×

บอร์ดอีวี เร่งเครื่องยานยนต์ไฟฟ้า ตั้งเป้าผลิตรถ ZEV 100% ภายในปี 2578 เร็วกว่าเดิม 5 ปี ส่งผลหุ้นกลุ่มผลิตแบตเตอรี่พุ่งเด่น

25.03.2021
  • LOADING...
บอร์ดอีวี-เร่งเครื่องยานยนต์ไฟฟ้า

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการประชุมนัดแรกของปีนี้ ที่ประชุมได้กำหนดเป้าหมายใหม่ในการผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยระยะยาวจะต้องเป็นการผลิตรถยนต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษ หรือรถยนต์ ZEV

 

การประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าจะต้องเร่งรัดให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถไฟฟ้า 100% ภายในปี 2578 หรือในอีก 14 ปีข้างหน้า ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายเดิมที่วางไว้ในปี 2583 หรือเร็วขึ้นกว่าเดิม 5 ปี 

 

นอกจากนี้ ยังกำหนดด้วยว่าภายในปี 2573 จะต้องผลิตรถไฟฟ้าให้ถึง 50% ของปริมาณการผลิตรถทุกชนิด 

 

โดยเป้าหมายใหม่ของบอร์ดอีวี แบ่งเป็น การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสะสมในปี 2568 ที่ 1.05 ล้านคัน แบ่งเป็นรถยนต์นั่งและรถปิกอัพ 4 แสนคัน, รถจักรยานยนต์ 6.2 แสนคัน, รถบรรทุก 3.1 หมื่นคัน 

 

ส่วนในปี 2578 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสะสม 18.41 ล้านคัน แบ่งเป็นรถยนต์นั่งและรถปิกอัพ 8.62 ล้านคัน, รถจักรยานยนต์ 9.33 ล้านคัน, รถบัสและรถบรรทุก 4.58 แสนคัน

 

สำหรับเป้าหมายการใช้รถไฟฟ้าสะสม บอร์ดอีวีตั้งไว้ว่า ในปี 2568 อยู่ที่ 1.05 ล้านคัน แบ่งเป็นรถยนต์นั่งและรถปิกอัพ 4.02 แสนคัน, รถจักรยานยนต์ 6.22 แสนคัน, รถบัสและรถบรรทุก 3.1 หมื่นคัน 

 

ส่วนในปี 2578 ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมีการใช้รถไฟฟ้าสะสม 15.58 ล้านคัน แบ่งเป็นรถยนต์นั่งและรถปิกอัพ 6.4 ล้านคัน, รถจักรยานยนต์ 8.75 ล้านคัน, รถบัสและรถบรรทุก 4.3 แสนคัน

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้อนุมัติการตั้งอนุกรรมการ 4 ชุด เพื่อพิจารณาความต้องการใช้รถไฟฟ้าและอินฟราสตักเจอร์ อาทิ แบตเตอรี่ รวมถึงสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจ โดยให้นำกลับมาหารือกันในที่ประชุมใหญ่ (บอร์ดอีวี) อีกครั้ง ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2564

สำหรับคณะอนุกรรมการ 4 คณะ ได้แก่ 1. คณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน มีอำนาจและหน้าที่ศึกษาและกำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ รถยนต์, ปิกอัพ, รถจักรยานยนต์, สามล้อ, รถบัส, รถบรรทุก, เรือ และชิ้นส่วนยานต์ยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน

 

  1. คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและแบตเตอรี่เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน มีอำนาจและหน้าที่ประเมินผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐาน และจัดทำแผน / มาตรการการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าและด้านอื่นๆ เพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า มาตรการส่งเสริมแบตเตอรี่ และบริหารแบตเตอรี่ใช้แล้ว   

 

  1. คณะอนุกรรมการประเมินผลกระทบด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซเรือนกระจกจากการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน มีอำนาจและหน้าที่ประเมินผลกระทบจากการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า จัดทำแผนมาตรการเตรียมการรองรับผลกระทบในด้านการผลิตและการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ประเมินศักยภาพการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก / มาตรการการลดก๊าซเรือนกระจก หรือภาษีคาร์บอน 

 

  1. คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ศึกษาและกำหนดแนวทางการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดเป็นรูปธรรม รวมถึงพัฒนากลไกบริหารจัดการรถเก่า เพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า จัดทำแผน / มาตรการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง 

 

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส มองว่า นโยบายดังกล่าวถือเป็นเซนติเมนต์เชิงบวกต่อกลุ่มผู้ผลิตแบตเตอรี่ประเภทต่างๆ ที่ใช้ในรถยนต์ EV รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์ EV ถึงแม้เป้าหมายจะเป็นเป้าหมายในระยะยาวอาจยังไม่เห็นผลกำไรในในระยะสั้น แต่นั่นหมายถึงการที่ผู้ประกอบการต่างๆ จะต่อยอดฐานกำไรจากธุรกิจแบตเตอรี่และรถยนต์ EV เป็นไปได้ไม่ยากจากการสนับสนุนของภาครัฐ 

 

สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีภาพการลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ที่ชัดเจน ได้แก่ EA, GPSC, BPP และ BCPG โดยราคาหุ้นในวันนี้ (25 มีนาคม) ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดดเด่น โดย EA +4.26% ปิดที่ 61.25 บาท, BPP +4.21% ปิดที่ 19.80 บาท, GPSC +3.03% ปิดที่ 76.50 บาท ยกเว้น BCPG -1.32% ปิดที่ 14.90 บาท 

 

นลินรัตน์ กิตติกำพลรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวเสริมว่า แม้บริษัทเหล่านี้จะเริ่มลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่มากขึ้น แต่ต้องติดตามความชัดเจนของแผนในการสร้างรายได้ต่อไป และการลงทุนโดยคาดหวังต่อการเติบโตธุรกิจแบตเตอรี่อาจต้องใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากธุรกิจแบตแตอรี่ยังไม่สามารถสร้างกำไรที่มีนัยสำคัญต่อกำไรรวมของบริษัทในช่วง 1-2 ปี ข้างหน้าอย่างแน่นอน

 

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยแนะนำ GPSC ด้วยราคาเหมาะสม 82 บาท ถึงแม้ในช่วงสั้นธุรกิจแบตเตอรี่จะยังไม่สามารถสร้างกำไรได้อย่างมีนัยสำคัญ เพราะยังอยู่ในจุดเริ่มแรกของการลงทุน แต่ยังมีธุรกิจหลักโรงไฟฟ้าที่สามารถสร้างกำไรได้อย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X