×

Every Day, A Good Day เรียบง่าย งดงาม และความหมายของชีวิต

12.07.2019
  • LOADING...
Every Day A Good Day

ในทุกๆ วันที่สับสน รีบร้อน บางครั้งชีวิตเราอาจไม่ต้องการอะไรมากไปกว่า ช่วงเวลาสงบๆ ได้ต้มน้ำ ชงชา มองสายน้ำที่รินไหล และค่อยๆ จิบชาร้อนๆ อย่างเชื่องช้าไม่รีบเร่ง แบบที่ได้เห็นใน Every Day, A Good Day ผลงานเรื่องล่าสุดของผู้กำกับโอโมริ เท็ตสึชิ แต่เป็นผลงานสุดท้ายของคุณยายกีกิ คิริน ได้ฝากเอาไว้ให้กับโลกใบนี้ 

 

โดยหยิบเรื่องราวที่ โมริชิตะ โนริโกะ บันทึกความสวยงาม เรียบง่าย สงบสุขที่ค้นพบจากพิธีชงชาที่แสนพิถีพิถันตามวัฒนธรรมประเทศญี่ปุ่นไว้ในหนังสือ Everyday is a good day: 15 happiness taught by ‘Tea’

 

เรื่องราวเริ่มต้นในช่วงที่ โนริกะ (รับบทโดยคุโรกิ ฮารุ) เป็นนักศึกษาใกล้เรียนจบ แต่ยังหาเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจนเหมือนคนอื่นๆ ไม่เจอ จนแม่ของเธอได้แนะนำให้ลองไปเรียนชงชากับอาจารย์ทาเคดะ (รับบทโดยกีกิ คิริน) โนริโกะและมิจิโกะ (รับบทโดยทาเบะ มิคาโกะ) สองสาวลูกพี่ลูกน้องจึงได้ก้าวเท้าเข้าสู่ห้องเรียนชงชา ที่สอนไปถึงปรัชญาการใช้ชีวิตไปพร้อมๆ กัน

 

Every Day A Good Day

 

Every Day, A Good Day ว่าด้วยเรื่องราวของ โนริโกะ (คุโรกิ ฮารุ) นักศึกษาสาวคนหนึ่งที่ใกล้จะเรียนจบเต็มที แต่ยังไม่มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ กระทั่งแม่ของเธอได้แนะนำให้ลองไปเรียนชงชากับอาจารย์ทาเคดะ (กีกิ คิริน) โนริโกะและมิจิโกะ (ทาเบะ มิคาโกะ) ลูกพี่ลูกน้องของเธอจึงตกลงไปเรียนพิธีชงชาด้วยกัน

 

สิ่งที่คนดูจะได้รับเป็นอย่างแรก นอกเหนือจากเนื้อเรื่องในภาพยนตร์ คือความรู้สึกดื่มด่ำไปกับพิธีชงชาที่เสมือนเราได้นั่งอยู่ข้างๆ ตัวละครในห้องเรียนอันแสนศักดิ์สิทธิ์นั้นจริงๆ 

 

ต้องชื่นชมผู้กำกับและทีมงานที่ทั้งเก็บบรรยากาศ รายละเอียดของพิถีชงชาที่แสนละเมียดละไมเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน และถ่ายทอดออกมาให้ผู้ชมได้รู้สึกผ่านจอภาพยนตร์ได้สมจริง ตั้งแต่ใบไม้ที่ถูกลมพัด เสียงน้ำที่ค่อยๆ ถูกรินลงในถ้วยชา ควันสีอ่อนที่ค่อยๆ ระเหยลอยขึ้นมา จนเราสามารถจินตนาถึงกลิ่นชาหอมกรุ่นขึ้นมาได้ทันที รวมทั้งเรื่องเล่าระหว่างทางในประวัติศาสตร์การชงชาที่กลายเป็นประเพณีสำคัญสืบทอดกันมาหลายต่อหลายรุ่น

 

Every Day A Good Day

 

ความเรียบง่าย เนิบช้า ในห้องเรียนชงชาเหมือนเป็นภาคตรงข้ามของสองสาวที่คนหนึ่งยังทำหน้าสงสัย ในขณะที่อีกคนหนึ่งมองเห็นเป็นเรื่องสนุก แต่เมื่อได้เข้ามาอยู่ตรงนั้นจริงๆ ระเบียบแบบแผน การปฏิบัติเคร่งครัด ท่วงท่าการล้างมือ พับผ้า นั่ง ยืน เดิน คำนับ ต้มน้ำ บดใบชา ริน ประคอง ดื่ม ที่ถูกกำหนดเอาไว้ห้ามผิดพลาดแม้แต่กระเบียดนิ้ว ก็ทำให้สองสาวเกือบทนไม่ไหวในช่วงแรก 

