วานนี้ (21 มิถุนายน) เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้ออกมาแสดงความกังวลว่า การที่หลายประเทศในสหภาพยุโรปหวนกลับมาใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าอีกครั้ง อาจเป็นหนทางที่พาชาติ ‘ถอยหลัง’
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ประกาศเตรียมผ่อนคลายข้อจำกัดให้กับโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เนื่องจาก Gazprom บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย ได้ลดปริมาณการจ่ายก๊าซผ่านท่อส่ง Nord Stream 1 ลงถึง 60% เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายประเทศต้องหันมาพึ่งพาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อเป็นแหล่งพลังงานทดแทนส่วนที่สูญเสียไปจากกลยุทธ์ตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของรัสเซีย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สิ่งที่เกิดขึ้นนับว่าเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ขัดขวางเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 ของ EU
“เราควรพลิกวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า และไม่จำเป็นต้องถอยหลังกลับไปเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สกปรก” ฟอน เดอร์ เลเยน เปิดเผยกับสื่อมวลชนวานนี้ พร้อมเรียกร้องให้ชาติอื่นๆ ทำตามเยอรมนีที่ขอให้ประชาชนช่วยกันประหยัดพลังงานอีกทางหนึ่ง
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างความกังวลให้กับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน โดย นีล มาคารอฟฟ์ (Neil Makaroff) จากองค์กร Climate Action Network กล่าวว่า การที่นานาประเทศหวนกลับไปใช้ถ่านหินถือเป็น ‘ทางเลือกที่เลวร้าย’ ซึ่งจะสร้างผลกระทบอื่นๆ ตามมา โดยเขาแนะนำว่า แทนที่จะกลับไปใช้พลังงานฟอสซิล ประเทศที่ร่ำรวยในสหภาพยุโรปควรทุ่มการลงทุนไปที่พลังงานหมุนเวียน หรืออาจนำเข้าก๊าซ LNG จากแหล่งอื่นมาทดแทน เช่น สหรัฐฯ หรือกาตาร์
ด้านกลุ่ม Carbon Market Watch ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในทิศทางเดียวกัน โดยระบุว่า การกลับไปใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นน่าห่วง และหวังว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นเพียงภาวะชั่วคราวสั้นๆ เท่านั้น
แฟ้มภาพ: Thierry Monasse / Getty Images
อ้างอิง: