% ถึง -1% ก่อนจะกลับมาขยายตัวได้ถึง 4% ในปี 2567 เนื่องจากปัญหาด้านอุปทานน่าจะคลี่คลาย และราคาน่าจะปรับตัวขึ้น
ธุรกิจสีเขียวคือทางออกของความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ
ดร.รักษ์ ยังกล่าวว่า ธุรกิจสีเขียวคือ Global Trend ที่กำลังมีความน่าสนใจขึ้นในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะหลังจากการประชุม COP28 เริ่มต้นขึ้น
โดยปัจจุบันอัตราการเติบโตธุรกิจสีเขียวของโลกสูงถึง 13.5% จึงเป็นที่มาว่า ในอนาคตประเทศไทยจะอยู่ในห่วงโซ่อุปทานสีเขียวในหลายๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของบรรจุภัณฑ์ และ Consumer Products
“อีกประการหนึ่งที่จะสามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยไว้ได้ คือ การท่องเที่ยวเชิงยั่งยืนและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ยกตัวอย่างเช่น การดำเนินธุรกิจโรงแรมเชิงอนุรักษ์” ดร.รักษ์ กล่าว
ตอกย้ำความสำคัญของธนาคารเพื่อการพัฒนา
ดร.รักษ์ กล่าวอีกว่า ธนาคารเพื่อการพัฒนา (Development Banks) ทั่วโลก รวมถึง EXIM BANK มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินทุนให้แก่ภาคธุรกิจมากถึง 1 ใน 3 ของมูลค่า Climate Finance โลก
โดย EXIM BANK ได้พัฒนาเครื่องมือทางการเงินที่สนับสนุนโครงการหรือธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy) เพื่อลดการปล่อยก๊าซ CO2 ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกประเภทหนึ่ง สู่ชั้นบรรยากาศโลก คาดว่าพอร์ตสินเชื่อที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของ EXIM BANK ณ สิ้นปี 2566 จะอยู่ที่ราว 61,500 ล้านบาท หรือ 35% ของสินเชื่อคงค้างรวมของธนาคาร
นับแต่เปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการในปี 2537 จนถึงปัจจุบัน EXIM BANK ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไปปักหมุดธุรกิจพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศรวมแล้วกว่า 400 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตกว่า 8,800 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 100 ล้านตัน สร้างมูลค่าการลงทุนกว่า 578,300 ล้านบาท ขณะเดียวกัน EXIM BANK ยังพัฒนาสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่น สินเชื่อ Solar Orchestra และ EXIM Solar D-Carbon Financing ที่ไม่เพียงให้เงินทุน แต่ยังช่วยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงสินเชื่อ EXIM Green Start ดอกเบี้ยอัตราพิเศษสำหรับ SMEs หรือคนตัวเล็กที่ต้องการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว
โดยในปี 2567 EXIM BANK มีแผนจะออกพันธบัตร Blue Bond เป็นครั้งแรก เพื่อขับเคลื่อน Blue Economy ดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลให้เป็นแหล่งการจ้างงานและแหล่งรายได้ที่ยั่งยืนของประชากรหลายล้านคนทั่วโลก