 

หากแต่เวลาผ่านไป เมื่อทั้งสองสาวที่คุ้นชินกับเวลาของโลกภายนอก เริ่มปรับเวลาให้ช้าลงเป็นระดับเดียวกันกับมาตรวัดของอาจารย์คาเคดะ จากที่เคยเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า หรือคิดว่าขั้นตอนต่างๆ ไม่สลักสำคัญ พวกเธอก็ได้ค้นพบว่าทุกสิ่งอย่างล้วนมีเหตุผล ถ้าเรามีเวลาและได้ใช้ ‘หัวใจ’ มองลงไปที่สิ่งนั้นจริงๆ 

 

ถึงแม้ตัวหนังมีบทสนทนาเชิงสั่งสอนน้อยมาก เพราะเลือกใช้การเล่าเรื่องผ่านความสวยงามที่เรียบง่ายของพิธีชงชา ที่ไม่ต้องมีคำพูดมากำกับ แต่ตัวละครและคนดูสามารถซึมซับและเรียนรู้ใจความสำคัญนั้นผ่านการสังเกตรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่แทรกอยู่ได้โดยอัตโนมัติ 

 

อย่างที่โนริโกะที่เคยเป็นคนซุ่มซ่ามและมักถูกการหมุนของโลกที่เร็วขึ้นทุกขณะจนไม่มีเวลาสังเกตรายละเอียดสิ่งรอบข้างให้ดี ก็ค่อยๆ มีสติและพิถีพิถันมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ในพิธีชงชา แต่ว่าเธอค่อยๆ กลายเป็นคนที่ ‘ละเอียด’ ในการคิด วิเคราะห์สิ่งต่างๆ ในชีวิตได้ลึกซึ้งมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว  

 

Every Day A Good Day

 

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ แม้ฉากหลังของเรื่องจะอยู่ในยุค 90 แต่ความสับสน การตั้งคำถาม การค้นหาตัวตนและเป้าหมายที่ถ่ายทอดผ่านโนริโกะและมิจิโกะ ซึ่งชุดคำถามดังกล่าวก็ยังคงติดค้างวนเวียนอยู่ในความคิดของวัยรุ่นในยุคปัจจุบันเหมือนเดิมทุกประการ แม้ว่าเวลาจะผ่านไปเกือบ 30 ปีแล้วก็ตาม 

 

แน่นอนว่ายิ่งเราต้องปรับตัวตามโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเร็วมากขึ้นเท่านั้น เราก็ยิ่งต้องเพ่งพินิจพิจารณาใช้เวลาเฝ้ามองมันอย่างถี่ถ้วน บางเรื่องอาจกินนานเวลาหลายปีกว่าจะเข้าใจ แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะเราเกิดมาเพื่อค้นหาคำตอบด้วย ‘เครื่องมือ’ ที่แตกต่างกันไป

 

อย่างที่ โนริโกะ มิจิโกะ และอาจารย์ทาเคดะเลือกใช้การชงชาเป็นเครื่องมือนั้น ซึ่งสุดท้ายการชงชาก็ไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนว่าใครควรจะทำอะไร ที่ไหน อย่างไร และเมื่อไร 

 

หากแต่ความเรียบง่าย สวยงาม และกลิ่มหอมของใบช้าค่อยๆ บอกให้ทุกคนรู้ว่า เราต้องให้เวลาเพื่อใช้ ‘หัวใจ’ ค้นหา ‘สิ่งนั้น’ อย่างตั้งใจและพิถีพิถันมากกว่านี้ 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

FYI
  • พร้อมด้วยสองนักแสดงสาวมากฝีมืออย่าง ทาเบะ มิคาโกะ (Kimi ni Todoke) และ คุโรกิ ฮารุ (ให้เสียงพากย์ใน Mirai, Wolf Children) ที่มาสวมบทบาทเป็นตัวโนริโกะเอง นอกจากนี้ยังเป็นผลงานเรื่องสุดท้ายของนักแสดงที่ยังอยู่ในใจใครหลายคนอย่าง กีกิ คิริน ที่ได้ฝากไว้ให้โลกได้จดจำอีกด้วย
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X