×

มีอะไรอยู่บน ดวงจันทร์ยูโรปา? ทำไม NASA ถึงส่งภารกิจ Europa Clipper ไปสำรวจ

29.09.2024
  • LOADING...

ในวันที่ 10 ตุลาคมนี้ NASA เตรียมส่งยาน Europa Clipper ออกเดินทางไกลกว่า 2,900 ล้านกิโลเมตร และใช้ระยะเวลาในอวกาศลึกนานกว่า 5 ปีครึ่ง เพื่อออกสำรวจดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดีอย่างใกล้ชิด

 

Europa Clipper เป็นยานอวกาศลำใหญ่ที่สุดของ NASA ที่มีภารกิจมุ่งหน้าไปสำรวจวัตถุในระบบสุริยะ โดยมีความยาวถึง 30 เมตร เมื่อกางแผงโซลาร์เซลล์ออกระหว่างอยู่ในอวกาศ และใช้งบประมาณรวมตลอดทั้งภารกิจประมาณ 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 168,000 ล้านบาท

 

แต่ทำไม NASA ต้องส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ยูโรปา? ในเมื่อมีอีกหลายเป้าหมายในระบบสุริยะที่น่าสนใจไม่ต่างกัน อาทิ ดาวยูเรนัส ที่ไม่มียานอวกาศลำใดไปสำรวจในระยะใกล้เป็นเวลานานกว่า 38 ปีแล้ว หรือภารกิจไปสำรวจดาวพุธ ดาวเคราะห์ดวงในสุด ซึ่งในปัจจุบันมียานอวกาศเพียงแค่ลำเดียวที่เคยไปโคจรรอบได้สำเร็จ

 

แม้จะมีเป้าหมายมากมายในจักรวาลที่รอการสำรวจอยู่ แต่ดวงจันทร์ยูโรปาเป็นวัตถุที่นักดาราศาสตร์ให้ความสนใจมาอย่างยาวนาน เนื่องจากดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีดวงนี้ อาจมีสภาพที่เอื้อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบต่างๆ ที่ทำให้ชีวิตอาศัยอยู่บนโลก ซึ่งการค้นหาชีวิตนอกโลกนี้เป็นหนึ่งในเป้าหมายและภารกิจของ NASA เช่นกัน

 

แต่เพราะจักรวาลนั้นกว้างใหญ่ไพศาล และการเดินทางข้ามไปยังระบบดาวดวงอื่นด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันนั้นใช้เวลานานโขมาก ยกตัวอย่างยานอวกาศที่อยู่ไกลโลกสุดอย่าง Voyager 1 ออกจากโลกเมื่อ 47 ปีที่แล้ว และเดินทางไปได้เพียง 24,600 ล้านกิโลเมตร หรือประมาณ 22 ชั่วโมงแสงเท่านั้น ในขณะที่ดาวฤกษ์ใกล้โลกสุดอย่าง Proxima Centauri ที่มีดาวเคราะห์โคจรอยู่อย่างน้อยหนึ่งดวง อยู่ห่างไป 4 ปีแสงจากโลก

 

ด้วยเหตุเช่นนี้ การส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวที่อาจมีสภาพเหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตจึงถูกจำกัดไว้ในระบบสุริยะ ด้วยความสามารถในการเดินทางไปสำรวจได้ในช่วงเวลาไม่กี่ปี

 

แม้ว่าชีวิตต่างดาวอาจดำรงอยู่ หรือถูกพบในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากบนโลกได้โดยสิ้นเชิง แต่นักดาราศาสตร์ไม่สามารถใช้งบประมาณสร้างยานอวกาศเพื่อสุ่มสำรวจได้ พวกเขาจึงอ้างอิงองค์ประกอบสามอย่างที่ทำให้ชีวิตบนโลกดำรงอยู่ ได้แก่ แหล่งพลังงาน, องค์ประกอบทางเคมีที่เหมาะสม และอุณหภูมิที่พบน้ำในรูปของเหลว มาเป็นเกณฑ์พิจารณาเลือกดาวเป้าหมายในการสำรวจ

 

ดวงจันทร์ยูโรปาเป็นดวงจันทร์ที่มีขนาดเล็กกว่าดวงจันทร์ของโลกเล็กน้อย แต่นักดาราศาสตร์ค่อนข้างมั่นใจว่าใต้เปลือกน้ำแข็งที่ห้อมล้อมรอบดาว มีมหาสมุทรลึกมากกว่า 100 กิโลเมตร และมีมวลน้ำมากกว่ามหาสมุทรบนโลกถึง 2 เท่าซ่อนอยู่ พร้อมกับอาจมีสารประกอบอินทรีย์ แหล่งพลังงานจากใต้พื้นผิว เช่นเดียวกับพลังงานจากรังสีของดาวพฤหัสบดีที่เข้มข้น ซึ่งแม้จะเป็นผลเสียต่อชีวิตเหนือเปลือกน้ำแข็ง แต่อาจเป็นแหล่งพลังงานสำคัญให้กับชีวิตต่างๆ ใต้เปลือกน้ำแข็งของยูโรปาได้

 

นั่นจึงทำให้ดวงจันทร์ยูโรปาเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับดวงจันทร์เอนเซลาดัส และดวงจันทร์ไททันของดาวเสาร์ ที่อาจได้รับภารกิจสำรวจโดยเฉพาะเพิ่มเติมในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม ภารกิจของ Europa Clipper ไม่ใช่การหาคำตอบว่าดวงจันทร์ยูโรปานั้นมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่หรือไม่ และไม่มีอุปกรณ์เพื่อตามหา ‘เอเลี่ยน’ บนดวงจันทร์แห่งนี้โดยตรง แต่เป็นการสำรวจดูว่าดวงจันทร์แห่งนี้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะให้ชีวิตดำรงอยู่หรือไม่ ด้วยเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์หลักๆ 3 อย่าง ได้แก่

 

  • ศึกษาลักษณะและคุณสมบัติของเปลือกน้ำแข็ง ยืนยันการมีอยู่ของมหาสมุทรใต้พื้นผิว และเก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมของผืนน้ำเบื้องล่าง

 

  • ศึกษาคุณสมบัติของดวงจันทร์ยูโรปา ตรวจดูองค์ประกอบทางเคมี สารประกอบอินทรีย์ และสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทรแห่งนี้

 

  • ทำแผนที่อย่างละเอียด และศึกษาลักษณะทางธรณีวิทยาของดาวอย่างใกล้ชิด ลักษณะเด่นบนพื้นผิว ตามหาไอน้ำที่อาจพวยพุ่งจากใต้ผิวดาว และบริเวณที่น่าสนใจสำหรับการศึกษาเพิ่มเติม

 

หากภารกิจดังกล่าวประสบความสำเร็จ ข้อมูลจากยาน Europa Clipper จะช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจด้านชีวดาราศาสตร์มากขึ้นเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการได้ศึกษาดาวที่อาจมีสภาพเหมาะสมให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ ที่อาจทำให้เราได้ทราบว่าชีวิตนั้นมีอยู่ได้โดยทั่วไปหรือไม่ สภาพแวดล้อมแบบไหนที่เอื้อให้สิ่งมีชีวิตอยู่อาศัยได้ และโลกของเราพิเศษกว่าดาวดวงอื่น หรือเป็นเพียงจุดเล็กๆ ในห้วงอวกาศอันกว้างใหญ่ที่ไม่ได้โดดเด่นไปกว่าดาวดวงไหนเลย

 

และในไม่ช้า เราอาจได้รู้แล้วว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในดวงจันทร์แห่งนี้ เพียงช่วงเวลาประมาณ 430 ปี หลังจากปรากฏโฉมให้มนุษยชาติได้เห็นเป็นครั้งแรก เมื่อครั้ง กาลิเลโอ กาลิเลอี ส่องกล้องโทรทรรศน์ของเขาขึ้นไปมองดาวพฤหัสบดีเมื่อวันที่ 8 มกราคม ปี 1610

 

ติดตามบทความเจาะลึกการเดินทางของยาน Europa Clipper จากดาวแห่งน้ำสีคราม สู่ดาวแห่งน้ำใต้เปลือกน้ำแข็ง ได้ทาง THE STANDARD เร็วๆ นี้

 

ภาพ: NASA / JPL-Caltech

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising