×

เงินเฟ้อ ยุโรปพุ่ง 9.1% พิษราคาพลังงาน-อาหารขยับแรง

01.09.2022
  • LOADING...
เงินเฟ้อ

Eurostat หรือสำนักงานสถิติแห่งชาติยุโรป เผยตัวเลข เงินเฟ้อ ของกลุ่มประเทศผู้ใช้เงินสกุลยูโร (Eurozone) ในเดือนสิงหาคมพุ่งทำสถิติสูงสุดระลอกใหม่ที่ 9.1% โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากราคาพลังงานและอาหารที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

 

ตัวเลขเงินเฟ้อครั้งนี้ยังสูงกว่าที่ผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ โดยสำนักข่าว Reuters คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าว่าจะอยู่ที่ 9% และนับเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อครั้งที่ 9 ติดต่อกันของภูมิภาคแห่งนี้ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2021 โดยตัวเลขเงินเฟ้อของยูโรโซนในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 8.9%


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


รายงานยังพบว่าราคาพลังงานมีอัตราเงินเฟ้อประจำปีสูงสุดที่ 38.3% ลดลงเล็กน้อยจากเดือนกรกฎาคมที่ 39.6% ขณะที่ราคาอาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 9.8% ในเดือนกรกฎาคม มาอยู่ที่ 10.6% ในเดือนสิงหาคม ซึ่งราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากคลื่นความร้อนที่แผ่อิทธิพลทั่วทั้งทวีปยุโรป

 

ด้านสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่พลังงาน เช่น เสื้อผ้า เครื่องใช้ในครัวเรือน และรถยนต์ เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ขณะที่ราคาภาคบริการเพิ่มขึ้น 3.8% ในอัตรารายปี และเพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือนกรกฎาคม

 

ผลลัพธ์ของอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงขยับขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งนี้ ส่งผลให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะเป็นเหตุผลสนับสนุนให้ทางธนาคารกลางยุโรป (ECB) พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 8 กันยายนนี้ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ECB น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%

 

บรรดานักเศรษศาสตร์และนักกลยุทธ์หลายสำนักเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจยุโรปคงยากที่จะหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้แล้ว เนื่องจาก ECB จำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้จะมั่นใจว่าเศรษฐกิจถดถอย เพราะไม่อาจปล่อยเงินเฟ้อไปได้ ดังนั้น คำถามสำคัญในขณะนี้ก็คือว่า ยุโรปจะถดถอยมากแค่ไหนและกินเวลายาวนานแค่ไหน

 

ทั้งนี้ เงินเฟ้อยุโรปมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เมื่อ บริษัท ก๊าซพรอม (Gazprom) รัฐวิสาหกิจด้านน้ำมันยักษ์ใหญ่ของรัสเซียประกาศว่า ท่อลำเลียง Nord Stream 1 ซึ่งเป็นท่อขนส่งก๊าซขนาดใหญ่ที่สุดที่นำก๊าซจากรัสเซียไปยังยุโรป และมีลูกค้าอันดับหนึ่งคือเยอรมนี จะปิดใช้งานชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม – 3 กันยายน โดยยืนยันเหตุผลว่าเป็นการปิดเพื่อการซ่อมบำรุงอุปกรณ์

 

รายงานระบุว่า นับตั้งแต่เดือนมีนาคม หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครน รัสเซียได้ระงับการส่งก๊าซผ่านท่อให้แก่บัลแกเรีย ฟินแลนด์ และโปแลนด์เรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันก็ลดปริมาณการส่งก๊าซผ่านท่อให้กับประเทศอื่นๆ ด้วย

 

โดยในเดือนมิถุนายน รัสเซียได้ลดปริมาณการขนส่งก๊าซผ่านท่อ Nord Stream 1 เหลือ 40% ของปริมาณที่สามารถขนส่งได้ และลดลงเหลือ 20% ในเดือนกรกฎาคม โดยอ้างว่าเป็นเพราะมาตรการลงโทษจากชาติตะวันตกที่ทำให้ไม่สามารถติดตั้งอุปกรณ์บางอย่าง จนส่งผลต่อการดำเนินการซ่อมบำรุงให้ล่าช้า

 

นักวิเคราะห์แสดงความกังวลว่า หากการปิดท่อยืดเยื้อออกไป จะยิ่งทำให้ความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุโรปเพิ่มสูงขึ้น เพราะเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้ภาคพลังงานของภูมิภาคที่กำลังเผชิญกับปัญหาราคาก๊าซที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 400% เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว และทำให้วิกฤตขาดแคลนพลังงานในช่วงฤดูหนาวของยุโรปมีแนวโน้มทวีความเลวร้ายมากขึ้น รวมถึงทำให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้นอีก

 

ทีมนักเศรษฐศาสตร์จาก Oxford Economics กล่าวว่า เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจะกดดันอุปสงค์ ฉุดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยุโรป เป็นผลให้เศรษฐกิจยูโรโซนเข้าสู่ภาวะถดถอยในฤดูหนาวนี้

 

แนวโน้มทิศทางเงินเฟ้อและวิกฤตพลังงานส่งผลให้หลายฝ่ายสนับสนุนให้ ECB ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า 0.50% ในเดือนกันยายนนี้ แม้ว่าจะทำให้เศรษฐกิจของภูมิภาคต้องถดถอยก็ตาม

 

Bruno Le Maire รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฝรั่งเศส แสดงความเชื่อมั่นว่า ECB จะสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ภายใต้ความท้าทายที่ต้องปรับลดอัตราเงินเฟ้อทั่วทั้งภูมิภาคให้เป็นในทิศทางเดียวกัน

 

วันเดียวกัน ทำเนียบขาวสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ประเด็นหลักของการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ G7 ประกอบด้วย อังกฤษ, แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ (2 กันยายน) คือราคาพลังงาน ซึ่งรวมถึงการหารือเพื่อหาเพดานราคาน้ำมัน และพิจารณาทางเลือกพลังงานที่เหมาะสม ตลอดจนการหาทางสกัดเส้นทางขนส่งน้ำมันของรัสเซีย

 

แม้ว่ามาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของชาติตะวันตกและพันธมิตร เพื่อประท้วงกรณีรัสเซียใช้ปฏิบัติการทางการทหารกับยูเครน จะทำให้ปริมาณส่งออกน้ำมันของรัสเซียลดลงจนแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว แต่รายได้จากการส่งออกน้ำมันของรัสเซียเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 40% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว บวกกับประเทศผู้นำเข้าพลังงานรายใหญ่ของโลกอย่างจีน เพิ่มปริมาณการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย

 

ทั้งนี้ บรรดาผู้นำชาติตะวันตกได้เสนอว่า การจำกัดราคาน้ำมันจะส่งผลให้มีการจำกัดราคาที่โรงกลั่น และผู้ค้าสามารถจ่ายให้กับน้ำมันดิบของรัสเซียได้ นับเป็นความเคลื่อนไหวที่รัสเซียกล่าวว่าจะไม่ปฏิบัติตาม และจะเดินหน้าขัดขวางโดยการขนส่งน้ำมันไปยังประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมแผนกำหนดเพดานราคา

 

ด้านบรรดาผู้ค้าและนักวิเคราะห์ตลาดน้ำมันบางคนตั้งข้อสงสัยว่า การกำหนดเพดานราคาอาจจะใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากรัสเซียพบวิธีจัดส่งน้ำมันไปยังเอเชียโดยไม่ต้องอาศัยระบบการประกันระวางเรือของตะวันตก อีกทั้งยังสามารถหยุดการส่งออกน้ำมันบางส่วนได้ทั้งหมด ส่งผลให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นอีก

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising