วานนี้ (20 มิถุนายน) รัฐสภาเอสโตเนียมีมติผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เตรียมอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยมติเห็นชอบ 55 ต่อ 34 เสียง จากทั้งหมด 101 เสียง ส่งผลให้เอสโตเนียกลายเป็นประเทศแรกในแถบยุโรปกลางที่ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว โดยจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2024
ทางด้าน คาจา คัลลัส นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเอสโตเนีย เผยว่า เธอรู้สึกภาคภูมิใจในเอสโตเนียเป็นอย่างมาก หลังจากที่เธอรักษาคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่า เธอจะผลักดันให้เอสโตเนียเป็นหนึ่งในประเทศที่โอบรับทุกความแตกต่างหลากหลายทางเพศ และผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
คัลลัสระบุว่า “มติการตัดสินใจในครั้งนี้ไม่ได้พรากอะไรไปจากใคร แต่ได้ให้สิ่งสำคัญกับผู้คนจำนวนมาก ทุกคนควรมีสิทธิที่จะแต่งงานกับคนที่รักและต้องการที่จะผูกพันกัน (ด้วยกฎหมาย)”
โดยหลายประเทศในแถบยุโรปตะวันตกต่างประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ ในขณะที่ประเทศแถบยุโรปกลาง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์และเป็นพันธมิตรของสนธิสัญญาวอร์ซอ ยังไม่เคยประกาศใช้กฎหมายในลักษณะดังกล่าวเลย แม้ในเอสโตเนียจะมีความพยายามในการผลักดันกฎหมายคู่ชีวิตมาตั้งแต่ปี 2014 แต่ตัวกฎหมายก็ยังมีช่องโหว่อยู่มากพอสมควร อีกทั้งรัฐสภาในช่วงเวลานั้นก็ไม่ได้ส่งเสริมสิทธิของคู่รัก LGBTQIA+ มากเท่าที่ควร
ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดของประชาชนในเอสโตเนีย ปี 2023 โดยศูนย์ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งหนึ่ง ชี้ว่า 53% ของประชากรในเอสโตเนียสนับสนุนสมรสเท่าเทียม ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากราว 34% จากเมื่อช่วง 10 ปีก่อน แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีประชากรในเอสโตเนียอีกราว 38% ที่ยังคงมองว่าการสมรสเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยเชื้อสายรัสเซียที่อาศัยอยู่ในประเทศแถบทะเลบอลติกแห่งนี้
ขณะที่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในประเทศเพื่อนบ้านอย่างลัตเวียและลิทัวเนีย ซึ่งครั้งหนึ่งก็เคยถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ยังคงติดค้างอยู่ในสภาและไม่ได้รับการผลักดันอย่างจริงจังเท่าที่ควร
โดยเมื่อช่วงต้นปี 2023 ประเทศเล็กๆ ในยุโรปอย่างอันดอร์รา ได้ประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้อันดอร์รากลายเป็นประเทศที่ 34 ที่ประกาศใช้กฎหมายนี้ ก่อนที่เอสโตเนียจะกลายเป็นประเทศที่ 35 ในช่วงต้นปี 2024 ที่จะถึงนี้ นับเป็นความสำเร็จอีกขั้นของชุมชน LGBTQIA+ ในประชาคมโลก
ภาพ: Postimees / Scanpix Baltics via Reuters Connect
อ้างอิง: