นับเป็นครั้งแรกของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศไทย ในการเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum Annual Meeting 2025 ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส
ที่ถือเป็นสุดยอดการประชุมประจำปีที่รวมตัวผู้นำและนักธุรกิจจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อแลกเปลี่ยนและนำเสนอแนวคิด รวมถึงสร้างความร่วมมือในการกำหนดทิศทางของโลกในอนาคต ตั้งแต่วันที่ 20-24 มกราคม 2025
ท่ามกลางนโยบายกำแพงภาษีของ โดนัลด์ ทรัมป์ และสงครามการค้าจีน-สหรัฐอเมริกา THE STANDARD ร่วมพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีถึงจุดยืนของไทย พร้อมเปิดใจความรู้สึกที่มีต่อเสียงวิจารณ์การรับมือฝุ่น PM2.5 ข้ามประเทศ
เยือนเมืองดาวอสครั้งแรก มีภารกิจและเป้าหมายมาทำอะไร?
แพทองธารอธิบายว่า งาน World Economic Forum เป็น Private Sector ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนมาเจอกัน นักธุรกิจชั้นนำของทุกประเทศทั่วโลกมาเจอกันเป็น Multi-Stakeholders เพื่อจะเซ็ตเทรนด์ของโลกว่าปีนี้โลกสนใจอะไร มันกำลังหมุนไปทางไหน โฟกัสอะไรเป็นพิเศษ ซึ่งงานแบบนี้มีหนึ่งครั้งต่อปี ถ้าเป็นรัฐบาลมาได้ แต่เอกชนที่จะเข้ามายากมาก จะเห็นได้ว่าทุกคนห้อยบัตรและแบ่งแยกสีห้ามเข้าโซนไหน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีมากที่ประเทศของเราได้มา โดยเฉพาะประเทศที่มีผู้นำใหม่ ซึ่งตัวดิฉันคือผู้นำใหม่ ปีที่แล้วเป็น เศรษฐา ทวีสิน
แพทองธารย้ำว่า การเข้าร่วมประชุม World Economic Forum เป็นการเพิ่มโอกาสให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะการมาด้วยตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ทั่วโลกให้ความสนใจ แสดงว่าตัวหลักของประเทศมา ก็จะเข้ามาร่วมพูดคุยกับเรามากขึ้น และส่วนตัวคิดว่าผู้นำควรมาทุกๆ ปี เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้กับประเทศ นั่นคือการทำให้เกิดความมั่นใจว่าประเทศต้องการอะไร มุ่งไปสู่อะไร อยากให้การลงทุนแบบไหนเข้าประเทศ ทำให้สามารถกำหนดทิศทางได้ และรู้สึกคุ้มค่าแม้จะมีการประชุมอัดแน่นตลอดทั้งวัน
อยากให้สรุปว่าหารือกับใครไปแล้วบ้าง อะไรที่สำเร็จแล้ว?
วันแรกคุยไป 6 บริษัท คือ Google, Bayer AG, DP World, Coca-Cola, AstraZeneca และ Amazon Web Services
การมาครั้งนี้เป็นการต่อยอดจากนายกฯ เศรษฐา ที่เคยมา เช่น การหารือกับบริษัท DP World ที่ทำเรื่องแลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการมาครั้งนี้ ได้หารือในปีที่แล้วและปีนี้มีความคืบหน้าในการหารือ บริษัทก็ทราบว่าในการทำแลนด์บริดจ์จะมีส่วนประกอบเล็กๆ ข้างในอย่างไรบ้าง ซึ่งเขาก็ตกลงมาร่วมมือกับเราแล้ว แต่ยังมีหลายส่วนที่จะเกิดขึ้นและจะต้องมีการทำ Bidding
แพทองธารเปิดเผยด้วยว่า “การเกิดขึ้นของแลนด์บริดจ์มาแน่ แต่ว่าจะมาในรูปแบบที่เอื้อประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด ตอนนี้อยู่ในช่วงที่เรากำลังศึกษาว่าแบบไหนกระทบแบบไหน หรือว่ากับประเทศไหนจะเป็นอย่างไร ต้องคุยระหว่างประเทศด้วย นี่คือสิ่งสำคัญ”
ส่วนการหารือกับบริษัท Google ที่ลงทุนกับเราเรียบร้อยแล้วก็มาอัปเดตกับเราว่า ตอนนี้เริ่มในส่วนของโครงสร้างทุกอย่างแล้ว ได้มีการพูดคุยถึงขั้นตอนถัดไปว่าจะมีการพัฒนาคนของเราอย่างไร ซึ่งเขาบอกเลยว่าจะมีการจัดเป็นคอร์ส ฝึกระหว่างการก่อสร้างโรงงานว่าจะพัฒนาคนของเราควบคู่ไปอย่างไรบ้าง ซึ่งมี 4-5 ข้อที่เขาต้องการ เมื่อกลับไปก็สามารถสานต่อในเรื่องนี้ได้เลย
นอกจากนี้ยังได้รับคอนเฟิร์มการลงทุนจาก TikTok ในเรื่อง Data Center เหมือนกับของบริษัท Google ซึ่งค่อนข้างยิ่งใหญ่พอสมควร โดยจะมีการไปเปิดตัวเลขการลงทุนที่เมืองไทย
ในกิจกรรม Country Strategy Dialogue ได้เปิดอกพูดคุย อยากให้เล่าว่าอะไรคือโจทย์ที่ประเทศไทยต้องแก้ และอะไรคือสิ่งที่ดึงดูดนักลงทุน?
แพทองธารระบุว่า บนเวทีพูดว่าประเทศไทยจะไปทางไหน เน้นเรื่องพลังงานสีเขียว (Green Energy) เสร็จแล้วเขาก็ถามเลยว่าภายใต้การนำของคุณมีการเปลี่ยนรัฐบาล มีการเปลี่ยนรัฐมนตรี ความเชื่อมั่นจะเป็นอย่างไร
ตัวดิฉันก็พูดถึงความเชื่อมั่นว่า ไม่ต้องห่วง ดิฉันจะอยู่ครบเทอม จะอยู่จนจบ เพราะฉะนั้นการลงทุนต้องต่อเนื่อง การเลือกตั้งครั้งต่อไปที่จะเกิดขึ้นจะต้องคำนึงถึงนโยบายที่มีประโยชน์ต่อประชาชน จะต้องมีการสานต่อนโยบาย ซึ่งต้องมี Commitment บางอย่างที่เราก็ต้องกล้าพูดกับเขาว่าคุณลงทุนได้ ไม่ใช่ลงทุน 2 ปีแล้วจากกัน
“ไม่มีใครอยากลงทุน 2 ปีแล้วเก็บกระเป๋าไป เขาต้องอยู่ยาว 10 ปี 20 ปี อันนั้นคือสิ่งที่จะเกิดขึ้น ฉะนั้นเราต้องทำให้เขามั่นใจในเรื่องนี้”
ถ้ามีการมาลงทุน ไทยมีพลังงานเพียงพอหรือไม่ แพทองธารระบุว่า แน่นอนว่าตอนนี้เรามีบริษัท Google เข้ามาลงทุน Microsoft ลงแล้ว TikTok กำลังจะลงเพิ่ม เราต้องรักษาในเรื่องของพลังงานแน่นอน และวางแผนในเรื่องของคุณภาพคน ทักษะของคน
