วันนี้ (2 พฤษภาคม) กุสุมาลวตี ศิริโกมุท อดีตผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และ จันทร์เพ็ญ ประเสริฐศรี ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายในจังหวัดอำนาจเจริญ ได้เดินทางเข้าร้องขอความช่วยเหลือจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อขอให้ดูแลความปลอดภัยและคุ้มครองในฐานะพยาน หลังจากอ้างว่าถูกข่มขู่จากกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้ง สว. ที่ผ่านมา โดยมีสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้รับเรื่อง
กุสุมาลวตีเปิดเผยว่า ตนเป็นผู้สมัคร สว. กลุ่มสตรี ที่ผ่านการคัดเลือกระดับอำเภอและจังหวัดมาอย่างโปร่งใส แต่สังเกตเห็นความผิดปกติและการแทรกแซงในระดับประเทศ จึงได้ดำเนินการร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงาน รวมถึงการแจ้งความดำเนินคดีที่ สภ.โกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ในข้อหาเกี่ยวกับพฤติการณ์อั้งยี่ในการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม หลังจากการแจ้งความ กลับมีนายอำเภอติดต่อมาเพื่อขอสำเนาบันทึกแจ้งความ โดยอ้างคำสั่งจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งตนมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และอาจเป็นการก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ของ DSI และอัยการ นอกจากนี้ ยังได้รับข้อมูลว่ามีพยานรายอื่นในคดีถูกข่มขู่ให้แจ้งความกลับ DSI และมีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ไปคุกคามพยานด้วย
ด้านจันทร์เพ็ญ ในฐานะตัวแทนผู้สมัคร สว. จากจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า กลุ่มผู้สมัครในพื้นที่กำลังเผชิญกับการข่มขู่เช่นกัน โดยตั้งข้อสังเกตถึง สว. 5 คนในจังหวัด ที่อาจได้รับการรับรองคุณสมบัติอย่างไม่ถูกต้องผ่านนักการเมืองท้องถิ่น และประเมินว่ามีบุคคลราว 600-700 คนในจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสมยอมในการเลือกตั้ง (ฮั้ว) กำลังถูกข่มขู่ ลักษณะการข่มขู่รวมถึงการส่งข้อความไปยังผู้สมัครและญาติ ห้ามให้ปากคำกับ DSI โดยอ้างว่าคดีถูกเคลียร์แล้ว และมีการฝากคำเตือนมาถึงตนไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงอยากเรียกร้องให้ผู้ที่ถูกคุกคามกล้าออกมาร่วมเป็นพยาน
ขณะที่ พ.ต.ต. ยุทธนา ยืนยันว่า ผู้ร้องทั้งสองถือเป็นพยานในคดีพิเศษ กรณีการสมยอมในการเลือกตั้ง สว. ระดับประเทศ ซึ่ง DSI ได้รับเรื่องต่อจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติและรับเป็นคดีพิเศษแล้ว DSI มีหน้าที่คุ้มครองพยานตามกฎหมาย และคณะกรรมการจะพิจารณาคำร้องขอความคุ้มครองตามพยานหลักฐานว่ามีเหตุอันควรให้เชื่อว่าจะเกิดความไม่ปลอดภัยหรือไม่
อธิบดี DSI ยังกล่าวถึงกรณีการขอสำเนาบันทึกแจ้งความว่า การเข้าถึงเอกสารในสำนวนคดีอาญาต้องเป็นไปตามสิทธิและอำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอาจมีข้อยกเว้นในการเปิดเผยเพื่อไม่ให้กระทบต่อการสืบสวนสอบสวน แม้การข่มขู่ยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน แต่หากมีการคุกคามจริง DSI พร้อมพิจารณาให้ความคุ้มครอง โดยยอมรับว่ามีพยานหลายรายแจ้งเรื่องถูกข่มขู่เข้ามาแล้ว
สำหรับความคืบหน้าของคดี พ.ต.ต. ยุทธนา ระบุว่า ได้รวบรวมพยานหลักฐานไปมากพอสมควร ทั้งพยานบุคคล ประจักษ์พยาน และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับการสื่อสาร เพื่อพิสูจน์การกระทำผิด ส่วนการประสานงานกับกระทรวงมหาดไทยจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของพนักงานสอบสวนต่อไป นอกจากนี้ การจำลองเหตุการณ์วันเลือกตั้ง สว. ที่เมืองทองธานี ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์พฤติกรรมของบุคคลต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับพยานหลักฐานอื่นที่รวบรวมได้