ร่วมส่งชื่อของคุณออกเดินทางไกลกว่า 2,890 ล้านกิโลเมตรจากโลกไปยังดวงจันทร์ยูโรปา กับภารกิจ Europa Clipper ของ NASA ก่อนหมดกำหนดส่งชื่อภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2023 เพื่อให้ทันกำหนดออกเดินทางของยาน
ด้วยการเดินทางจากดาวแห่งมหาสมุทรสีครามแห่งหนึ่ง ลอยล่องท่ามกลางห้วงทะเลแห่งดวงดาวอันมืดมิดไปยังดาวแห่งมหาสมุทรใต้ผิวน้ำแข็งอีกดวงหนึ่งในระบบสุริยะ ทำให้ NASA ตั้งชื่อกิจกรรมส่งชื่อครั้งนี้ว่า ‘Message in a Bottle’ หรือข้อความในขวดน้ำ ที่บนโลกของเรานั้นคือการนำกระดาษข้อความใส่ไว้ในขวดที่ปิดฝา ก่อนส่งมันลอยล่องไปตามกระแสน้ำในมหาสมุทร
สามารถส่งชื่อร่วมกิจกรรมได้ทาง https://europa.nasa.gov/message-in-a-bottle/sign-on/ ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2023
สำหรับชื่อที่ถูกส่งผ่านกิจกรรมนี้จะได้รับการรวบรวมและบันทึกลงในไมโครชิปขนาดเท่ากับเหรียญ 10 เซนต์ ก่อนนำไปติดตั้งไว้บนยาน Europa Clipper เช่นเดียวกับบทกลอนที่ประพันธ์โดยกวีของรัฐบาลสหรัฐฯ และอุปกรณ์การสำรวจที่จะออกเดินทางไปขยายขอบเขตความเข้าใจที่มนุษย์มีเกี่ยวกับดวงจันทร์แห่งนี้
ยูโรปาเป็นหนึ่งในดวงจันทร์กาลิเลียนที่โคจรรอบดาวพฤหัสบดี มีขนาดเล็กกว่าดวงจันทร์ของโลกเล็กน้อย มีชั้นบรรยากาศเบาบางที่ประกอบด้วยออกซิเจนเป็นหลัก และนักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าใต้พื้นผิวของดวงจันทร์แห่งนี้อุดมไปด้วยมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ โดยอาจมีมวลน้ำมากกว่าบนโลกของเราเสียอีก ทำให้ดวงจันทร์แห่งนี้อาจมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ และเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่ยาน Europa Clipper จะเดินทางไปสำรวจ
“หากมีชีวิตบนดวงจันทร์ยูโรปา มันค่อนข้างแน่ชัดว่าชีวิตเหล่านี้อาจแตกต่างจากบนโลกของเราอย่างสิ้นเชิง และนั่นอาจหมายความว่าชีวิตสามารถดำรงอยู่ได้ทั่วไปในเอกภพแห่งนี้” คือความเห็นของ Robert Pappalardo หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ประจำภารกิจ Europa Clipper ที่ระบุถึงความพิเศษของดวงจันทร์ยูโรปา จากทั้งโอกาสในการพบมหาสมุทร องค์ประกอบทางเคมีที่เป็นพื้นฐานของชีวิต และรวมถึงการได้รับพลังงานจากดาวพฤหัสบดี
Europa Clipper จะออกเดินทางจากโลกในเดือนตุลาคม 2024 ก่อนใช้เวลาเดินทางนาน 6 ปี เพื่อเดินทางเข้าสู่วงโคจรรอบดาวพฤหัสบดี และใช้การบินผ่านดวงจันทร์ยูโรปา เพื่อสำรวจและส่งข้อมูลกลับโลกได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องกังวลถึงผลกระทบของรังสีจากพื้นที่ใกล้เคียงดวงจันทร์ยูโรปาที่อาจมีต่ออุปกรณ์ต่างๆ บนยาน ซึ่ง NASA กำหนดให้ยานสามารถทำงานได้อย่างน้อย 4 ปี หรือระหว่างปี 2030-2034 ที่จะมาถึงนี้
ภาพ: JPL.NASA.GOV
อ้างอิง: