ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกต่างกังวลภาวะ Recession อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ขณะนี้ยังไม่มีทีท่าแผ่วลง สำหรับประเทศไทยก็สามารถเห็นได้จากหลายค่ายรถจากจีนเข้ามาทำตลาด EV หากดูข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก พบว่า ยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ (ป้ายขาว) ประจำเดือนมีนาคม 2566 ค่ายจีนอย่าง BYD ATTO 3 ยังคงครองแชมป์ ตามด้วย Tesla Model Y และ NETA V ด้วยยอดรวมตลอดเดือนทั้งหมด 6,262 คัน
ส่วนสถิติรถยนต์ไฟฟ้า 100% ในประเทศก็สุดปัง มียอดจดทะเบียนใหม่สะสม 3 เดือน (มกราคม-มีนาคม 2566) รวมแล้วกว่า 61,594 คัน ส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์สูงสุด รองลงมาคือ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง
สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า เดือนมีนาคม ยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้า EV เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เป็นผลมาจากมาตรการส่งเสริมของรัฐบาลและบรรยากาศของงานมอเตอร์โชว์โดยเฉพาะยอดรถยนต์ไฟฟ้าประเภทแบตเตอรี่ (BEV) จดทะเบียนใหม่เดือนมีนาคม 2566 ยังเติบโตได้ดี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 878.7%
“ปัจจัยบวกมาจากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐที่ทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าในบางรุ่นมีราคาต่ำกว่ารถเครื่องยนต์สันดาปภายใน โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อน 437% ส่งผลให้สัดส่วนการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยคิดเป็น 9.1% แล้ว เมื่อเทียบกับยอดการจดทะเบียนรถยนต์ทั้งหมด ถือว่ามีอัตราการเติบโตที่โดดเด่นอย่างมากเมื่อเทียบกับในภูมิภาคและในระดับโลก และที่น่าสนใจคือ มีรถบรรทุกไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่ถึง 70 คัน หมายความว่า เป็นไปตามเป้าหมายของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่ไทยเรามี EV ครบทุกประเภทแล้ว”
ส่วนยอดการผลิตรถยนต์เดือนมีนาคม 2566 มีทั้งสิ้น 179,848 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2565 ร้อยละ 4.16 ยังคงเป็นไปตามเป้าหมายที่ 1.95 ล้านคัน เนื่องจากเฉพาะไตรมาสแรกปีนี้ก็สามารถผลิตได้แล้วถึงกว่า 5 แสนคัน เนื่องจากได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้น
ดังนั้น ทั้งปีจะทำได้ตามเป้าที่ 1.05 ล้านคัน และถ้ารักษาระดับการผลิตนี้มีโอกาสเห็น 2 ล้านคัน
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ ต้องติดตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ที่อาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้นำเข้า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่เริ่มมีความตึงเครียดมากขึ้น รวมไปถึงติดตามการส่งออกรถยนต์ของจีนที่คาดว่าปีนี้จะก้าวสู่อันดับ 1 ของโลกที่จะมีผลต่อพื้นที่เรือบรรทุกรถยนต์ (Ro-Ro)ที่อาจจะไม่เพียงพอมากขึ้นได้ ส่วนปัญหาในประเทศขณะนี้คือเรื่องต้นทุนค่าไฟกระทบอุตสาหกรรมค่อนข้างเยอะ
“กำลังซื้อในประเทศยังไม่ค่อยดี จึงมีโอกาสที่รถยนต์บางรุ่นจะปรับราคาขึ้นอีกในปีนี้ แต่บางรุ่นคงปรับขึ้นไม่ได้เพราะรถยนต์การแข่งขันค่อนข้างสูงมาก เพราะฉะนั้น เรื่องไหนที่สามารถรองรับได้ก็ให้รองรับไปก่อน แต่อีกสิ่งที่น่ากังวลคือหนี้ครัวเรือนของไทยค่อนข้างสูง ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นปัญหาในการปล่อยสินเชื่อโดยเฉพาะรถกระบะที่มีอัตราการเช่าซื้อกว่า 80% ก็จะได้รับผลกระทบจากการไม่มีเอกสารในการแสดงฐานะการเงินที่แข็งแรงพอ บางรายติดเครดิตบูโร บวกกับช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นด้วย จึงส่งผลให้ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-มีนาคม) ยอดสั่งซื้อรถกระบะปรับลดลงต่อเนื่อง”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- อากิโอะ โทโยดะ ซีอีโอ Toyota เผยแล้ว เหตุผลที่ไม่กระโจน ‘สู่สายพาน EV’ พร้อมย้ำ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังไม่ใช่กระแสหลัก
- รถยนต์ไฟฟ้าเป็นเทรนด์ก็จริง แต่เมืองไทยพร้อมหรือยังสำหรับรถที่จะใช้แบตเตอรี่ 100%
- รู้จัก BYD แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าชื่อนี้ ที่ Tesla อยากได้ และกำลังจะเข้ามาทำตลาดในไทยเป็นครั้งที่ 3
ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา
อ้างอิง: กรมการขนส่งทางบก
- ล่าสุด BOI เดินทางไปโรดโชว์ที่จีนเพื่อหารือการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้ากับ BYD และบริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล ยังได้หารือกับ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เป็นเจ้าตลาดจีน คือ Geely, JAC และ Jiangling Motors (JMC) โดยทั้ง 3 ค่าย ระบุตรงกันว่า อยู่ระหว่างศึกษาแผนการลงทุนและที่ตั้งโรงงานในประเทศไทย
- รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ตลาดรถยนต์ EV ในประเทศไทยปี 2566 มีโอกาสแตะระดับ 50,000 คัน โดยมีค่ายจีนครองส่วนแบ่งในไทยถึง 85%