ขณะเดียวกันแพทองธารยังแสดงความกังวลว่าหากมี Data Center เข้ามาตั้ง เราจะทำให้มีคนที่มีความรู้เรื่องนี้อย่างไร เพราะว่าหลักสูตรการเรียนของเราไม่ได้มีเรื่องนี้เท่าที่ควร
แพทองธารระบุว่า เราจึงได้ดีลกับ Google ที่กำลังจะเข้ามา เพื่อให้ฝึกคนของเราด้วย ซึ่งเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เนื่องจากคนของเรายังไม่มีสกิลมากพอและธุรกิจแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้น เป็นแนวทางแบบใหม่เข้ามาเป็นอุตสาหกรรมในอนาคต เขาสามารถฝึกให้เราได้เลย พร้อมย้ำว่า หากมาแข่งธุรกิจอื่น เราก็เก่งเหมือนกัน เพราะคนของเรามีคุณภาพ
นอกจากนั้นส่วนตัวก็ขอให้บริษัทช่วยฝึกเด็กรุ่นใหม่ ฝึกนักเรียน ขอให้ช่วยทำงานกับมหาวิทยาลัย สอนเนื้องานที่จะทำเพื่อให้เด็กรุ่นต่อไปมีความรู้ในเรื่องนี้
“ดิฉันยังวางแผนในเรื่องของการให้ทุนการศึกษาที่เคยประกาศในวันเด็ก ซึ่งตั้งใจเลยว่ามหาวิทยาลัยของเรามีดีจำนวนมาก แต่ในเรื่องของอุปกรณ์ยังไม่ทันคนอื่นเขา รัฐบาลจึงอยากสนับสนุนทุนให้ไปเรียนต่างประเทศ เน้นวิชาพวกนี้ ไม่ใช่วิชาธุรกิจทั่วไป ซึ่งนั่นเป็นงบที่ไม่จำเป็น และหากได้ไปคุยกับบริษัทไหน เขาฝึกคนของเขาอย่างไร ก็อยากให้มาฝึกคนของเราบ้าง” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ทั้งนี้ จะเปิดหลักสูตรระยะสั้นร่วมมือกับมหาวิทยาลัย หรือจะเปิดเป็นหลักสูตรยาว เป็นเทอม หรือมีปริญญา ก็ค่อยว่ากันอีกที เพราะจะต้องหารือกับกระทรวงศึกษาธิการอีกครั้ง แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เมื่อไปไหน ส่วนตัวก็จะขอเรื่องนี้ก่อนเสมอ เพราะอยากเตรียมคน
“ถึงอย่างไรประเทศเรามาแน่ AI มาทั่วโลก จะไม่มาประเทศเราได้อย่างไร”
ในการประชุม World Economic Forum เน้นเรื่องนี้อย่างมาก?
การประชุมเน้นเรื่องนี้อย่างมาก รวมถึงเรื่องพลังงานสีเขียว ซึ่งการประชุมแรกของการเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เห็นถึงเทรนด์ที่เกิดขึ้น ทุกประเทศทั้งอาเซียนและทั่วโลก เทรนด์กำลังมา ทำให้รู้สึกว่าคนของเราพร้อมแล้วหรือยัง
เมื่อไปหาข้อมูลเพิ่ม แพทองธารพบว่าข้อมูลแสดงให้เห็นว่าคนยังไม่พร้อม แต่เมื่อไม่พร้อมทำก็จะพยายามอัดความรู้ให้เต็ม และเป็นสิ่งที่ทำให้มุ่งมั่นว่าแม้ตัวนายกรัฐมนตรีไม่อยู่มันก็ได้มีแล้ว คนของเราพร้อมแล้ว นี่คือสิ่งสำคัญ
มีการพูดคุยกันมากบนเวที World Economic Forum ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จะออนไลน์เข้ามา อาเซียนหลายประเทศก็ต้องตอบคำถามว่าจะวางตัวอย่างไร แล้วในส่วนของนายกรัฐมนตรีจะนำประเทศไปอย่างไรในสถานการณ์แบบนี้?
แพทองธารยืนยันว่า จุดที่ประเทศไทยอยู่เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดีมาก เรามีเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติที่ค่อนข้างพร้อมพอสมควร “เรื่องนี้ดิฉันภาคภูมิใจเวลาไปคุยกับคนอื่น พูดเลยว่าเราพร้อมที่จะเป็นความมั่นคงทางอาหารของโลก เรารู้อยู่แล้วว่าเราเป็นครัวโลก เรามีวัตถุดิบที่ดี เราต้องเอานวัตกรรม เอาเทคโนโลยีเข้าไปจับเรื่องพวกนี้ การถนอมอาหารให้นานขึ้น การเก็บสินค้าต่างๆ ให้นานขึ้น
“ดิฉันได้ไปคุยกับประเทศทางตะวันออกกลาง ซึ่งทุกคนชอบสิ่งนี้มาก และอยากให้ประเทศไทยเป็นความมั่นคงทางอาหารของประเทศเขา คุยกันตัวต่อตัวกับผู้นำ บางประเทศไม่ได้สงบสุข จึงต้องมีการจัดเตรียมอาหาร การที่เราเสนอตัวเป็นสิ่งที่ประเทศเขาตอบรับดีมาก
“ดังนั้นไทยจึงต้องวางตัวให้ดี ซึ่งส่วนตัวทราบว่าในแต่ละฤดูกาลจะมีสินค้าล้นตลาด ซึ่งเราจะปรับตัวอย่างไรให้สินค้าเราถูกนำไปขาย ซึ่งจะเป็นการช่วยเกษตรกรตั้งแต่พื้นจนถึงขึ้นข้างบน คนกลาง รวมไปถึงคนขายด้วย”
แล้วการพูดคุยกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ หลายคนบอกว่าเราอยู่ใน Trump Risk Index อันดับ 2 ที่มีความเสี่ยงมาก และบนเวที World Economic Forum ก็พูดกันเรื่องนี้ เราจะรับมือกันอย่างไร?
แพทองธารกล่าวว่า การที่ทรัมป์ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ สิ่งหนึ่งที่ผู้นำประเทศต้องคิดคือ จะหาประโยชน์อะไรให้ประเทศตัวเอง เราเป็นคนไทย ประเทศไทยต้องมาก่อน เขาก็เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมองในด้านของข้อมูลว่าเขาเน้นอะไร เขาพูดเสร็จปุ๊บในทีมก็สรุปเลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เขาจะเอาอะไร เขาไม่เอาอะไร อย่างแรกคือเรื่องของการลงทุน เราทราบอยู่แล้วว่าทรัมป์ต้องการดึงดูดเงินลงทุนเข้าประเทศเขาให้มากที่สุด ซึ่งเราก็มีแผนที่จะลงทุนเพิ่มในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน แต่เราก็จะต้องสามารถส่งออกของเราได้เหมือนเดิมโดยไม่ติดขัดอะไร
ต้องมีการพูดคุยกันในเชิงลึกและเตรียมพร้อมตัวเองไว้ก่อนว่าสิ่งที่จะคุยตรงกับเป้าหมายตัวเองหรือไม่ อะไรที่เขา Say Yes อะไรที่เขา Say No ต้องเตรียมข้อมูลไว้มากพอสมควร รวมถึงด้านต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ได้มีการส่งคนไปพูดคุย แต่ภาพรวมทั้งหมดดิฉันก็ต้องเป็นคนคุยเองเมื่อมีโอกาส ซึ่งสถานทูตไทยก็ขอในเรื่องของการเตรียมเยือนสหรัฐอเมริกาไปแล้ว เพื่อที่จะได้คุยกันเรื่องนี้มากขึ้น
“พอทรัมป์ขึ้นปุ๊บ เราเตรียมการมาเรื่อยเลย จริงๆ แล้วมีการพูดคุยมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ยังไม่รู้ว่าใครจะได้ แต่พอเป็นทรัมป์ก็เป็นแนวนี้เลย”
ยากหรือไม่ในการสร้างความสมดุลกับประเทศยักษ์ใหญ่ โดยเฉพาะอีกประเทศคือจีน?
แพทองธารระบุว่า ด้วยความที่เราเป็นคนไทย ผ่านมานานแสนนาน ด้วยไทยนี้รักสงบ เราไม่ไปแอนตี้กับใคร เราซัพพอร์ตจีน จีนก็ซัพพอร์ตเรา มีความสัมพันธ์ที่ดีมากๆ และในปีนี้ครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน 50 ปี
กับสหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน เรามีความสัมพันธ์ที่ดีเรื่อยมา จึงต้องบาลานซ์ จริงๆ เป็นเรื่องที่ยาก แต่ด้วยความที่เรามีความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งมากๆ กับจีน และจีนก็เข้าใจภาพรวมของโลกนี้ การพูดคุยก็เป็นการสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งไม่ใช่ในแนวที่ว่าพูดกับอเมริกาห้ามพูดกับจีน หรือพูดกับจีนห้ามพูดกับอเมริกา มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น
ในฐานะที่เป็นผู้นำประเทศ อะไรที่ทำให้สะดุ้งตื่นในยามดึกมากที่สุด?
แพทองธารระบุว่า ด้วยความที่เป็นผู้นำอายุน้อยและเป็นผู้หญิง ทำให้เราเห็นข้อดีอย่างชัดเจนที่ว่า เวลาไปประชุม ASEAN หรือ APEC ง่ายเหลือเกินที่ผู้นำท่านอื่นๆ จะเข้ามาคุยกับเรา และเราก็สามารถเรียนรู้ผู้นำท่านอื่นได้ด้วยเช่นกัน เช่น นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียที่ได้มีการพูดคุย ก็พร้อมที่จะสอนเราว่าโลกของเขาต้องเจออะไรบ้าง การมีคอนเน็กชันตรงนี้สามารถคุยกับผู้นำอื่นได้ มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่ต้องสะดุ้งตื่นในตอนกลางคืน
เราทราบดีว่าหลายประเทศที่เรามีความสัมพันธ์ที่ดีด้วย จริงๆ แล้วเขาก็รักประเทศไทยมายาวนานและพร้อมสนับสนุนเราเช่นกัน เรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก เราไม่ได้เจอแค่ประเทศเดียว ทั้งโลกกำลังเจอ เพราะฉะนั้นหันซ้ายหันขวาก็เจอกัน
รู้สึกอย่างไรกับเสียงวิจารณ์บนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่มีปัญหาฝุ่น PM2.5 เข้ามา ที่มีคนบอกว่านายกฯ มาทำอะไรที่นี่ หรือความเป็นผู้หญิงที่มีลูกเล็ก มีอุปสรรคอะไรที่กังวลหรือไม่ที่ทำให้รู้สึกว่าโดนวิจารณ์แล้วรู้สึกไม่ดี?
แพทองธารเล่าให้ฟังว่า ต้องบอกให้เข้าใจก่อนว่าในเรื่องของฝุ่นเราทราบและเห็นแล้วว่าฝุ่นมันกำลังจะมา เราเตรียมไว้ตั้งแต่วันแรกที่เป็นนายกรัฐมนตรีเลยด้วยซ้ำ ตั้งแต่ปีที่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นในแต่ละพื้นที่และฝุ่นกำลังจะมา
“ฝุ่นไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์ของเราว่าทำไมวันนี้มีฝุ่น รัฐบาลทราบอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก่อนมาก็เรียกประชุมหมดแล้ว ทั้งกระทรวงที่เกี่ยวข้อง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้คุยกับชาวบ้านให้เรียบร้อย ย้ำในพื้นที่นะว่าจะต้องดูเรื่องฝุ่น เราทำแบบนี้หมดแล้ว มากไปกว่านั้นประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนทั้งหมด เราขอความช่วยเหลือทั้งหมดว่าทุกคนร่วมมือกันนะให้มันน้อยลง
“แน่นอนวันที่ฝุ่นมันเยอะ มันอยู่ในอากาศ เราไม่สามารถดีดนิ้วให้ฝุ่นหายไปได้ เราเตรียมเท่าที่จะทำได้อย่างเต็มที่ เต็มกำลัง บังเอิญว่าวันที่เรามาที่นี่เป็นช่วงที่ตรงกับช่วงฝุ่นเยอะ เราไม่สามารถเปลี่ยนวันของ World Economic Forum ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องสื่อสารไป”
นอกจากนี้ยังได้มีการพูดคุยกับ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ว่าให้ลงมือเต็มที่ ซึ่งท่านยังอยู่โรงพยาบาลอยู่ ท่านก็เรียกปลัดและอธิบดีเข้าไปพูดคุยเพื่อสั่งการตามพื้นที่ที่ต้องทำทุกอย่างจริงๆ และค่าฝุ่นก็น้อยลงจากปีที่แล้ว นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง
“การมีฝุ่นไม่มีใครชอบหรอก ดิฉันลูกเล็กเข้าใจดี ลูกออกไปเล่นข้างนอกไม่ได้เลยเพราะฝุ่น ไปโรงเรียนก็ไม่ได้เพราะเด็กเกินไป ก็ไม่สามารถดูแลตัวเองในการใส่หน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด เราก็ให้อยู่บ้าน ทำสุดความสามารถ”
ข้อวิจารณ์ต่างๆ ที่เข้ามา ยืนยันว่ารับมือได้?
แพทองธารระบุด้วยว่า มาอยู่ตรงนี้เป็นบุคคลสาธารณะ ถึงอย่างไรก็ต้องโดนวิพากษ์วิจารณ์ เราดูหัวข้อไว้ว่าเขาวิพากษ์วิจารณ์เราเรื่องอะไรหรือแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ดี แต่ถ้าจะให้มาคอมเมนต์ในเรื่องที่บั่นทอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องคาแรกเตอร์ เรื่องเสื้อผ้าหน้าผม มันไม่จำเป็น
“เราชอบแบบนี้ เราไม่เคยเบียดเบียนใคร เราไม่ชอบบูลลี่ใครเรื่องนี้ เราไม่เคยทำตั้งแต่เกิดว่าเราไม่ชอบ เธอดูคนนี้ เราไม่ทำ เพราะเรามีมารยาทพอที่จะไม่ทำแบบนั้น แต่คนอื่นทำกับเรา ถ้าเราไปนั่งอ่านทุกคอมเมนต์ แน่นอนว่าเราเป็นมนุษย์ เราเสียใจ แต่ถ้าเรามาเสียใจในเรื่องพวกนี้แล้วไม่มีแรงผลักดันประเทศต่อ ไม่มีแรงไปคุยกับผู้นำ มันคุ้มเหรอ
เราทราบว่าหลายคนวิจารณ์เราเรื่องนี้เรื่องนั้น โอเค ทราบไว้แล้วจะได้แก้ไขปัญหา ทุกวงการไม่ว่าจะอาชีพไหนก็ตามโดนคอมเมนต์ทุกคอมเมนต์ นั่งอ่านก็หมดแรง แต่เราต้องมีแรง เพราะเรากำลังเป็นผู้นำประเทศ ต้องเอาตัวเองขึ้นไปให้ได้”
ในฐานะผู้นำประเทศในวันนี้ มีอะไรที่อยากทำให้สำเร็จก่อนจะจบเทอม และมีอะไรที่อยากมอบให้กับคนไทยรวมถึงชาวโลก เนื่องจากอยู่ในงาน World Economic Forum?
ถ้าคำพูดกว้างๆ แบบไม่ระบุนโยบายก็คือ อยากทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เป็นเป้าหมายหลัก เพราะถ้าเศรษฐกิจดีขึ้น คนไทยจะมีกินมีใช้ คนไทยจะรวยขึ้น คนไทยจะอยู่อย่างสบายกายสบายใจขึ้น ซึ่งเรามีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากมายไม่ว่าจะเป็นนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตหรือการช่วยดอกเบี้ยต่างๆ ของ SMEs
สิ่งที่จะประสบความสำเร็จคือ นอกจากจะช่วยคนในประเทศด้วยนโยบายต่างๆ แล้ว เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างประเทศว่าเราพร้อมสำหรับการลงทุน เราพร้อมที่จะทำเรื่องยากๆ ในชีวิตของผู้ลงทุน เราไปแก้และสนับสนุนเพื่อให้เขาลงทุนได้ง่ายขึ้น รวมถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่ ซึ่งในปีนี้บางอย่างเห็นผลบ้างแล้ว และส่งผลต่อ GDP ของประเทศ
แพทองธารยังเปิดเผยด้วยว่า พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่า GDP เราจะโตมากขึ้น ถึงแม้นักวิชาการหลายฝ่ายจะบอกว่า GDP ยังไม่โตก็ตาม ซึ่งเรามีงานอีกมากที่จะผลักดันประเทศไปข้างหน้า เพราะฉะนั้นการที่ GDP จะโตเกินคาดเป็นไปได้สูงมากๆ
มั่นใจมาก?
มั่นใจมากค่ะ ยืนยันว่าเศรษฐกิจจะเป็นเป้าหมายหลักแน่นอน
เห็นขึ้นเวทีเสวนา Betazone หัวข้อ ‘Not Losing Sight of Soft Power’ ทำไมใช้ Soft Power เป็นหัวใจในการสื่อสารของประเทศ?
แพทองธารกล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่เปิดงาน Thailand Reception ในงาน World Economic Forum ทำให้ต้องเลือกข้อมูลที่ลิงก์กันในการที่จะพูด จึงเป็นเรื่อง Soft Power เป็นการขายของของเราต่อ เพราะ Soft Power เป็นสิ่งที่คนรู้จักเรา
บางคนไม่เคยไปประเทศเรา แต่เคยกินอาหารไทย นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเข้มแข็ง ทำไมไม่เคยไปประเทศเราแต่รับกินของเรา ทุกคนรู้จักว่าจานนี้จานนั้นอร่อยอย่างไร เป็นสิ่งที่ง่ายมากในการเจรจา เช่น เธอเคยกินส้มตำไหม
ทำให้เมื่อเริ่มคุยฝรั่งจะสนใจและพิจารณาดูว่ามีอะไรที่จะซัพพอร์ตเรื่องนี้ได้บ้าง จึงอยากนำสิ่งที่ใกล้ตัวมาขาย และฉายเป็นภาพใหญ่ของประเทศให้ได้
ประเมินตัวเองสำหรับภารกิจการเยือนดาวอสครั้งนี้?
แพทองธารปฏิเสธที่จะให้คะแนนตัวเอง แต่ขอให้คะแนนทีมงานแทน โดยระบุว่าให้ 10 เต็ม 10 เลย เพราะว่าทุกคนกระจายทั่วไปคุยกับภาคส่วนต่างๆ เมื่อเจอหน้าทุกคนจะพูดว่าได้พบกับรัฐมนตรีคนนั้น ได้พบกับรัฐมนตรีคนนี้ ทำให้รู้สึกใจฟู มาฟูลทีมแล้วทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองเต็มที่มาก ดีใจ
เท่าที่ประเมิน สรุปแล้วต่างชาติมองประเทศไทยตอนนี้อย่างไร?
แพทองธารเน้นย้ำกับ THE STANDARD อย่างมั่นใจว่าต่างชาติคิดว่าตอนนี้ประเทศไทยน่าลงทุนมาก เป็นประเทศแห่งโอกาสของเขา ไม่ใช่แค่ของเรา
ส่วนเราจะเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น เกิดอะไรอีกมากมายตามมาแน่ๆ ซึ่งถือเป็นชัยชนะของทั้งคู่ คิดว่าต่างชาติมั่นใจค่ะ