สหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่เมื่อวานนี้ (20 กุมภาพันธ์) โดยมีมติอายัดทรัพย์สินและห้ามผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมาจำนวน 16 รายชื่อ เดินทางเข้าประเทศสมาชิกในยุโรป หลังเหตุการณ์รัฐประหารโดยกองทัพเมียนมาผ่านมานานกว่า 2 ปี
โดยในรายชื่อดังกล่าวของ EU มีรายชื่อของ เมียว มะหยิ่น โอ รัฐมนตรีพลังงานของเมียนมา, นายพล หม่อง หม่อง เอ หัวหน้ากองกำลังติดอาวุธของกองทัพเมียนมา รวมถึงพลเรือเอก โม อ่อง ผู้บัญชาการกองทัพเรือ และบรรดาหัวหน้าองค์กรต่างๆ ที่รับจัดหาอาวุธให้กับกองเมียนมาก็ถูกประกาศแบนและอายัดทรัพย์สินในครั้งนี้ด้วย
นอกจากนี้ นายพลโก โก หม่อง ผู้บัญชาการกองทัพในรัฐกะฉิ่น และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง จากเหตุการณ์โจมตีทางอากาศ การสังหารหมู่ การใช้กำลังความรุนแรง และการลอบวางเพลิงต่อกลุ่มผู้เห็นต่างในรัฐกะฉิ่น รวมถึงพันโท เมียว มะหยิ่น ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งตุลาการศาลทหารเมียนมา และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินโทษประหารชีวิตแก่บรรดานักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตย เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2022 ก็มีรายชื่ออยู่ในลิสต์ดังกล่าวนี้เช่นกัน
โดย EU ระบุว่า บุคคลและหน่วยงานเหล่านี้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อรัฐประหาร ตลอดจนเป็นผู้ใช้ความรุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนชาวเมียนมาอย่างร้ายแรงควรถูกลงโทษ นอกจากนี้ EU ยังประณามเหตุล่วงละเมิดทางเพศ การประหัตประหารบุคลากรในภาคประชาสังคม นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน และพลเรือนชาวเมียนมา ตลอดจนการโจมตีทางอากาศใส่พื้นที่ทางการศึกษาและสถานพยาบาล ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ และเกิดบ่อยครั้งขึ้น นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาตัดสินใจก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อช่วงต้นปี 2021
EU ยังได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยกระดับมาตรการป้องกันระหว่างประเทศ เพื่อยุติการซื้อขายอาวุธกับกองทัพเมียนมา เพื่อเป็นการตัดช่องทางและลดโอกาสในการนำอาวุธเหล่านั้นมาใช้ประหัตประหารชีวิตประชาชนภายในประเทศ
ขณะที่แอนนา โรเบิร์ต ผู้อำนวยการกลุ่ม Burma Campaign UK เผยว่า มาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ของ EU ถือว่าตรงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อที่จะจำกัดโอกาสการโจมตีทางอากาศและการจัดหาอาวุธของกองทัพเมียนมา แต่ดูเหมือนว่าการผลักดันและบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวนี้อาจล่าช้าเกินไป เพราะความล่าช้าในการตัดช่องทางรายได้และช่องทางสะสมอาวุธต่างๆ ของกองทัพเมียนมา อาจหมายถึงชีวิตของผู้คนจำนวนมากที่ต้องดับสูญไป และตลอด 2 ปีที่ผ่านมายังมีบุคคลและหน่วยงานอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับโทษจากการทำความผิดของพวกเขา
ภาพ: STR / AFP
อ้างอิง: