×

ยุโรปเผชิญคลื่นความร้อนในฤดูหนาว หวั่นแล้งหนักซ้ำรอยปี 2022

โดย THE STANDARD TEAM
25.02.2023
  • LOADING...

คลื่นความร้อนในฤดูหนาว ปริมาณฝนที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ และหิมะไม่ตก กำลังส่งผลให้แม่น้ำ ลำคลอง และทะเลสาบทั่วทั้งทวีปยุโรปอยู่ในระดับต่ำจนน่าตกใจ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าอาจเกิดภัยแล้งรุนแรงซ้ำรอยปีที่แล้ว 

 

แม่น้ำและทะเลสาบที่เหือดแห้งเป็นภาพจำของฤดูร้อนอันแผดเผา ไม่ใช่ภาพที่ใครคิดว่าจะได้เห็นในฤดูหนาว แต่การเริ่มต้นปีนี้ด้วยอากาศที่อบอุ่นและแห้งแล้งผิดปกติกำลังส่งผลกระทบต่อพื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรป ซึ่งรวมถึงตอนกลางและตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ตอนเหนือของสเปน และตอนเหนือของอิตาลี

 

มีความกังวลว่าสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้จะส่งผลกระทบไปถึงแหล่งน้ำ

 

ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในเดือนมกราคมโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีกราซในออสเตรีย ซึ่งใช้ข้อมูลดาวเทียมเพื่อวิเคราะห์แหล่งน้ำใต้ดินของโลก ระบุว่า สถานการณ์น้ำในยุโรปกำลัง ‘ล่อแหลมอย่างยิ่ง’ 

 

ทอร์สเตน เมเยอร์-กูรร์ หนึ่งในนักวิจัย กล่าวว่า “เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผมไม่เคยคิดเลยว่าน้ำจะกลายเป็นปัญหาในยุโรป แต่เรากำลังจะประสบปัญหากับแหล่งน้ำจริงๆ เราต้องคิดถึงเรื่องนี้”

 

  • ฝรั่งเศสเผชิญภัยแล้งหนักสุดเป็นประวัติการณ์

 

ฝรั่งเศสกำลังประสบกับสภาพอากาศที่แห้งแล้งที่สุดในรอบกว่า 60 ปี จนอาจต้องงัดมาตรการจำกัดน้ำออกมาใช้ในเร็วๆ นี้

 

ไซมอน มิตเทลเบอร์เกอร์ นักภูมิอากาศวิทยาแห่งกรมอุตุนิยมวิทยาฝรั่งเศส (Météo-France) กล่าวกับ CNN ว่า ฝรั่งเศสไม่มีฝนตกติดต่อกัน 32 วันแล้ว ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคมถึง 21 กุมภาพันธ์ ซึ่งนานที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติในปี 1959 สถานการณ์เช่นนี้กำลังส่งผลกระทบต่อแม่น้ำและทะเลสาบ ตลอดจนสภาพดินของประเทศ

 

“ดินแห้งกว่าปกติมาก” มิตเทลเบอร์เกอร์กล่าว พร้อมเสริมว่า โดยปกติแล้วระดับความชื้นในดินของฝรั่งเศสจะไม่ปรากฏจนกว่าจะถึงกลางเดือนเมษายน

 

นอกจากปริมาณน้ำฝนแล้ว หิมะก็ตกน้อยลงเช่นกัน “สถานการณ์ในเทือกเขาพิเรนีสใกล้เคียงกับสถิติหิมะสะสมที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงเวลานั้นของปี” มิตเทลเบอร์เกอร์กล่าว เทือกเขาแอลป์มีหิมะตกน้อยกว่าปกติถึง 63% จากข้อมูลของ CIMA Research Foundation

 

การที่หิมะไม่ตกในฤดูหนาวอาจส่งผลกระทบกับแหล่งสำรองน้ำในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน เนื่องจากมีหิมะละลายหล่อเลี้ยงแม่น้ำน้อยลง

 

ฤดูร้อนที่แล้ว ฝรั่งเศสประสบปัญหาภัยแล้งครั้งเลวร้ายที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่มิตเทลเบอร์เกอร์เตือนว่า “ปีนี้สถานการณ์อาจเลวร้ายยิ่งกว่า หากฝนยังตกไม่มากในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า”

 

คริสตอฟ เบชู รัฐมนตรีกระทรวงการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยา ระบุว่า ภัยแล้งในฤดูหนาวนั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และฝรั่งเศสกำลังอยู่ในภาวะตื่นตัว

 

  • อิตาลีประสบปัญหาน้ำแล้ง ก้นทะเลสาบโผล่ คลองแห้งขอด

 

ในอิตาลี แหล่งน้ำบางแห่งของประเทศกำลังเหือดแห้ง ยกตัวอย่างเช่น ระดับน้ำในทะเลสาบการ์ดา (Lake Garda) ลดลงต่ำมากจนสามารถเดินข้ามไปยังเกาะที่อยู่ตรงกลางได้ ซึ่งไม่กี่เดือนที่ผ่านมาทางเดินนี้ยังไม่ปรากฏให้เห็น 

 

ขณะที่ในเวนิส การขึ้นแท็กซี่น้ำกำลังกลายเป็นปัญหา เนื่องจากคลองบางสายตื้นเกินไปจนทำให้เรือกอนโดลาไม่สามารถลอยอยู่ได้ ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะไม่มีฝนตก ทำให้เมืองที่กลัวน้ำท่วมมาตลอดกลับต้องมาต่อสู้กับปัญหาตรงกันข้าม

 

แม่น้ำโป (Po River) ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดของอิตาลี และคดเคี้ยวผ่านพื้นที่เกษตรกรรมทางตอนเหนือ มีน้ำน้อยกว่าปกติถึง 61% ในช่วงเวลานี้ของปี

 

ฤดูร้อนที่แล้ว รัฐบาลอิตาลีได้ประกาศภาวะฉุกเฉินสำหรับพื้นที่โดยรอบแม่น้ำโป ซึ่งประสบภัยแล้งหนักที่สุดในรอบ 70 ปี

 

จอร์โจ ซัมเปตติ ผู้จัดการทั่วไปของ Legambiente ซึ่งเป็นกลุ่มสิ่งแวดล้อมของอิตาลี เตือนว่าสิ่งที่เลวร้ายที่สุดอาจยังมาไม่ถึง “ปี 2023 เพิ่งเริ่มต้น แต่ก็เริ่มส่งสัญญาณน่าเป็นห่วงแล้วในแง่ของเหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรงและระดับภัยแล้ง” เขากล่าว

 

  • สเปนหวั่นแหล่งน้ำขาดแคลน

 

ในสเปน ซึ่งเผชิญกับปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปีที่แล้ว กำลังมีความกังวลเกี่ยวกับแหล่งน้ำ

 

“เราไม่สามารถรับประกันแหล่งน้ำสำหรับการจัดหาน้ำดื่มหรือเพื่อการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว” เทเรซา ริเบรา รัฐมนตรีกระทรวงการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยา กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้

 

รัฐบาลสเปนอนุมัติแผนการลงทุนราว 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งรวมถึงมาตรการปรับปรุงสุขาภิบาลน้ำ การบำบัดน้ำ และปรับปรุงระบบชลประทานให้ทันสมัย

 

ข้อมูลระบุว่า ปริมาณน้ำเฉลี่ยลดลง 12% ตั้งแต่ปี 1980 ขณะที่มีการคาดการณ์กันว่า อาจลดลงอีกถึง 40% ภายในปี 2050

 

สภาพอากาศที่แห้งแล้งในสเปนยังส่งผลกระทบกระเทือนไปถึงอาหารขึ้นชื่อราคาแพงของสเปนอย่างแฮมขาหมูดำ หรือฆามอน ไอเบริโก (Jamón Ibérico Bellota) อีกด้วย เนื่องจากปริมาณฝนตกน้อยและอุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อลูกโอ๊กที่เป็นอาหารของหมู

 

  • จับตาช่วงสัปดาห์ต่อจากนี้

 

แม้ก่อนหน้านี้ยุโรปมักประสบปัญหาภัยแล้งในช่วงฤดูร้อน แต่ผู้เชี่ยวชาญกลัวว่า สภาพอากาศแห้งแล้งผิดปกติในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาอาจเป็นสัญญาณของความเป็นจริงใหม่ (New Reality) ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่สูงขึ้น

 

อันเดรีย ตอเรติ นักภูมิอากาศวิทยาแห่งศูนย์วิจัยร่วมของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission’s Joint Research Centre) กล่าวกับ CNN ว่า “สภาพเหล่านี้เกิดขึ้นได้ยากในอดีต แต่ภาวะโลกรวนกำลังเปลี่ยนแปลงระบบน้ำฟ้า (Precipitation Regime) หรือวัฏจักรของน้ำทั่วยุโรป และทำให้สภาพอากาศสุดขั้วเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำและรุนแรงยิ่งขึ้น”

 

“มีความกังวลเพิ่มขึ้นเนื่องจากไม่มีฝนตกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านๆ มา และเมื่อพิจารณาถึงภัยแล้งในปี 2022 ร่วมด้วยแล้ว สัปดาห์ข้างหน้าจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง” ตอเรติกล่าว

 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:  

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X