×

ยุโรปส่งสัญญาณเตือนสงครามชิงน้ำ คาดฤดูร้อนปีนี้สาหัส เสี่ยงเผชิญแล้งรุนแรง

19.06.2023
  • LOADING...
ภัยแล้ง

สมาชิกสภานิติบัญญัติของยุโรปออกคำเตือนอย่างชัดเจนเกี่ยวกับวิกฤตการณ์น้ำที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค ซึ่งมีขึ้นก่อนฤดูร้อนที่คาดว่าจะรุนแรงอีกครั้งกำลังมาเยือน โดยทางสภาฯ กล่าวว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดการกับปัญหาต่างๆ เช่น ความขาดแคลน ความมั่นคงทางอาหาร และมลพิษ

 

ทั้งนี้ ในการประชุมใหญ่ของรัฐสภายุโรปในหัวข้อ ‘วิกฤตการณ์น้ำในยุโรป’ เมื่อวันพฤหัสบดี (15 มิถุนายน) สมาชิกสภานิติบัญญัติได้เรียกร้องให้มีการดำเนินการเพิ่มขึ้นเพื่ออนุรักษ์และปรับปรุงทรัพยากรน้ำ ซึ่งได้รับผลกระทบจากระดับน้ำใต้ดินที่ลดลงเป็นเวลาหลายปี ในขณะที่วิกฤตสภาพอากาศยังคงทวีความรุนแรงขึ้น ตัวอย่างเช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้นทุบสถิติตลอดฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา และคลื่นความร้อนในฤดูหนาวจนกระทบต่อแม่น้ำและลานสกีของภูมิภาค ขณะที่การขาดแคลนน้ำทำให้เกิดการประท้วงอย่างหนักในสเปนและฝรั่งเศส 

 

Kadri Simson กรรมาธิการด้านพลังงานของสหภาพยุโรปกล่าวว่า ภาพถ่ายจากดาวเทียม Copernicus เป็นหลักฐานยืนยันว่าหลายส่วนของสหภาพยุโรปต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างมาก โดยบางพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเนื่องจากภัยแล้ง ขณะที่บางพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม และอีกส่วนหนึ่งกำลังทุกข์ทรมานจากผลกระทบของมลพิษทางน้ำ

 

Simson ชี้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ และ EU มีกฎหมายที่เข้มงวดเพื่อปกป้องระบบน้ำที่ย้อนกลับไปในทศวรรษที่ 1970 แต่กฎหมายและวิธีการนำไปใช้กลับบรรลุผลไม่ได้มากตามที่คาดหวังไว้ ทำให้ EU มาถึงจุดที่ต้องใช้แนวทางอื่น เพื่อไม่ให้ EU กลายเป็นทวีปที่เรียนรู้คุณค่าของน้ำหลังจากที่บ่อน้ำแห้งเหือดไปแล้ว 

 

ทั้งนี้ การประชุมใหญ่จัดขึ้นที่เมืองสตราสบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส ไม่นานหลังจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรป (European Environment Agency) เตือนว่าภูมิภาคแห่งนี้กำลังเผชิญกับฤดูร้อนที่บ่อยขึ้นและเกิดภัยแล้ง น้ำท่วม คลื่นความร้อน ไฟป่า และโรคที่ไวต่อสภาพอากาศเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาพรวมแนวมโน้มด้านสภาพภูมิอากาศอยู่ในมุมมองแง่ร้าย (Pessimistic)

 

ผลการศึกษาของสำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรปยังพบว่า ขณะที่ 27 ประเทศใน EU และสมาชิกเขตเศรษฐกิจยุโรปมีนโยบายการปรับตัวของประเทศ แต่ทุกประเทศสามารถทำได้มากกว่านั้นเพื่อจำกัดผลกระทบด้านลบของสภาพอากาศที่รุนแรงในฤดูร้อนนี้ พร้อมแนะนำมาตรการบางส่วน เช่น การเพิ่มจำนวนต้นไม้และพื้นที่น้ำในเขตเมือง ซึ่งสามารถลดอุณหภูมิและลดความเสี่ยงของน้ำท่วม และการให้เกษตรกรปรับพันธุ์พืชและเปลี่ยนวันที่หว่าน เพื่อให้เข้ากับบริบทของสภาพอากาศ 

 

Christel Schaldemose สมาชิกสภานิติบัญญัติชาวเดนมาร์ก กล่าวว่า เรากำลังเห็นผลที่ตามมาของวิกฤตสภาพอากาศ และเราเห็นสิ่งนี้ชัดเจนกว่าที่เคยเป็นมา ยุโรปกำลังได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แม่น้ำเหือดแห้ง และการเกษตรอยู่ภายใต้แรงกดดัน ธรรมชาติกำลังทุกข์ทรมาน ขณะนี้ยุโรปกำลังเผชิญกับสงคราม เป็นสงครามแย่งชิงน้ำ และเราต้องทำทุกอย่างในอำนาจของเราเพื่อพยายามหยุดยั้งผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและดำเนินการตอบโต้อย่างแท้จริง โดยสิ่งสำคัญแรกสุดคือเราต้องเข้าใจวิธีการจัดการน้ำดื่มน้ำใช้ของเราเอง

 

ด้าน Sophie Trémolet ผู้อำนวยการด้านน้ำจืดของยุโรปสำหรับ The Nature Conservancy ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวกับ CNBC ว่า ฤดูร้อนที่จะมาถึงนี้อาจมีอุณหภูมิสูงกว่าสถิติของอุณหภูมิที่เคยคาดไว้เมื่อปีที่แล้ว โดยมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิด “ความเป็นปรปักษ์ระหว่างกันมากขึ้น” เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ

 

Trémolet ย้ำว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพียงคำถามของทรัพยากรที่เพียงพอเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคุณภาพของน้ำอย่างมลพิษและต้นทุนค่าใช้จ่ายเช่นกัน 

 

ก่อนหน้านี้ข้อมูลดาวเทียมที่วิเคราะห์โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยกราซของออสเตรียเมื่อต้นปีพบว่า ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อยุโรปในวงกว้างกว่าที่นักวิจัยคาดไว้ก่อนหน้านี้

 

ผลการศึกษาดังกล่าวเผยแพร่หลังจากนักวิจัยของสหภาพยุโรปพบว่า ยุโรปประสบกับฤดูร้อนที่ร้อนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมาเมื่อปีที่แล้ว โดยเป็นภัยแล้งที่รุนแรงซึ่งคิดว่าเลวร้ายที่สุดในภูมิภาคนี้ในรอบอย่างน้อย 500 ปี

 

Juan Ignacio Zoido Alvarez สมาชิกคณะกรรมการรัฐสภายุโรปด้านการเกษตรและการพัฒนาชนบท กล่าวว่า ยุโรปประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในทุกฤดูร้อนครั้งแล้วครั้งเล่า และดูเหมือนว่าจะยิ่งแย่ลงไปอีก ซึ่งฤดูร้อนปีนี้อาจเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด และในฐานะที่ทำหน้าที่รัฐมนตรีมหาดไทยของสเปน Alvarez ยังชี้ว่า ทรัพยากรน้ำของสเปนในปัจจุบันเหลือน้อยกว่า 50% ของความจุ

 

นอกจากนี้ Alvarez ยังชี้ว่า ปัญหาฝนทิ้งช่วงบวกกับอุณหภูมิที่ร้อนจัดเป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางอาหารของ EU และความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของเกษตรกรหลายล้านคน พร้อมเรียกร้องให้มีมาตรการสนับสนุนทางการเงินในระดับภูมิภาคเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ

 

ด้าน Salvatore De Meo สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกคนหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่ในคณะกรรมการการเกษตรและการพัฒนาชนบทเสริมว่า การทำฟาร์มเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่น่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากทรัพยากรน้ำที่ลดน้อยลง ทำให้การผลิตอาหารทำได้ยากขึ้น และความมั่นคงทางอาหารของ EU จะขึ้นอยู่กับวิธีการจัดการทรัพยากรน้ำ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X