×

เปิดสาเหตุที่ทำให้ ‘หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์’ สร้างความปั่นป่วนแก่ตลาดตราสารหนี้ในขณะนี้

11.11.2022
  • LOADING...

หลายคนน่าจะเคยได้ยินหรือได้เห็นคำว่า ‘หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์’ ผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง หากจะให้สรุปสั้นๆ ถึงนิยามของหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ในทางทฤษฎี คือหุ้นกู้ที่ผู้กู้สามารถเลือกที่จะไม่จ่ายคืนเงินกู้นี้ได้ตลอดไป ซึ่งหมายความว่าหุ้นกู้ชนิดนี้จะไม่ได้ถูกกำหนดวันครบกำหนดชำระคืนเงินต้น หรืออาจจะเป็นการกำหนดในระยะเวลาที่ยาวมาก เช่น 50 ปี 

 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว แม้ว่าหุ้นกู้เหล่านี้จะจ่ายดอกเบี้ยระหว่างทาง นักลงทุนมักจะคาดหวังว่าบริษัทที่ขอกู้เหล่านี้จะตัดสินใจชำระคืนเงินต้นภายในเวลาไม่กี่ปี เนื่องจากหุ้นกู้เหล่านี้มักจะมีสิ่งที่เรียกว่า Call Option Date หรือวันที่กำหนดว่าผู้กู้จะสามารถใช้สิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนด 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ส่วนมากแล้วนักลงทุนที่ตัดสินใจลงทุนในหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์เป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไป ซึ่งทำให้หุ้นกู้เหล่านี้มีลักษณะคล้ายกับเงินปันผลของหุ้นสามัญ

 

ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา นับแต่วิกฤตการเงินปี 2008 โลกเข้าสู่ยุคอัตราดอกเบี้ยต่ำมาโดยตลอด ทำให้ผู้กู้หรือบริษัทต่างๆ ที่ออกหุ้นกู้มักจะใช้สิทธิ Call Option เพื่อไถ่ถอนก่อนกำหนดอยู่เสมอ ซึ่งจะทำให้ผู้กู้มีโอกาสที่จะเสาะหาต้นทุนการเงินที่ต่ำลง 

 

แม้ธรรมชาติของหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์อาจจะไม่ได้ลากยาวอย่างไม่มีจุดจบอย่างที่คิด แต่ในช่วงเวลาปกติแล้ว หุ้นกู้ชนิดนี้ก็ไม่ได้มีความเสี่ยงมากนัก อย่างไรก็ตาม หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์มี 2 องค์ประกอบสำคัญที่อาจทำให้นักลงทุนต้องเผชิญกับการขาดทุนอย่างหนัก 

 

  1. ราคาของหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ค่อนข้างที่จะอ่อนไหวไปกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย มากกว่าหุ้นกู้ที่มีกรอบระยะเวลาสั้นกว่า การที่อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกเป็นขาขึ้น ทำให้หุ้นกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำในตลาดมีมูลค่าต่ำลง และยิ่งเป็นหุ้นกู้ที่มีอายุนับ 10 ปี ก็จะยิ่งได้รับผลกระทบหนักขึ้น 

 

  1. หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์เป็นตราสารหนี้ประเภทด้อยสิทธิ นั่นหมายความว่า หากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้น ผู้ที่ถือตราสารหนี้ประเภทไม่ด้อยสิทธิ เช่น หุ้นกู้เอกชน หรือเงินกู้ธนาคาร จะได้รับการคืนหนี้ก่อน 

 

ดอกเบี้ยที่กลับมาเป็นขาขึ้นในปีนี้ ส่งผลให้ต้นทุนในการออกหุ้นกู้ใหม่แพงขึ้น และทำให้บริษัทต่างๆ ตัดสินใจที่จะชะลอการซื้อคืนหนี้ของตัวเอง อย่างกรณีของบริษัทประกันชีวิตในเกาหลีใต้ที่ยืดระยะเวลาการซื้อคืนหุ้นกู้ของบริษัทออกไป 

 

และแม้แต่หน่วยงานกำกับของออสเตรเลียก็ออกมาเตือนบริษัทต่างๆ ที่ออกหุ้นกู้ว่า ยังไม่ควรจะใช้สิทธิไถ่ถอนเร็วเกินไป หากบริษัทจำเป็นจะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นเพื่อออกหุ้นกู้ใหม่ 

 

ในมุมของนักลงทุนย่อมไม่ชอบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะไม่มีใครที่ไม่อยากจะได้รับเงินเร็วกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณสามารถนำเงินเหล่านั้นไปลงทุนในสิ่งที่ได้ดอกเบี้ยสูงกว่า 

 

ท่ามกลางบริบทของตลาดตราสารหนี้ที่ดิ่งลงทั่วโลก ทำให้นักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่น เพราะคาดว่าบริษัทต่างๆ จะใช้สิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนดน้อยลง และส่งผลให้ต้นทุนในการออกหุ้นกู้ใหม่ยิ่งสูงขึ้นไปอีก 

 

สำหรับบริษัทที่สามารถใช้สิทธิ Call Option ได้อย่างที่นักลงทุนคาดหวัง อาจจะสามารถออกหุ้นกู้ใหม่ด้วยต้นทุนการเงินที่ต่ำกว่าตลาด แต่สำหรับบริษัทที่ไม่สามารถทำได้ หากจำเป็นต้องออกหุ้นกู้ใหม่จะต้องให้ดอกเบี้ยสูงเพื่อดึงดูดนักลงทุน 

 

ทั้งนี้ หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ที่ออกโดยบริษัทในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และมีสิทธิ Call Option ซึ่งสามารถใช้สิทธิภายในสิ้นปีนี้ มีมูลค่ารวมกันอย่างน้อย 3.7 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 1.4 แสนล้านบาท 

 

ในอีกด้านหนึ่ง การที่ตลาดตราสารหนี้ถูกเทขายออกมาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีนี้ ทำให้กองทุน Hedge Fund ขนาดใหญ่หลายแห่งตัดสินใจที่จะเข้ามาเลือกซื้อหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ราคาปรับลดลงมาก โดยเฉพาะหุ้นกู้ชั้นขยะ (Junk Bond) 

 

กองทุนอย่าง Third Point ภายใต้การนำของ Daniel Loeb กองทุน Elliott Management ของ Paul Singer และกองทุน CQS ของ Sir Michael Hintze ราคาของตราสารหนี้ที่ลดลงมานี้รุนแรงมากเกินกว่าความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ ทำให้พวกเขาเริ่มที่จะเข้าไปช้อนซื้อบ้างแล้ว 

 

“เรามองเห็นโอกาสในขณะนี้จากหุ้นกู้ยีลด์สูง แต่ก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะเห็นการฟื้นตัวทันที สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นโอกาสที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับตราสารหนี้นับแต่วิกฤตโควิด” Loeb กล่าว 

 

อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ชั้นขยะเพิ่มขึ้นจาก 2.8% เมื่อต้นปี 2022 เป็น 7.8% ในขณะนี้ อิงจากข้อมูลของ ICE Data Services 

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก J.P. Morgan ระบุว่า กองทุนในยุโรปที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ประเภทดอกเบี้ยสูง เผชิญกับผลขาดทุนถึง 1.27 หมื่นล้านยูโร คิดเป็นประมาณ 15% ของสินทรัพย์ทั้งหมดของแต่ละกองทุนรวมกัน ส่วนกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นกู้ระดับ Investment-Grade ขาดทุนไป 2.52 หมื่นล้านยูโร

 

ในมุมของ Lee Robinson ผู้บริหารกองทุน Altana Wealth มองว่า หุ้นกู้กลับมาแล้ว จากโอกาสที่น่าสนใจจำนวนมาก ซึ่งก็รวมถึงหุ้นกู้ของบริษัทอย่าง Carnival Corp และ Jaguar Land Rover 

 

ด้าน Tatjana Greil-Castro หัวหน้าฝ่ายตลาดหุ้นของ Muzinich & Co. มองว่า ตลาดตราสารหนี้ของยุโรปได้รับรู้ความเสี่ยงที่หุ้นกู้มีโอกาสจะผิดนัดชำระหนี้ราว 40% ในช่วง 5 ปีข้างหน้าไปทั้งหมดแล้ว 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising