ต้องบอกว่าปกติแล้วธุรกิจอีเวนต์มีความอ่อนไหวมากอยู่แล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ลูกค้าจะตัดงบก่อน ซึ่งปีนี้ผู้ประกอบการไม่ได้ทำอีเวนต์ งานทั้งหมดถูกเลื่อนและยกเลิกเกือบ 100% ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงมิถุนายน และเริ่มกลับมาฟื้นตัวตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา แต่ยังไม่ได้คึกคักมากนัก
จนมาถึงในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งปกติจะเป็นช่วงไฮซีซันของธุรกิจอีเวนต์ ทำให้ทุกคนหมายมั่นปั้นมือว่าจะใช้ช่วงเวลานี้ในการหารายได้เพื่อมาหล่อเลี้ยงธุรกิจให้เดินต่อไปได้ แต่ก็ใช่ว่าจะไว้วางใจได้เสียหมด เพราะได้มีการประเมินความเสี่ยงในการเกิดโควิด-19 ระลอกสองที่ถือเป็นตัวเร่งให้ตลาดเลวร้ายขึ้นอีก เพราะมีผลในเชิงจิตวิทยาและด้านการตลาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อ ‘ตลาดอีเวนต์มาร์เก็ตติ้ง’ มูลค่าราว 1.4 หมื่นล้านบาท จากที่เคยประเมินว่าจะลดลง 60% ในปีนี้อาจลดลงมากขึ้นไปอีก
จากความเสี่ยงที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่สุดท้ายเกิดขึ้นแล้วจริงๆ สำหรับการระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ ซึ่งปัจจุบันได้ลุกลามไปหลายจังหวัด แน่นอนว่าตลาดอีเวนต์ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบ
เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ในรายการ Morning Wealth ของ THE STANDARD WEALTH ช่วงเช้าวันนี้ (23 ธันวาคม) ว่าการระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด-19 ยังไม่ถือว่ากระทบโดยตรงกับงานที่จะเกิดขึ้นในปีนี้
“ทุกอย่างยังคงที่ เพราะทุกคนไม่ได้ยกเลิกงาน แต่ถูกวางแผนไว้แล้วว่าไม่จัดงานขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงไม่ถือว่ากระทบมากนักสำหรับปีนี้ อย่างเราเองเวลาจัดงานจะจัดแบบเพลย์เซฟและประเมินสถานการณ์แบบเนกาทีฟไว้ก่อนอยู่แล้วเพื่อวางแผนรับมือ”
เชื่อว่าผลกระทบจากการระบาดใหม่นี้จะมีผลต่อปีหน้า อย่างอินเด็กซ์เองปี 2564 ได้วางแผนใหม่แบบระยะสั้น 3-6 เดือน ซึ่งก่อนหน้านี้เกรียงไกรเคยให้ข้อมูลไว้ว่าปี 2564 จะรุกธุรกิจในส่วนของนอนอีเวนต์ (Non-event) มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในรูปแบบของ Own Project โดยไฮไลต์ปีหน้าจะเน้นจับตลาดท่องเที่ยว การสร้างแลนด์มาร์กใหม่ๆ ในเมืองรอง อีกส่วนมุ่งเจาะธุรกิจด้านเฮลท์แคร์เพื่อตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพที่กำลังมาแรง อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือให้ธุรกิจอื่นๆ ‘ฟื้นตัว’ และเติบโตไปด้วยกัน
ช่วงโควิด-19 อินเด็กซ์มีการปั้นธุรกิจใหม่หลากหลาย เช่น Kill & Klean แฟรนไชส์ทำความสะอาดฆ่าเชื้อ ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 25 แฟรนไชส์ ขยายไปยัง 6 ประเทศ 28 เมือง และยังประคองตัวด้วยการควบคุมค่าใช้จ่ายซึ่งลดลงไปประมาณ 20% ในจำนวนนี้ค่าใช้จ่ายที่ลดลงส่วนหนึ่งมาจากจำนวนพนักงานที่ลดลง จากต้นปีทั้งกลุ่มบริษัทมี 420 คน เหลือเพียง 350 คน โดยพนักงานลดลงตามธรรมชาติ ไม่ได้มีการปลดออก
แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ถือว่าชดเชยกับรายได้ที่หายไป ผลการดำเนินงานในปี 2563 ได้รับผลกระทบหนักจากพิษโควิด-19 มาตรการล็อกดาวน์ และการประกาศเคอร์ฟิว ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทในปี 2563 อยู่ที่ 460 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 69% ซึ่งมาจากสัดส่วน 3 กลุ่มธุรกิจหลักคือ กลุ่มครีเอทีฟบิซิเนส ดีเวลลอปเม้นท์ (Creative Business Development) ลดลง 37% กลุ่มมาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส (Marketing Service) ลดลง 78.4% และกลุ่มโอน-โปรเจกต์ (Own-Project) ลดลง 45% เมื่อเทียบกับปีที่ก่อน
อย่างไรก็ตาม เกรียงไกรเชื่อว่าปลายปีหน้าสถานการณ์ต่างๆ ก็น่าจะดีขึ้น เนื่องจากมีข่าวดีเรื่องวัคซีน ในระหว่างนี้ก็อยู่ที่ใครจะประคองตัวเองได้ดีกว่ากัน
ด้าน ณัฐติมา อาร์นบาค Account Director บริษัท Eventery ซึ่งรับจัดงานอีเวนต์เปิดตัวสินค้าหรือแฟชั่นโชว์ ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD WEALTH ว่าปกติแล้วช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนธันวาคมไปจนถึงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม บริษัทจะไม่ค่อยมีงานอีเวนต์เข้ามาอยู่แล้ว ดังนั้นข่าวการขอความร่วมมือเรื่องงดจัดงานอีเวนต์ในช่วงปลายปีจึงไม่ได้กระทบกับบริษัทมากนัก
แต่ไปกระทบกับงานที่จะเกิดขึ้นในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์แทน ซึ่งตอนนี้มีเข้ามาแล้วประมาณ 10 งาน อย่างงานที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมมี 2 งาน ซึ่งวางแผนการจัดงานไปแล้ว 70-80% ในจำนวนนี้หนึ่งงานขอเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากผู้ร่วมงานเกิดความไม่มั่นใจที่จะมาร่วม และยังไม่สะดวกที่จะเข้าร่วมงานที่มีคนเข้าร่วมจำนวนมาก ส่วนอีกหนึ่งงานยังประเมินสถานการณ์อยู่
“ตอนนี้ลูกค้ากำลังจับตาดูสถานการณ์อยู่ว่าจะเป็นอย่างไร หากถึงขั้นที่มีการล็อกดาวน์อีกรอบ แน่นอนว่างานที่ติดต่อเข้ามาอาจจะต้องถูกยกเลิก เพราะบางงานอย่างการเปิดตัวสินค้าหรือแฟชั่นโชว์มีช่วงเวลาที่เฉพาะเจาะจง ”
ปกติแล้ว Eventery จะมีงานจัดอีเวนต์เข้ามาเดือนละประมาณ 5-6 งานด้วยกัน แต่หลังจากข่าวการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา งานที่วางแผนไว้ยกเลิกหมดเลย และเริ่มฟื้นตัวอีกครั้งตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ซึ่งเดือนนั้นมีการจัดงาน 1 งานด้วยกัน
หลังจากนั้นการจัดงานเริ่มแน่นขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน โดยเฉพาะเดือนพฤศจิกายนที่มีการจัดงานสัปดาห์ละ 2-3 งาน ซึ่งคนทุกในบริษัทดีใจมากที่มีงานกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่ต้องประคองตัวในช่วงที่ไม่มีงานด้วยการขอความร่วมมือลดเงินเดือนของพนักงานเพื่อให้องค์กรสามารถไปต่อได้ โดยแลกกับวันทำงานที่ลดลง
“แม้งานจะกลับเข้ามาอีกครั้ง แต่ปรากฏว่าเปลี่ยนไป ลูกค้าได้ปรับลดงบ 20-30% ในการจัดงานลง และบางรายเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานจากที่จัดวันเดียว เชิญแขกเป็น 100 คน ก็อาจจะขยับเป็นหลายวันและเชิญแขกเป็นรอบๆ แทน แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งการระบาดของโรคและการลดงบของลูกค้ากระทบจากธุรกิจเต็มๆ คาดว่าปีนี้รายได้รวมของบริษัทจะลดลง 70-80% เลยทีเดียว”
สำหรับปี 2564 ณัฐติมาให้ความเห็นว่ายังประเมินไม่ได้ว่าธุรกิจจะเป็นอย่างไรหรือจะกลับมาคึกคักหรือไม่ จนกว่าจะมีข่าววัคซีนที่แน่ชัดในไทย ซึ่งหลังมีวัคซีนจะทำให้สถานการณ์โดยรวมดีขึ้นอย่างแน่นอน แต่ในระหว่างนี้ต้องประคองตัวเองไปก่อน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์